svasdssvasds

อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ ชี้ หนทางคลี่คลายปัญหา คือรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ

เวทีเสวนาฯ อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อภิสิทธิ์ เตือน รัฐสภาต้องรับหลักการเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา หญิงหน่อย ชี้ ถ้านายกฯ จริงใจก็พูดออกมาคำเดียว คิดว่า ส.ส.และ ส.ว.จะเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ ชี้ หนทางคลี่คลายปัญหา คือรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย"

ผู้ร่วมเวทีฯ ประกอบด้วย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 , รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. ,

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย , คุณคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ,  (ส.ว.) ดำเนินรายการโดย คุณเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.

โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า  ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่าจะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ต้องประกาศขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาทุกเรื่อง หากนายกฯ ลาออกจะเป็นการถอดสลักตัวแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการถอดสลักที่สอง

แต่ปรากฎว่ามี ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนต้องออกมาช่วยกันกดดัน

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานครป. กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่จะได้ดูว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน โดยรัฐสภาเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในฐานะเป็นตัวปัญหาและคลี่คลายปัญหาให้กับสังคม เราเห็นภาพชัดว่าจุดชี้ขาด คือ วุฒิสภา

"พื้นฐานของส.ว. 250 คนทั้งในแง่บุคคลและโครงสร้าง กล่าวได้ชัดเจนว่า ส.ว.เป็นตัวแทนชนชั้นนำและกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน โดยมีอุดมการณ์รากฐานที่ต้องการรักษาอำนาจเดิมเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปกป้องวัฒนธรรมอุปถัมภ์

“ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ ส.ว.พยายามใช้ยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวผ่านการเลือกองค์กรอิสระ การลงมติคัดค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากมีการปฏิบัติทางการเมืองที่กระทบต่อเครือข่ายตัวเอง ส่งผลให้เห็นการต่อต้านหลากหลายและการประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อหยุดยั้งการกระทำที่คุกคามตนเอง เห็นได้จากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

นายพิชาย กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่เกิดขึ้นอาจเกิดทำให้เอกภาพของ ส.ว. เกิดการแตกขึ้นได้ และจะมีพื้นที่เจตจำนงเสรีหลงเหลืออยู่บ้าง โดยไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว การตัดสินใจจะยื้อการแก้ไขรัฐธรมนูญจะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ ส.ว. ลดลง เพราะการทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับการไม่ฟังเสียงของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ ชี้ หนทางคลี่คลายปัญหา คือรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ

 

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองเคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่ควรเห็นชอบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 เพราะมีปัญหาหลายประการ ทั้งความอ่อนแอในการปราบปรามการทุจริตและความอ่อนแอในประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ที่มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมิติมากขึ้น เพราะมีมิติความคาดหวังของคนรุ่นใหม่และความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังมีทางออกได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่า ควรมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าในวันที่ 17-18 พ.ย. เลือกที่จะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าเส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คนพยายามตีความและอ้างศาลรัฐธรรมนูญควรไปอ่านคำวินิจฉัยในอดีตใหม่ เพราะครั้งนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสองรอบ

"การลาออก การยุบสภาโดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกติกา จะยังคงทำให้ปัญหากลับมาอยู่ที่เดิม การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นรูปธรรมเดียวที่ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจได้ยินข้อเรียกร้องถึงกกิตาที่ควรต้องแก้ไข และจะเป็นการสร้างเวทีและโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรัฐสภาและผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การแก้ไขในขั้นตอนของรัฐสภา"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่อง หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ หากติดตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ได้มีแค่หมวดดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีในหมวดอื่นๆ ด้วย

ถ้าเรากังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปกระทบเรื่องเหล่านี้ ก็ควรไปพูดคุยกันด้วยเหตุผลในรัฐสภา และกำหนดเป็นข้อตกลงว่ายังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดี่ยว และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนไปคุยกันได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำไปกระทบความรู้สึกต่อกัน

"แต่ตอนนี้คาดการณ์ว่าจะเกิดการรับและไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับ ช่องว่างระหว่างสองฝ่ายไม่ได้ลดลงเลย มีความพยายามจะบอกว่านายกฯ สัญญาณแล้ว ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่านายกฯ บอกแค่ให้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล และพยายามอ้างเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่กลับเกิดการพยายามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“ถ้านายกฯ จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่านสภาก็ทำได้ง่ายนิดเดียว โดยยืนบอกกลางสภาเลยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศและให้ไปคุยในรายละเอียด เพื่อให้นายกฯ ทำงานต่อไปได้ ผมก็อยากดูเหมือนกันว่า ถ้านายกฯ พูดแบบนี้จะมี ส.ว.ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่"

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งนี้มีมติระหว่างประชาชนด้วยกันเอง รวมทั้งยังเรื่องการมองปัญหาทางการเมืองแตกต่างกันของคนในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ ในอดีตเมื่อครั้งมีความขัดแย้งหรือการรัฐประหาร แต่ละครั้งทุนของประเทศยังหนาอยู่ ทว่าครั้งนี้เรามีความเปราะบางมาก เราจะเสี่ยงไม่ได้และจะต้องไม่เกิดการใช้กำลังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ประเทศไทยจมดิ่งไม่รู้ถึงจุดไหน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า การที่นายกฯบอกว่า ตัวเองไม่ได้ทำผิดใดๆ นั้น ถือว่าเป็นความผิดชัดเจน การกระทำของนายกฯ ทำให้ตนเองเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่การสืบทอดอำนาจและติดกับดักตัวเอง ตามมาด้วยการกระทำผิดรัฐธรรมนูญนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ได้มีการปราบโกง ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรตรวจสอบไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลิดรอนสิทธิประชาชนและขัดขวางการกระจายอำนาจ ทำให้ไม่เกิดความเจริญงอกงามในประเทศไทย การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายๆ คือ ความจริงใจของนายกฯ และเปิดหูรับฟังโดยเข้าใจและต้องนำไปแก้ไข การเป็นผู้นำไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจแต่ต้องทำให้ประเทศอยู่รอด"

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะย้อนกลับไปพบว่ามีกระบวนการที่จะพยายามยื้อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้น ในวันที่ 17-18 พ.ย. จะเป็นโอกาสสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ

ถ้านายกฯจริงใจก็พูดออกมาคำเดียว คิดว่า ส.ส.และ ส.ว.จะเห็นด้วยและทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาได้จบภายในเดือน ธ.ค. ทั้งสามวาระ และเข้าสู่กระบวนการจัดทำประชามติ ซึ่งแบบนี้ทำให้ปลายปี 2564 ประชาชนจะได้เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มาจากประชาชน

อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ ชี้ หนทางคลี่คลายปัญหา คือรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ที่มาอภิปรายในเวทีแห่งนี้ของตนเองไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ แต่จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในนามส่วนตัว ทั้งนี้ วันที่ 17-18 พ.ย. เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็น ส.ว. โดยเคยเสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการลดอำนาจของ ส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่าในเมื่อจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ควรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา

"ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"

นายคำนูณ กล่าวว่า เส้นทางการไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจะเขียนไว้ค่อนข้างจำกัด อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดแล้วว่าจะต้องดำเนินการตาม 256 (9) เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นการกำหนดกรอบของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด

การไปศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 49 ว่าด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้ โดยยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งในช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความผิด

ส่วนมาตรา 210 (2) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่มี ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนเองไม่เห็นด้วยและจะไม่ยกมือให้กับญัตตินี้ เนื่องจากตนเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หากไม่รู้ว่าหน้าที่มีอะไร แต่ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องแปลก

อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ ชี้ หนทางคลี่คลายปัญหา คือรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ

related