svasdssvasds

SpringNews ขออภัยที่สร้างความเข้าใจผิด ในกรณีนำเสนออินโฟกราฟิกที่ผิดพลาด

SpringNews ขออภัยที่สร้างความเข้าใจผิด ในกรณีนำเสนออินโฟกราฟิกที่ผิดพลาด

จากกรณีที่ SpringNews ได้นำเสนอภาพอินโฟกราฟิกไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64 ในหัวข้อ "รวมคำศัพท์ดิจิทัลจากราชบัณฑิต" โดยเนื้อหาในภาพบางคำที่แปลมาทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด

หลังจากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ผู้จัดทำอินโฟกราฟิกจึงระงับการเผยแพร่ เพราะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด เนื่องจากศัพท์ที่ปรากฏในอินโฟกราฟิกดังกล่าว มิใช่เป็นการบัญญัติจากราชบัณฑิตยสภาทุกคำ การให้คำพาดหัวที่ปรากฏจึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

SpringNews ขออภัยในการสื่อสารที่ผิดพลาด พร้อมทั้งขอบคุณในการติดตาม อันเป็นที่มาของการท้วงติงการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ซึ่งทีมงานจะรับไปเป็นบทเรียน และจะปรับปรุงในการทำงานต่อไป

ขณะที่เนื้อหาที่ถูกต้องนั้น จากการตรวจสอบและค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ความหมายที่ผิดของคำศัพท์บางคำ เช่น  "ทวิตเตอร์ (TWITTER) ที่แปลว่า สำเนียงสกุณา" เป็นความเข้าใจผิดและราชบัณฑิตยสภา ไม่ได้เป็นผู้แปลหรือบัญญัติ

ส่วนคำว่า Category ที่ระบุว่า ปทารถะ = ประเภท นั้น เป็นการบัญญัติคำของ 2 คณะกรรมการ โดยคำว่า 
- ปทารถะ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาปรัชญา
- ประเภท บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาปรัชญา, วิทยาศาสตร์, สังคมวิทยา, ภาษาศาสตร์ทั่วไป

คำว่า BIG DATA ที่ระบุว่า ข้อมูลขนาดใหญ่ = ข้อมูลมหัต นั้น เป็นการบัญญัติคำของ 2 คณะกรรมการ โดยคำว่า 
- ข้อมูลขนาดใหญ่ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
- ข้อมูลมหัต บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาสถิติศาสตร์

คำว่า ACTION = กัตตุภาวะ การระบุว่า กัตตุภาวะ นั้น เป็นการระบุของหลายคณะกรรมการ ได้แก่
- กัตตุภาวะ, ภาวะทำการ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาปรัชญา
- การดำเนินเรื่อง บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาวรรณกรรม
- กิริยา บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาวิทยาศาสตร์
- แสดง, การแสดง, การเคลื่อนไหว บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาเทคโนโลยีทางภาพ
- อรรถคดี, การฟ้องคดี, การกระทำ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขานิติศาสตร์

คำว่า INTUITION ที่ระบุว่า อัชฌัชติกญาณ = การหยั่งรู้, การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณ นั้น มีคำที่ระบุไว้จากหลายคณะกรรมการ ได้แก่
- อัชฌัชติกญาณ, การรู้เอง บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาปรัชญา
- สหัชญาณ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาวิทยาศาสตร์
- การรู้เอง บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาภาษาทั่วไป

คำว่า SOCIALIZATION ที่ระบุว่า สังคมประกิต =   สังคมวิทยา นั้นเมื่อตรวจสอบพบว่า คำว่า สังคมประกิต มิได้บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสภา และการบัญญัติใช้คำก็มาจากหลายภาคส่วน ไม่มีการใช้คำว่า สังคมประกิต แต่อย่างใด ได้แก่
- การขัดเกลาทางสังคม บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาภาษาศาสตร์การประยุกต์
- สังคมกรณ์ บัญญัติโดยคณะกรรมการสาขาสังคมวิทยา

ทั้งนี้ เพื่อลดการส่งต่อเนื้อหาที่ผิดพลาดและอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อ ๆ ไป จึงขอความกรุณาระงับการส่งต่ออินโฟกราฟิกที่ผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งทีมงานได้ลบออกจากระบบแล้ว

แหล่งอ้างอิง ราชบัณฑิตยสภา

related