svasdssvasds

ประเด็นร้อน โดนหักเงิน/ดูดเงิน จากบัตรเดบิต เงินหมดบัญชีไม่รู้ตัว

ประเด็นร้อน โดนหักเงิน/ดูดเงิน จากบัตรเดบิต เงินหมดบัญชีไม่รู้ตัว

ประเด็นร้อนบนโลกโซเชียลที่กระทบถึงชีวิตจริง เรื่องราวของการโดนหักเงิน/ดูดเงิน จากบัตรเดบิต/แอพลิเคชั่น จนเงินหมดบัญชีไม่รู้ตัวกำลังเป็นที่พูดถึงความปลอดภัยทางการเงิน แม้แต่เงินที่ฝากอยู่ในบัญชีธนาคารก็ไม่ปลอดภัยจะทำอย่างไรดี ?

เพจ Drama-addict ได้โพสต์ถึงกลุ่ม แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว ที่ตอนแรกมีสมาชิกอยู่ราวหลักร้อยต้นๆ แต่แล้วเพียงผ่านไปชั่วข้ามคืนยอดกลับพุ่งทะยานสู่หลักหมื่น

โดยเนื้อหาหลักของในกลุ่มนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนสอบถามข้อมูลของ "เหยื่อ" ที่ถูกมิจฉาชีพตัดเงินในบัญชีครั้งละไม่กี่บาทอยู่ที่ราว 30-40 บาท หรือประมาณ 1 ดอลลาร์ แต่หลายครั้งติดๆ กัน ผ่าน "บัตรเดบิต" ที่นำไปผูกบัญชีไว้กับบริการออนไลน์ต่างๆ หรือแม้แต่ยอดเงินใหญ่ๆ หลักพันถึงหลักหมื่นก็มีเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นในรูปแบบนำไปซื้อ Facebook Ads หรือโอนไปยังบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ภายในกลุ่มได้แชร์ประสบการณ์เหล่านี้ว่า ธนาคารที่โดนมีหลากหลายมาก อาทิ สีม่วง สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีฟ้า แต่เห็นที่จะเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดเห็นจะเป็น ธนาคารสีน้ำเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

หลายคนพากันบอกเล่าว่าโดนมานาน 1-2 เดือนแล้ว ทางธนาคารรับปากว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วต่างก็เงียบหาย และมีเหยื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เหยื่อบางรายได้มีการประสานติดต่อกับทางธนาคารให้ทำการอายัดบัตรและเปลี่ยนบัตรใหม่แล้ว ก็ไม่อาจหยุดยั้งเหล่ามิจฉาชีพได้ เนื่องจากทางมิจฉาชีพได้ติดตามไปยัง Visa/Master ว่าบัญชีดังกล่าวยังคงติดค้างเงินอยู่ ทำให้ระบบปฏิบัติการของทางธนาคารจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโอนเงินออกจากบัญชีและจ่ายหนี้ค้างชำระเสียก่อน

โดยข้อสรุปที่พบเจอแอพลิเคชั่นที่พบการยักยอกเงินในบัญชีโดยสังเขป มีดังนี้

  • ช็อปปิ้งสีส้ม
  • โรงแรมสีขาว
  • สายการบินสีแดง
  • เซฟข้อมูลการเงินไว้บน Chrome
  • Facebook Ads
  • Youtube Premium

ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้เหล่ามิจฉาชีพหลอกขโมยเงินในธนาคารมีทั้งหมด 7 วิธีด้วยกัน

1. ตั้งสติ
ระวัง ช่างสังเกต อย่าให้ข้อมูลกับใครง่ายๆ ไม่ว่าข้อความนั้นจะส่งมาจากใคร ผ่านช่องทางใดก็ตาม เพราะเดี๋ยวนี้มิจฉาชีพมาแบบแนบเนียนมากสามารถส่ง SMS มาในชื่อของแบงก์ องค์กรที่น่าเชื่อถือหรือเบอร์โทรที่เราคุ้นเคยได้ อย่ารีบร้อนและไม่ทำธุรกรรมทางการเงินพร้อมๆ กับทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอาจทำให้เผลอและขาดความระมัดระวังได้

2. อย่าให้หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวในทันที
เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ ขอข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขที่บัตรเครดิต/เดบิต วันเดือนปีเกิด Login Name รหัสผ่านต่างๆ หรือ OTP ใดๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น อีเมล, SMS, LINE, Facebook Messenger เป็นต้น หากไม่แน่ใจโทรถาม call center

3. สังเกตลิงก์ที่แนบมากับข้อความเสมอ
ว่าลิงก์นั้นเป็นเว็บไซต์ของธนาคารจริงหรือไม่ โดยเว็บไซต์ของธนาคารจะขึ้นต้นด้วย https:// เท่านั้น และมีสัญลักษณ์รูปกุญแจอยู่ด้านหน้าชื่อ รวมทั้งต้องตรวจสอบชื่อ URL ว่าถูกต้องหรือไม่

4. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ
ในการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ เพราะมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเจาะเอาข้อมูลสำคัญเช่น Username, Password ในการเข้าไปขโมยเงินในบัญชีของเราได้

5. จำกัดวงเงินเบิกถอนต่อวัน
เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินจำนวนมาก

6. หากเผลอให้ข้อมูลไปแล้ว รีบเปลี่ยนรหัส
ในการทำธุรกรรมต่างๆ ทันที แล้วรีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีและแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

7. แชร์ความรู้ต่อ
ให้คนในครอบครัว เพื่อนและคนรอบตัว ให้รู้เท่าทันกลโกงจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูล 7 วิธี ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกขโมยเงินในธนาคาร จากธนาคารไทยพาณิชย์

related