svasdssvasds

ทำความรู้จัก "กล้าธรรม" พรรคเนื้อหอม ดึง(ดูด) สส. เข้าก๊วน

ทำความรู้จัก "กล้าธรรม" พรรคเนื้อหอม ดึง(ดูด) สส. เข้าก๊วน

ทำความรู้จัก "พรรคกล้าธรรม" พรรคการเมืองไทย ที่ปัจจุบันนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เป็นสังกัดของ "กลุ่มธรรมนัส" ในปัจจุบัน

พรรคกล้าธรรม ชื่อย่อ กธ. เป็นพรรคการเมืองไทย ปัจจุบันนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค ไผ่ ลิกค์ เป็นเลขาธิการพรรค รวมถึงเป็นสังกัดของกลุ่มธรรมนัสในปัจจุบันโดยชื่อเดิมคือ พรรคเศรษฐกิจไทย ต่อมา ได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคโดยเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคกล้าธรรม เปลี่ยนตราสัญลักษณ์พรรค นโยบายพรรคคำขวัญและอุดมการณ์พรรค

พรรคกล้าธรรมจัดประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากนายเชวงศักดิ์ ใจคำ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกล้าธรรม เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม จึงทำให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยผลการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคกล้าธรรมคนใหม่ ปรากฏว่า

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยได้รับคัดเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ส่วนเลขาธิการพรรคยังคงเป็นนายสัจจวิทย์ ลีลาวณิชย์

ที่ทำการพรรคกล้าธรรมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2567 โดยจะใช้อาคารปานศรี ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของพรรคเศรษฐกิจไทยยุคของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นที่ทำการพรรคอย่างเป็นทางการ และในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคกล้าธรรมจะไปทุกภาค แต่จะเน้นพิเศษในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ และจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มี อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบพื้นที่

ทั้งนี้ พรรคกล้าธรรมจะไม่มีการเข้าไปร่วมในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยตรง แต่ยังมีการสนับสนุนสมาชิกพรรคกันอยู่

การย้ายเข้ามาของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส

ย้อนกลับไปในวันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 พรรคเศรษฐกิจไทยได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา และอดีตเลขาธิการ พรรคพลังประชารัฐ พร้อม ส.ส. ในกลุ่มอีก 20 คนได้เตรียมย้ายเข้ามาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีกระแสข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจนว่าปรากฏชื่อของ พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค นายอภิชัย เตชะอุบล สส. บัญชีรายชื่อ และอดีตเหรัญญิก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการพรรค และพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นที่ปรึกษาพรรค

จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565 นาย ไผ่ ลิกค์ ส.ส. กำแพงเพชร เขต 1 ซึ่งโดนขับออกจาก พรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับ ร้อยเอกธรรมนัส ได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่า กลุ่ม ส.ส. ทั้ง 21 คนจะย้ายเข้าไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเพราะแนวทางเข้ากันได้

พรรคเศรษฐกิจไทยได้แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฏรว่า ได้ทำการรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 18 คน เข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย จากนั้นในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส.ส. ในสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยก็ได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก

จากนั้นในวันที่ 18 ส.ค. 2567 หลังจากที่ร้อยเอกธรรมนัสประกาศแยกทางเดินกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จากกรณีที่ไม่มีชื่อของร้อยเอกธรรมนัสในโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็มีกระแสข่าวว่าร้อยเอกธรรมนัสเตรียมนำ ส.ส. ในสังกัดของตนเองออกจากพรรคพลังประชารัฐมาสังกัดพรรคกล้าธรรม

สส. พรรคเล็กและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงย้ายเข้า "กล้าธรรม"

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคใหม่ ถูกขับออกจากพรรค และในวันถัดมา นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ก็ถูกขับออกพรรค ต่อมาทั้งสองได้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรม

วันที่ 15 ต.ค. 2567 บัญชา เดชเจริญศิริกุล สส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคท้องที่ไทย ได้ย้ายมาสังกัดพรรคกล้าธรรมทำให้ทางพรรคมี ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 3 คน จากนั้นอีก 6 วันต่อมา ปรีดา บุญเพลิง สส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งถูกขับออกจากพรรคได้ย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรม ทำให้พรรคมี สส. ในสภาทั้งสิ้น 4 คน

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติขับร้อยเอกธรรมนัส พร้อม สส. ในกลุ่มธรรมนัส รวมจำนวน 20 คน ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยให้เหตุผลว่ามีแนวความคิดและอุดมการณ์ที่ต่างกัน ก่อนมีมติขับออกจากพรรคอย่างสมบูรณ์โดยที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารและ สส.

จากนั้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นฤมลได้เปิดเผยว่า ร้อยเอกธรมนัส และ สส. ในกลุ่มธรรมนัส จะย้ายมาสังกัดพรรคกล้าธรรม โดยจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายในปี พ.ศ. 2568 เนื่องจากต้องใช้เวลาเตรียมการ

จากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 พรรคกล้าธรรมได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 1/2568 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เนื่องจากมีกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมจำนวน 7 คนจากทั้งหมด 11 คนลาออกทำให้กรรมการบริหารพรรคเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยในช่วงแรกมีทั้งหมด 25 คน[36] ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 32 คน โดยที่ประชุมมีมติเลือกนฤมลเป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่ 2 ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของไผ่ ลิกค์ ร้อยเอกธรรมนัสเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

เปิดรายชื่อกรรมการบริหาร "พรรคกล้าธรรม" (3 ก.พ. 68-ปัจจุบัน)

  • นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ : หัวหน้าพรรค
  • ไผ่ ลิกค์ : เลขาธิการพรรค
  • บุญยิ่ง นิติกาญจนา : เหรัญญิกพรรค
  • อรรถกร ศิริลัทธยากร : นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  • กฤดิทัช แสงธนโยธิน : รองหัวหน้าพรรค
  • ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์
  • นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ
  • บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์
  • รัชนี พลซื่อ
  • สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ
  • อัครแสนคีรี โล่ห์วีระโฆษกพรรค
  • จตุพร กมลพันธ์ทิพย์กรรมการบริหารพรรค
  • จำลอง ภูนวนทา
  • จีรเดช ศรีวิราช
  • เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ
  • ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว
  • บัญชา เดชเจริญศิริกุล
  • ปกรณ์ จีนาคำ
  • ปรีดา บุญเพลิง
  • เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์
  • ภาคภูมิ บูลย์ประมุข
  • สะถิระ เผือกประพันธุ์
  • องอาจ วงษ์ประยูร
  • อนุรัตน์ ตันบรรจง
  • อามินทร์ มะยูโซ๊ะ
  • สุชาติ อุสาหะ
  • อนุกูล พฤกษานุศักดิ์
  • ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ
  • อนงค์นาจ จ่าแก้ว
  • พรชัย อินทรสุข
  • ทัศนาพร เกษเมธีการุณ
  • ธนวรรณ เกษเมธีการุณ
related