svasdssvasds

มอนสเตอร่ามินต์ว่าแพง เจอทิวลิปดอกละ 4 ล้าน! ยุค ฟองสบู่แตก ครั้งแรกของโลก

มอนสเตอร่ามินต์ว่าแพง เจอทิวลิปดอกละ 4 ล้าน! ยุค ฟองสบู่แตก ครั้งแรกของโลก

วิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก เชื่อมั้ย ว่าเกิดจาก ดอกทิวลิป? มอนสเตอร่ามิ้นต์ ต้นละล้านที่ว่าแพง ย้อนกลับไป 300 กว่าปี เจอทิวลิป ดอกละ 4 ล้าน! ราคาเท่าบ้านเดี่ยว 1 หลังเลย เดี๋ยววันนี้พาย้อนไปดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้กัน

วิกฤต ฟองสบู่แตก คือ วิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง หลายประเทศ หลายยุคหลายสมัย มักเกิดจากการที่มนุษย์ลงทุน ทุ่มเงินในสินทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินบางอย่าง เก็งกำไรจนทำให้มูลค่ามันสูงเกินจริง ไปได้ถึงจุดหนึ่ง มีคนเทขาย ของสิ่งนั้นไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ราคาของพวกมันก็จะลดฮวบตามๆกัน มีคนจำนวนมากขาดทุน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศได้ เราเรียกว่า ภาวะฟองสบู่แตก เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ไทยปี 1997 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่สหรัฐอเมริกา ปี2008  แต่หากย้อนไปถึง วิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก คุณเชื่อไหม ว่ามันเกิดจากความคลั่งไคล้ใน ดอกทิวลิป ของชาวดัตช์ หรือ วิกฤตฟองสบู่ดอกทิวลิป ปี 1622 ที่ดัตช์ หรือ เนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า The Dutch Tulip Mania Bubble ซึ่งเดี๋ยววันนี้เราจะมาเล่าความคลั่งไคล้ในดอกทิวลิปจนเกินพอดี นำหายนะทางเศรษฐกิจมาสู่ดัตซ์ในยุคนั้น

 

ดอกทิวลิป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

       โดยในยุคนั้นช่วงปี ค.ศ.1600 เป็นยุคทองของชาวดัตช์ เศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก มีเศรษฐีเดินดินขวักไขว่เต็มถนน และมักปรนเปรอความรวยของตัวเองด้วยสิ่งของฟุ่มเฟื่อย ถ้ายุคนี้ก็คงจะเป็น Hermes สักใบ รถหรูเปิดประทุนสักคัน แต่ยุคนั้นเป็น ดอกทิวลิป ใช่ อ่านไม่ผิดหรอกจ้ะ คือบ้านไหนมี คือ รวยมาก ดีย์มาก และเพราะดอกทิวลิปนั้น ไม่ใช่ดอกไม้พื้นเมืองของยุโรป มันจึงหายากและมีราคาค่อนข้างแพง มีสีสันสวยงามถูกอกถูกใจชาวเมืองยิ่งนัก

        ซึ่งพอเป็นที่นิยมก็มีชาวดัตช์บางส่วน เริ่มคิดทำกำไรจากดอกทิวลิป ตัดหัวเอาไปขาย ซึ่งในหนึ่งปี ดอกทิวลิป จะออกดอกเพียงแค่ช่วง มิถุนายน-กันยายน เท่านั้น พอถึงเดือนตุลาคมก็จะมีคนมารอซื้อ หัวดอกทิวลิป กันเพียบเลย แต่เนื่องจากมันก็มีจำนวนจำกัด จึงเริ่มเกิดการ ซื้อ-ขาย ใบจอง หัวดอกทิวลิป ล่วงหน้าขึ้น(อารมณ์แบบหุ้นFutureปัจจุบันเลย) หรือ Future Contract นั่นเอง โอ้โห เป็นเรื่องเป็นราวมาก

      ซึ่งช่วงแรกราคายังพอรับได้ 1 หัว เท่ากับ 5-15 กิลเดอร์เท่านั้น (ค่าเงินของชาวดัตช์) แต่แล้วราคาของมันก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามความต้องการ จาก 15 ก็เป็น 50 เป็น 100 กิลเดอร์ สูงกว่า 7 เท่าตัว! ทำให้คนจำนวนมากหันมา ซื้อขายเพื่อเก็งกำไร ไม่ใช่เพราะจะเอาไปปลูกอีกต่อไป

money

 

       มีบันทึกไว้ว่าบางคนถึงกับ นำที่ดิน 12 เอเคอร์ (49,000 ตารางเมตร) มาแลกกับ หัวทิวลิป Semper Augustus เพียงหัวเดียว (ถือเป็นดอกทิวลิปที่สวยที่สุดในยุคนั้น) ซึ่งราคาสูงสุดถึง 12,000 กิลเดอร์ เทียบค่าเงินปัจจุบันก็ 2 แสนกว่า แต่ในยุคนั้นค่าเงินน่าจะประมาณ 4 ล้านกว่าบาท! โอ้โห ดอกไม้ดอกเดียว ราคาแพงกว่าบ้านเดี่ยวอีกจ้ะ 

        จนกระทั่งเมื่อวันที่ฟองสบู่ใสๆใกล้จะแตกก็มาถึง 3 ก.พ. 1637 หลังจากกระแสทิวลิปเบ่งบานไปได้สักพัก เริ่มคนได้สติว่าราคาดอกทิวลิปพุ่งไปไกลเกินมูลค่าที่แท้จริงมาก ทั้งที่มันก็เป็นเพียง ดอกไม้ธรรมดา ทำให้การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าหยุดชะงักลง  ทิวลิปในราคา 200 กิลเดอร์ เริ่มไม่มีผู้ซื้ออีกต่อไป เมื่อทุกคนคิดว่าราคามันสูงที่สุดแล้ว ต่างเทขายกันยกใหญ่ แต่มันก็ไม่มีใครอยากได้ ราคาจึงดิ่งลงเหว จาก 200 กิลเดอร์ กลับมาเหลือ 10 กิลเดอร์เท่านั้นภายในเดือนเดียว เหตุการณ์นี้ทำหลายคนขาดทุน ล้มละลาย และนั่นจึงทำให้เศรษฐกิจของดัตช์ในตอนนั้น ซบเซาต่อเนื่องไปหลายปี กลายเป็นเกิด วิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก เท่าที่มีการบันทึกข้อมูลมา แล้วยุคทองของดัทช์ก็ได้สิ้นสุดลง 

        ปัจจุบันเรื่อง วิกฤตฟองสบู่แตก อาจไม่จำเป็นต้องใช้ในโอกาสใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นและใช้เรียกได้ เมื่อคนแห่ไปลงทุนในอะไรสักอย่างตามๆกัน โดยศึกษาข้อมูลไม่ดีพอ ดันจนมูลค่ามันสูงมากเกินความต้องการที่แท้จริง สุดท้ายเมื่อมีคนเทขาย ตู้มมราคาของมันก็จะร่วงอย่างรุนแรง (คล้ายๆการลงทุน บิตคอยน์ หรือ คริปโต เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา) แมงเม่าติดดอยหรือขาดทุนเป็นแถว เพราะฉะนั้นย้ำนะคะว่า ก่อนเราจะลงทุนในทรัพย์สินอะไรสักอย่าง เราควรศึกษาข้อมูลให้ดี ไม่ใช่ ซื้อเพียงเพราะเขาบอกมา หรือตามคนอื่นค่ะ จะได้ไม่เป็นแบบเหตุการณ์ คลั่งไคล้ดอกทิวลิป หรือ วิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก Tulip Mania นั่นเอง...

 

related