"ไอซ์ รักชนก" ร่ายยาว ‘งบกระทรวงเกษตรฯ’ ยกเคสจังหวัดพื้นที่การเกษตรฯ มาก แต่ได้งบไม่ได้สัดส่วน เมื่อเทียบจังหวัด สส. "กล้าธรรม" ฝั่ง“อัครแสนคีรี” ยัน ทุกโครงการโปร่งใส ตรวจสอบได้
จากกรณีที่นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน เปิดประเด็น "งบกระทรวงเกษตรฯ" ยกเคสจังหวัดพื้นที่การเกษตรฯ มาก แต่ได้งบไม่ได้สัดส่วน เมื่อเทียบจังหวัด สส. "กล้าธรรม" โดยระบุว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะประมาณ 29% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งตั้งคำถามกันมาตลอดว่า ทำไมเกษตรกรบ้านเรายังยากจน กี่ปีกี่ชาติก็ลืมตาอ้าปากกันไม่ได้ซักที
ทั้งที่งบประมาณแต่ละปีไม่ใช่น้อยๆ กระทรวงเกษตรได้งบแสนล้านขึ้นทุกปี และงบในการบริหารจัดการน้ำก็ปีละแสนล้าน แต่เกษตรกรก็ยังยากจน นวัตกรรมเพื่อการเกษตรก็ไม่ค่อยมี การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรก็ล้มเหลวบางที่ทั้งท่วมทั้งแล้งในพื้นที่เดียวกันปีเดียวกัน มันเป็นไปได้ยังไง
ทั้งหมดนี้หากมาดูวิธีการจัดงบปรรกระจายงบประมาณในกระทรวงเกษตรท่านอาจจะหายสงสัย ว่าทำไมเรายังดักดาน
1. จะขอหยิบยกมา 7 จังหวัด ที่เป็นจังหวัดเกษตรกรรม โดยมี 4 จังหวัด กำแพงเพชร พะเยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ที่มี สส. จากพรรคกล้าธรรม ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าโควต้ากระทรวงเกษตรเป็นของพรรคกล้าธรรม และ อีก 3 จังหวัด โคราช อุบล สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางการเกษตรและมีเกษตรกรจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย 3อันดับแรก เพื่อทดสอบสมมติฐานเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่และปัญหา
2. หากดูตัวเลขภาพรวม หากดูงบกระทรวงเกษตรเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรม จะเห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช มีพื้นที่เกษตรกรรม 8.91 ล้านไร่ มากที่สุดและเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรมากที่สุดในประเทศ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,354 ล้านบาท อุบลราชธานี มีพื้นที่เกษตรกรรม 5.5 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1890 ล้านบาท
เทียบกับกำแพงเพชร ฉะเชิงเทราและพะเยา ดูตัวเลขจังหวัดพะเยา มีพื้นที่เกษตรกรรม 2 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,280 ล้านบาท ดูตัวเลขฉะเชิงเทรา มีพื้นที่เกษตรกรรม 2.37 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,227 ล้านบาท ทั้งที่สองจังหวัดนี้มีพื้นที่เกษตรกรรมน้อยว่าหลายเท่า แต่ได้งบประมาณรวมทั้งจังหวัดพอๆกันกับโคราช เป็นเพราะอะไร? เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบชลประทานในจังหวัดโคราชดีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม? เพราะว่าเกษตรกรในโคราชเดือดร้อนน้อยกว่าพื้นที่อื่น? ก็ไม่น่าจะใช่ หรือเพราะว่าอะไรลองดูไหนลองชื่อพรรค เกี่ยวกันไหมนะ?
3. กำแพงเพชร พื้นที่ใหญ่ งบเยอะ แต่กระจุกตัว มีพื้นที่เกษตรกรรม3.6 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจหลัก ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งต้องพึ่งพาระบบชลประทานอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกกินพื้นที่เขต 2 และ 3 รวมพื้นที่เกษตรกรรม 2,000,000 ไร่ ทั้งที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ เขต 1 ของ สส. ไผ่ ลิกค์ พรรคกล้าธรรม พื้นที่เกษตรกรรม 500,000 ไร่ ได้รับงบถึง 497.2 ล้านบาท 44% ของงบทั้งจังหวัด และในขณะที่เขต 4 ขาณุวรลักษบุรี, บึงสามัคคี, ทรายทองวัฒนา, ไทรงาม (บางตำบล) ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ไม่แตกต่างกันนัก แต่มีพื้นที่เกษตร 850,000 ไร่ ได้รับงบเพียง 128 ล้านบาท
ลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่า ปัญหาภัยแล้งในกำแพงเพชรจะมีอยู่จริง แต่จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นของพื้นที่หรือไม่? หรือเป็นเพราะอำนาจทางการเมือง สามารถเหนี่ยวนำเม็ดเงินให้ไปลงบางที่และไม่ไปลงบางที่ได้ หรือแต่แม้มาจากพวกเดียวกันก็ยังมีลำดับชั้นว่าใครได้น้อยได้มา (จังหวัดนี้ในอนาคตมีโอกาสที่อีก 2 เขตจะย้ายไปกล้าธรรม*) ทั้งที่จริงควรกระจายงบประมาณไปแก้ไขปัญหาตามลักษณะของพื้นที่และดูความจำเป็นเร่งด่วน
4. ข้อมูลงบประมาณและพื้นที่เกษตร จังหวัดฉะเชิงเทรางบ 1227 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 2.2 ล้านไร่
5. ใครที่มีบ้านหรือที่ทำการเกษตรอยู่เขตพื้นที่ของ สส.บางพรรค ที่มีงบประมาณไปลงเยอะกว่าพื้นที่อื่นๆ ท่านอย่าเพิ่งหลงดีใจว่างบมาลงเยอะๆแล้วบ้านท่านจะดีขึ้น มีโครงการต่างๆมาลงแล้วปัญหาของพี่น้องเกษตรกรจะถูกแก้ไข ท่านลองนึกดูดีดี ดิฉันยกตัวอย่างเช่น สส. ไผ่ ลิกค์ เป็นรัฐบาลมา 3สมัยแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เป็นคุณพ่อของคุณไผ่ เป็นมาอีก 8 สมัย ชีวิตของคนกำแพงเพชรอยู่กับครอบครัวคุณไผ่มานับสิบๆปี ดิฉันอยากถามว่าคุณภาพชีวิตของท่าน จังหวัดของท่าน ผลผลิตทางการเกษตร ราคาสินค้าเกษตร มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างจับต้องได้บ้างไหมคะ ?
ดิฉันอยากให้ประชาชนทั้งประเทศได้ลองตรองดู บางตระกูล ที่ชนะเลือกตั้งอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เค้าอาจะใส่ซองไปงานศพงานบุญงานบวชหรือช่วยท่านคราวละห้าร้อยพันนึง แต่กี่สิบปีมาแล้วที่ช่วยกันมาแบบนี้บ้านของท่านหรือทุกอย่างในชีวิตท่านดีขึ้นบ้างไหมคะ หรือว่ามันก็เหมือนเมื่อ 10ปี 20ปีที่ผ่านมา แต่มีแค่ สส. เขตบ้านท่านกับคนในเครือข่ายที่ดูแล้วจะได้กินดีอยู่ดีและมีฐานะดีขึ้นๆหรือไม่?
6. สส.หรือนักการเมือง ที่คุยโวโอ้อวดว่า สามารถโยกเอางบมาลงพื้นที่ตัวเองได้ ท่านคิดว่าเค้าเป็น สส. ที่ดีหรือไม่ ? การจัดสรรงบประมาณควรจัดแบบไหน? ควรถูกจัดสรรไปให้พื้นที่ที่มีปัญหาก่อน หรือควรจัดแบบพรรคกูพวกกูต้องได้ก่อน?
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต้องแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการทั้ง 22ลุ่มน้ำ โดยต้องเรียงลำดับตามความเร่งด่วน เพราะถ้าแก้เรื่องน้ำทำไม่สำเร็จก็ไม่มีวันที่จะมีจังหวัดไหนได้อยู่อย่างสงบสุขต้องมากังวลว่าจะท่วมจะแล้งกันอยู่ร่ำไป ปัญหาเช่นนี้มันเป็นปัญหาที่ต้องมองภาพรวมทั้งประเทศแล้วเอาเงินไปแก้ในจุดที่สำคัญเร่งด่วนก่อน
แต่ถ้าหากใช้ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา สส. หรือพรรคการเมือง สามารถโยกงบมาลงในบางพื้นที่ได้เยอะๆ นั่นอาจแปลว่าได้ไปเบียดเบียนหรือไปตัดทอนเอามาจากคนพื้นที่อื่นจังหวัดอื่นที่เค้าอาจจะเดือดร้อนมากกว่าด้วย ซึ่งการดูดงบจากทั้งประเทศไปลงในพื้นที่ของพรรคใดพรรคนึงสุดท้ายประเทศนี้แก้ไขปัญหาอะไรทั้งระบบไม่ได้เลย และพื้นที่นั้นๆที่งบไปลงก็แก้ไขปัญหาพื้นที่ตัวเองไม่ได้เช่นกัน เพราะมันไม่ตรงจุด เหมือนกับว่าบ้านจะพังแต่มีคนปะผุซ่อมแต่ห้องนอนตัวเองสุดท้ายบ้านทั้งหลังมันจะถล่มลงมาอยู่ดี และสุดท้ายการโยกเอางบไปลงพื้นที่ตัวเอง ท่านคิดว่าเค้าเอามาแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงๆหรือเอามาให้ผู้รับเหมาและคนในเครือข่ายได้ดื่มกินกันละคะ ? ลองตอบในใจก็ได้
ดังนั้น สส.หรือนักการเมือง ที่คุยโวโอ้อวดว่า สามารถโยกเอางบมาลงพื้นที่ตัวเองได้ สำหรับดิฉันคนพวกนี้คือตัวถ่วงความเจริญของชาติค่ะ
7. ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีมาก่อน ที่ สส. จะไปยุ่งกับงบประมาณในพื้นที่อื่น? เป็นคำพูดที่เบาปัญญาและตื้นเขิน รวมถึงแสดงให้เห้นว่าไม่เคยสนใจการอภิปรายงบประมาณเลย
ในการอภิปรายงบประมาณ วาระ 1 ในทุกๆปี เช่นปีนี้ สส. พรรคประชาชนคนหนึ่งๆ จะพูดถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณในภูมิภาค บางคนพูดถึงภาครวมทั้งประเทศ และยังมีการตั้งข้อสังเกตเสมอว่า มีบางจังหวัดบางเขตที่เชื่อมโยงกับรัฐมนตรีบางกระทรวงแล้วมีงบมาลงเยอะผิดปกติหรือไม่? อยู่เสมอ และในห้องกรรมธิการงบประมาณ ถ้างบไหนไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะให้เหตุผลและเสนอตัดได้ ดิฉันไม่เข้าใจว่า บางคนเป็น สส. กันมาตั้งกี่สมัยแล้ว ทำไมไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณเลย วันๆเอาเวลาไปทำอะไร? การที่คนแบบนี้ได้เป็น สส. ดิฉันคิดว่ามันช่างเสียโอกาสประเทศและสิ้นเปลืองทรัพยากรสิ้นดี!
หรือถ้าหากหมายถึง ในอดีตปกติ สส. เขาจะไม่ยุ่งกัน งบใครงบมันไม่เหยียบตีนกัน มึงไม่เล่นกู กูก็ไม่เล่นมึง ไอ้การเมืองแบบนี้ก็ควรเลิกได้แล้ว สส. เป็นปากเสียงให้กับคนในพื้นที่ที่เลือกตัวเองมาจริง แต่ก็มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศเช่นกัน ถ้าอะไรที่มันไม่ถูกไม่ควร เป็น สส. ก็ควรจะพูดถึงปัญหา ถ้าเป็น สส. แล้วไม่มีปัญหาไม่มีความกล้าหาญที่จะแก้ไขในสิ่งผิดก็เสียชาติเกิดเปล่าๆ แล้วโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่พวกบอกว่า ไม่ยุ่งงบกัน เงินที่ลงในพื้นที่ไม่ได้ถึงประชาชนหรอก ถึงผู้รับเหมาซะมากกว่า เลยต้องปกป้องกันนักหนา
8. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ภายใต้การนำของเครือข่ายเดิมๆมากี่ปีแล้วค่ะ ไล่ชื่อกลับไปจะ รมว หรือ รมช เปลี่ยนกี่ชื่อทุกคนรู้ว่าเป็นโควตาจริงๆของใคร กี่ปีกี่ชาติมาแล้ว ชีวิตเกษตรกรในประเทศดีขึ้นบ้างหรือยังคะ? ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นบ้างไหม? เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นไหม? หรือชีวิตเกษตรกรก็ยังเหมือนเดิม
พูดกันโหดๆ นะ ประชาชนประเทศนี้ไม่ได้โง่ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าเงินที่ใช้สร้างพรรค เงินที่ใช้ดึงดูด สส. เงินที่ใช้ดูแลเครือข่าย เค้าหาจากไหน แต่ไอซ์เข้าใจ เข้าใจจริงๆ มีประชาชนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอะไรแบบนี้ แต่มันคือการปะผุไปวันๆ ท่านมองภาพรวมประเทศของเราวันนี้สิคะ ชีวิตของเกษตรไทยทำไมถึงได้ยากจนอยู่แบบนี้ทั้งๆที่งบประมาณแต่ละปีมันไม่ใช่น้อยๆ
9) สุดท้ายนี้ ดิฉันไม่เห็นความจำเป็น ในการโต้เถียงกับคนอย่างคุณ ไผ่ ลิกค์ วิญญูชนที่มีสติปัญญาฟังเค้าพูดแล้วก็ตีความเองได้ว่าคนๆนี้เป็นอย่างไร แต่ดิฉันอยากชี้ให้ประชาชนทั้งประเทศได้มองเห็นถึงโครงสร้างอำนาจ ที่ค้ำจุนทำให้คนเช่นนี้ ได้มาเป็น สส. นั่นคือสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำลายทิ้ง
พอกันทีกับการ บีบให้จนแล้วแจก
กดให้โง่แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วยแล้วรักษา
ภาษีควรจะกระจายอย่างเป็นธรรมเพื่อไปแก้ปัญหา
ให้ทุกๆชีวิตในประเทศอย่างตรงจุด
ไม่ใช่ใช้อำนาจรวบไว้ที่เดียว
แล้วค่อยแจกกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างบุญคุณ
ให้ระบบนี้อยู่ไปเรื่อยๆ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ส.ส.ชัยภูมิ และโฆษกพรรคกล้าธรรม ชี้แจงกรณีที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.พรรคประชาชน ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเป็น “งบดักดาน” และพาดพิงถึง ส.ส.ในพรรคกล้าธรรมหลายเขต ว่าเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมยืนยันว่า การจัดสรรงบฯ เป็นไปตามความต้องการและปัญหาเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
นายอัครแสนคีรี ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2569 เขต อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (เขต 1) ได้รับงบประมาณรวม 411.2 ล้านบาท ครอบคลุม 16 โครงการ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งจากสำนักงบประมาณ คณะกรรมาธิการงบประมาณ และรัฐสภา รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ E-bidding ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
“เงินทุกบาททุกสตางค์มีที่มาที่ไปชัดเจน และมุ่งเน้นแก้ปัญหาเรื้อรังของพื้นที่ ไม่ได้จัดงบเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคหรือบุคคลใด” นายอัครแสนคีรีกล่าว
หนึ่งในโครงการสำคัญคือ “ฝายหนองวัวดำ” ต.ลานดอกไม้ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกว่า 20,000 ไร่ และสร้างประโยชน์ครอบคลุมถึง 70,000 ไร่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิษณุโลก และพิจิตร
โฆษกพรรคกล้าธรรม ยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาระบบส่งน้ำอัจฉริยะในเขตท่อทองแดง ต.หนองปลิง ที่เพิ่งได้รับงบประมาณ ว่ามีผลต่อการเพิ่มผลผลิตข้าวของเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด เป็นรูปธรรมของการใช้งบเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ พรรคกล้าธรรมยังผลักดันโครงการด้านอื่น ๆ ในจังหวัด เช่น การปรับปรุงถนนที่ทรุดโทรม การอบรมเกษตรแปรรูป การสนับสนุนปุ๋ยคุณภาพ เมล็ดพันธุ์ดี และโครงการ “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งยกระดับเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดอย่างถูกต้อง
นายอัครแสนคีรี ยืนยันว่า พรรคกล้าธรรมทำงานด้วยความซื่อสัตย์และเปิดกว้าง พร้อมให้ตรวจสอบทุกโครงการ หากมีข้อสงสัยขอให้ใช้อำนาจตามกลไกของสภาและกฎหมาย ไม่ใช่กล่าวหาแบบเหมารวมในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและวิตกกังวล
“พรรคกล้าธรรมไม่ยึดแนวทางบีบให้ประชาชนจนแล้วแจก หรือดึงงบเอื้อพวกพ้อง เราทำงานเพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จริง และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายอัครแสนคีรี กล่าวในช่วงท้าย
ทั้งนี้ พรรคกล้าธรรม ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำการเมืองแบบใหม่ วางอคติลง และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความจริง เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา : เฟซบุ๊ก รักชนก ศรีนอก - Rukchanok Srinork , อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ - แสน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง