svasdssvasds

คืบหน้ารถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา

คืบหน้ารถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา

คืบหน้ารถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา เริ่มมีความคืบหน้าในการก่อสร้างรวดเร็วขึ้น หลังจากที่ไทยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ความหวังที่ชาวโคราชจะเดินทางเข้ากรุงเทพโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ เริ่มใกล้ความจริง

การก่อสร้างรถไฟไทยจีน ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร มีความคืบหน้าในการก่อสร้างสำหรับโครงการระยะที่ 1 ทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะไทยผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง

ข้อมูลนี้มาจากการเปิดเผยของ หม่าเซิ่งซวง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (ประเทศไทย) ซึ่งรับผิดชอบโครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 1 มีระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ประยุกต์ใช้มาตรฐานทางเทคนิคของจีน โดยงานโยธาของโครงการแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร กำลังเปิดประมูลอีก 3 สัญญา ขณะที่อีก 10 สัญญากำลังคืบหน้าไปตามลำดับ

โครงการระยะแรกมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และ นครราชสีมา เป็นทางยกระดับ 188.68 กิโลเมตร คันทางระดับดิน 54.99 กิโลเมตร และ อุโมงค์ บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง 8 กิโลเมตร มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569

เมื่อก่อสร้างเสร็จ คนกรุงเทพฯ และ โคราชจะเดินทางไปมาหาสู่กันโดยใช้เวลาเพียง 1 ชม.เศษๆ

ปัณรส บุญเสริม วัย 32 ปี นักแปลประจำโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน เป็นหนึ่งในคนที่มีความหวังกับการเดินทางที่จะรวดเร็วขึ้น จากที่เคยขึ้นรถไฟกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง เหลือเพียงกว่า 1 ชั่วโมง

ปัณรส บอกว่า รถไฟในไทยทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลเพราะให้บริการเชื่องช้าเกินไป และหวังว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดใช้โดยเร็วที่สุด

 

ปัณรสมีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่หลายแห่งในจีน ขณะเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหนานไคในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน และได้เห็นว่าทางรถไฟความเร็วสูงมีบทบาทยกระดับชีวิตคนในท้องถิ่น ทำให้เธอมองว่าทางรถไฟจีน-ไทยจะไม่เพียงอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น แต่ยังช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ การคมนาคมขนส่งที่ดีจะทำให้ผู้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางรถไฟจีน-ไทย จะเป็นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชายแดนอย่างหนองคาย ซึ่งจะมีสะพานเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้อนาคตสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านลาว ไปสู่นครคุนหมิง มณฑลอยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าเมื่อทางรถไฟจีน-ไทย เปิดดำเนินการแล้ว ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางรถไฟฯ ในไทย แต่ยังผลักดันการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟข้ามเอเชีย และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค

นอกจากการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ประเทศ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์อันดี และ เติมเต็มประสบการณ์ให้วิศวกรไทย ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์มากมายทั้งในแง่การก่อสร้างทางรถไฟและการจัดการโครงการ

วิโรจน์ ลับกฤชคม วัย 59 ปี วิศวกรจากบริษัทฯ กล่าวว่า ทางรถไฟจีน-ไทย เป็นมากกว่าโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ และจะเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ตอนนี้ทีมงานกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานชาวจีนด้วย

related