svasdssvasds

พัฒนาไปอีกขั้น! ถอดบทเรียนกู้ภัยถ้ำหลวง "ภารกิจระดับโลก"

พัฒนาไปอีกขั้น! ถอดบทเรียนกู้ภัยถ้ำหลวง "ภารกิจระดับโลก"

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจค้นหา และ กู้ภัยที่ถ้ำหลวงฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดเผยเบื้องหลังการปฏิบัติงานตลอด 18 พบว่า การทำงานหลายส่วนยาก และ ท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกของการกู้ภัยภายในถ้ำ

ถอดบทเรียนกู้ภัยถ้ำหลวงภารกิจยากและท้าทาย

เวทีเสวนา “ถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 หมูป่า..กู้ภัยระดับโลก” นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า ภารกิจครั้งนี้ คือ บททดสอบที่โหดที่สุด และบีบหัวใจของคนทำงานมากที่สุด โดยเฉพาะคนที่รับหน้าที่ตัดสินใจนำทุกคนออกมาอย่างปลอดภัย เพราะผู้บัญชาการเหตุการณ์บอกเพียงวลีเดียวสั้นๆ คือ หากเด็กไม่ปลอดภัยแม้แต่คนเดียว คือ “ภารกิจล้มเหลว”

กรมอุทยานฯ รับหน้าที่หน่วยงานสนับสนุน ช่วยลดระดับน้ำในถ้ำ และ ส่งกำลังคนหาโพรงบนเขาเพื่อหาช่องทางเข้าถ้ำ งานหาโพรงยากมาก เพราะวนอุทยานถ้ำหลวงกิจพื้นที่มากถึง 5 พันกว่าไร่

การค้นหาโพรงเหนือถ้ำ ต้องอาศัยการเดินเท้าสำรวจ เพราะโดรนที่นำขึ้นไปถ่ายภาพสามมิติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยอดเขามีต้นไม้ปกคลุมมาก

เมื่อเจอโพรงแล้ว งานที่หนักและโหดสุดอีกงานหนึ่ง คือ งานขุดเจาะถ้ำซึ่งเป็นเขาหินปูนที่มีความหนา ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา จากภาครัฐและเอกชนมารวมตัวกันเพื่อวางแผนควบคุมการขุดเจาะถ้ำด้วยเครื่องจักรหนัก ที่ขนขึ้นไปบนเขาด้วยเฮลิคอปเตอร์

เมื่อเป้าหมายชัดเจนว่า จะนำน้องออกทางหน้าถ้ำ การต่อสู้กับมวลน้ำก้อนใหญ่ เพื่อลดระดับน้ำ และ ป้องกันไม่ให้มีน้ำเติมเข้าไปในถ้ำอีก เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งมือทำงานแข่งกับเวลาและธรรมชาติ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ ภาคเอกชนอย่าง ช.การช่าง ส่งคนเข้ามาช่วยควบคุมการสูบน้ำในถ้ำ ขณะที่เจ้าของไอเดียท่อสูบน้ำความแรงสูง “เทอร์โบเจ็ท” ตัดสินใจหันหลังกลับมาช่วยงานอีกครั้ง แม้จะออกเดินทางกลับบ้านแล้ว

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทำให้ภารกิจกู้ภัยระดับโลกครั้งนี้ประสบความสำเร็จ คือ การทำแผนที่นำทางให้กับหน่วยซีล กรมทรัพยากรณี ใช้ข้อมูลจากหลายส่วนประกอบกันทั้งกรมแผนที่ทหาร จิสด้า และ ข้อมูลจากนักสำรวจถ้ำผู้เชี่ยวชาญอย่างเวิร์น อัลเวิร์ส และ มาร์ติน เอลลิส ประกอบกับการปฏิบัติการในห้องแล็บ หากข้อมูลขาดความแม่นยำไม่มีทางที่กู้ภัยได้สำเร็จ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปภารกิจกู้ภัยในครั้งนี้มีหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันมากถึง 337 หน่วยงาน มีเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานรวมแล้วกว่า 5 พันคน ด้วยความช่วยเหลือจากนานาชาติ และ ทุกภาคส่วนของไทย โดยอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ภารกิจครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี

related