svasdssvasds

แฝกองค์ภูมินทร์ พลิกฟื้นดินสู่เกษตรยั่งยืน

แฝกองค์ภูมินทร์ พลิกฟื้นดินสู่เกษตรยั่งยืน

นับจากปี 2534 หลังจากพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก 31 ปีผ่านมาจากคำว่า “วัชพืช” กลายเป็นพืชฮีโร่ จากการสืบสานต่อยอดแนวพระราชดำริอย่างไม่หยุดยั้ง จนเกิดการขยายเครือข่ายปลูกหญ้าแฝกไปทั่วประเทศ

โครงการจัดประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 16 ปี เป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดขยายผล ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน ช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรนำหญ้าแฝกไปใช้ฟื้นฟูที่ดินทำกินทั่วประเทศ โดยมีถึง 490 ผลงานที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ในการนำหญ้าแฝกไปใช้ในหลายมติ

แต่กว่าจะมาถึงวันที่หญ้าแฝกได้รับการยอมรับไม่ง่ายเลย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าว่า เมื่อเริ่มระยะแรกของการส่งเสริมนั้น ความรู้สึกปฏิเสธมีทันที เพราะปกติถือว่าหญ้าคือวัชพืช แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็มุ่งมั่นสืบสานต่อยอดแนวพระราชดำริอย่างไม่หยุดยั้ง จากการที่ทราบดีว่าเกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องปัจจัยการผลิตมาตลอด น้ำท่วมสลับน้ำแล้ง ดินเสื่อมโทรม มีมลพิษตกค้างจากการใช้เคมี ปัญหาเหล่านี้สุดท้ายก็ย้อนมาส่งผลกระทบต่อเราด้วย เพราะรับผลผลิตในพื้นที่ต่างๆ มาบริโภคทุกวัน

ปัจจุบันในหลายๆ พื้นที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังจากนำหญ้าแฝกไปปลูก จากดินแห้งแล้งกลับมาชุ่มชื้น ป่าคืนสภาพ รายได้ประชาชนก็เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามรายได้ และที่น่าภาคภูมิใจ คือ เกิดเครือข่ายหญ้าแฝกที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน และนำไปทำในพื้นที่ตัวเอง

“กว่าหญ้าแฝกจะเข้าถึงประชาชน และกว่าจะมีการพัฒนาองค์ความรู้นำมาแลกเปลี่ยนกัน ต้องอาศัยการทำงานอย่างไม่ย่อท้อมาตลอดกว่า 30 ปี ทั้งนี้ การสืบสานพระราชดำรินั้น ไม่ใช่แค่ปลูก แต่หมายถึงการดำรงรักษาผืนแผ่นดินนี้ให้น่าอยู่ โดยหลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมหญ้าแฝกด้วย มีการถอดบทเรียน และขยายความรู้ออกไป สุดท้ายก็ได้ผล และจบลงที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ไทยดำรงฐานะเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรและศูนย์กลางด้านอาหาร บนพื้นฐานของประโยชน์สุขตามที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งไว้”  

ปีนี้เป็นอีกปีที่โครงการมอบรางวัลฯ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 (ประจำปี 2563 – 2565) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “รักษ์น้ำ ป่า ดิน ด้วยแฝกองค์ภูมินทร์ ฟื้นถิ่น ยั่งยืน” มีผลงานที่ได้รางวัลประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล 14 รางวัล และ ประเภทออกแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ 8 รางวัล จากผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน โดยมี ดร.สุเมธ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

แฝกองค์ภูมินทร์ พลิกฟื้นดินสู่เกษตรยั่งยืน

เสียงสะท้อนของผู้ได้รับรางวัลจากโครงการฯ หลังนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรคนอื่นๆ ลุงสนิท ชาวป่า เกษตรกรแห่งบ้านสระนํา ตําบลบ้านไร่ อําเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่ประสบปัญหาดินเสื่อมโทรม เพราะพื้นที่ 33 ไร่ของเขาปลูกข้าวโพดอย่างเดียวมาตลอด ไม่เคยบำรุงดิน ใช้สารเคมี และยังใช้วิธีเผาด้วย พอฝนตกน้ำก็กัดเซาะแนวปลูกข้าวโพด ทำให้ผลผลิตไม่ดี จุดเปลี่ยนของเขามาถึงเมื่อเพื่อนหมอดินแนะนำปลูกพืชผสมผสาน หว่านปอเทืองบำรุงดิน บริเวณร่องน้ำก็ปลูกหญ้าแฝก

แค่ปีที่สองก็ได้ผล หญ้าแฝกช่วยปิดร่องน้ำ เขาจึงลงมือปลูกหญ้าแฝกเต็มรูปแบบในปี 2560 โดยลงกล้าหญ้าแฝกไปราว 50,000 กล้าเป็นแนวกำแพง ทำให้ดินไม่ไหลลงบ่อน้ำ รอบต้นไม้ของเขาก็ปลูกหญ้าแฝกช่วยจัดการวัชพืช รากของหญ้าแฝกก็หยั่งลึกอุ้มน้ำเวลาฝนตกได้ดี ทำให้ความชื้นในดินเพิ่มจาก 14% เป็น 20% อินทรีย์วัตถุเพิ่มจาก 1% เป็น 1.8% ค่า pH อยู่ที่ 6.3 จาก 5.8 ผลที่ตามมาคือไม้ผลของเขาอย่างส้มโอเติบโตให้ผลผลิตดี ไม่ต้องใช้สารเคมี รายได้ของลุงสนิทเพิ่มจาก 155,200 บาท เป็น 242,000 บาทต่อปี ขณะที่รายจ่ายลดลงจาก 49,000 บาท เหลือ 25,000 บาทต่อปี 

ลุงพิชัย ได้ลาภ แห่งบ้านนิคมสหกรณ์ ตําบลหนองบัว อําเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เขาเป็นชาวนาอีกคนที่ประสบปัญหาทำนาไม่ได้ผล นาของเขา 36 ไร่ มีสภาพดินแน่นทึบ ไถไม่เข้า เพราะกลายเป็นดินทราย ทำนาแต่ละครั้งต้องใช้น้ำจำนวนมาก ขณะที่ข้าวก็ไม่เติบโต เมื่อมาถึงทางตัน เขานึกถึงหญ้าของพระราชาขึ้นมาได้ หญ้าแฝกมหัศจรรย์ที่เขาเคยได้ยิน ลุงพิชัยจึงน้อมนำหญ้าแฝกมาปลูกในปี 2557 จำนวน 8,000 กล้า และผ่านไปไม่นานดินของเขาไม่ใช่แค่ดี แต่เป็นดินที่มีชีวิต มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาอาศัยช่วยให้ดินมีรูพรุน มีอากาศถ่ายเทในดิน ในปี 2565 ความชื้นในดินบนพื้นที่ของลุงพิชัย เพิ่มจาก 12% เป็น 18% มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.4% ค่า pH อยู่ที่ 6.6 จาก 6.4

“ อยากให้มาสนองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะหญ้าแฝกช่วยอนุรักษดินและน้ำได้ดีจริงๆ สามารถนำไปปลูกในแปลงโคกหนองนา ขอบแปลงนา ขอบสระ ขอบไหล่ทางก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น ”

แฝกองค์ภูมินทร์ พลิกฟื้นดินสู่เกษตรยั่งยืน ผลสะท้อนของเกษตรกรที่นำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ และพร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร ถักทอเป็นเครือข่ายปลูกหญ้าแฝกอย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็มีความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการปลูกและนำหญ้าแฝกไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของใช้ไม้สอยหลากหลาย ภายใต้แบรนด์ “ภัทรพัฒน์” ของมูลนิธิชัยพัฒนา ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในวันนี้ บอกได้อย่างดีว่าระยะเวลากว่า 31 ปีที่ทุกฝ่ายเพียรพยายามรณรงค์ และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกไม่สูญเปล่า

related