svasdssvasds

DSI ส่งหนังสือด่วนถึง มท.-ตำรวจ สอบทุจริตเลือกตั้ง สว. 150 คน

DSI ส่งหนังสือด่วนถึง มท.-ตำรวจ สอบทุจริตเลือกตั้ง สว. 150 คน

DSI ส่งหนังสือด่วนขอความร่วมมือ มหาดไทย-ตำรวจ สอบทุจริตเลือกตั้ง สว. ตั้งเป้าแจ้งข้อกล่าวหา 150 คน พ่วงข้อหา “ฟอกเงิน” และ “อั้งยี่” ทยอยออกหมายเรียกสิ้นเดือน พ.ค.นี้

พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ลงนามในหนังสือราชการ “ด่วนที่สุด” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 สองฉบับ พร้อมตราครุฑจ่าหน้าถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือในปฏิบัติการตรวจสอบกรณีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญในประเด็นเดียวกัน คือการประสานกำลัง “ฝ่ายปกครอง” และ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ในการส่งหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยซึ่งมีจำนวนกว่า 150 ราย

ในหนังสือราชการระบุข้อความสำคัญว่า ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้องเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568

กรมสอบสวนคดีพิเศษขอเรียนมายังท่านว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีภารกิจที่ต้องดำเนินการ สืบสวนสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษข้างต้นทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการประสาน การปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวน คดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 และมาตรา 22/1 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอรับการสนับสนุน และขอให้ ท่านให้ความช่วยเหลือต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในการดำเนินคดีพิเศษ ทั้งนี้ขอให้ท่านแจ้ง อธิบดีกรม การปกครอง และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินการตามที่ได้รับการประสานงานต่อไป

DSI ส่งหนังสือด่วนถึง มท.-ตำรวจ สอบทุจริตเลือกตั้ง สว. 150 คน

ทั้งนี้รายงานข่าวจาก “เนชั่นทีวี” ระบุว่า แหล่งข่าวใน กกต. และ DSI ระบุว่า แจ้งข้อกล่าวหาไปยัง สว. ล็อตแรก 53 คน และล็อตต่อๆ ไปในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า รวมประมาณ 150 คนนั้น จะมีทั้ง สว. ผู้สมัคร สว. และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองบางพรรค

สำหรับกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นการทำงานร่วมกันของ กกต. ดีเอสไอ และ ปปง. โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกับ ปปง.ที่ไปร่วมในคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีสถานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ตามที่ กกต.แต่งตั้ง และการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการใช้อำนาจของ กกต. ตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่อง “การทับซ้อนของอำนาจการสอบสวน” ระหว่างสององค์กร คือ กกต.กับดีเอสไอ ตามที่มีบางฝ่ายกังวล

การแจ้งข้อกล่าวหาเป็นหนังสือที่ออกโดย กกต. จะดำเนินการไปจนครบ 150 คน คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า จากนั้นทางฝั่งดีเอสไอ จะทยอยออกหมายเรียก สว. และผู้เกี่ยวข้อง เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ฟอกเงิน” ซึ่งเป็นคดีพิเศษตามอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ ในลำดับต่อไปทันที คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนพฤษภาคมจะทยอยออกหมายเรียกได้ เพราะถือว่ากระบวนการเลือก สว.  เชื่อได้ว่าเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีมูลความผิดฐานฟอกเงิน

แหล่งข่าวระดับสูงจากดีเอสไอ เผยกับ "เนชั่นทีวี" ว่า การแจ้งข้อหาฟอกเงิน อาจพ่วงข้อหา “อั้งยี่” เข้าไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากพฤติการณ์ของการกระทำความผิด มีลักษณะเป็น “คณะบุคคลที่มีการตระเตรียมการเพื่อกระทำผิดกฎหมาย”

สำหรับความผิดฐานอั้งยี่ บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

 ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

ที่มา : thansettakij 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related