svasdssvasds

สรุปได้หรือยัง เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 ใครบ้างจะได้แอสตร้าเซนเนก้า?

สรุปได้หรือยัง เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 ใครบ้างจะได้แอสตร้าเซนเนก้า?

ตกลงแล้ว "แอสตร้าเซนเนก้า" วัคซีนหลักของประเทศจะกลายเป็น Booster Dose เข็มที่ 2 หรือ 3 กันแน่ แล้วใครจะได้สิทธิ์นั้น? SPRiNG สรุปเหตุผลและความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรค จากการประชุมเสวนาวิชาการ "วัคซีนโควิด 19 สำหรับสื่อมวลชน" มาให้อ่านกัน

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลต้ากระจายไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เราอยู่ร่วมกับเดลต้ามานาน 4 เดือนแล้ว การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์ดังกล่าวอาจครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นเดือนนี้ เมื่อพิจารณาวัคซีนที่มีอยู่กับกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นำมาสู่การเสนอแนวทางที่ก่อเกิดประโยชน์จากวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้าโดยเร็วที่สุด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

คุยเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศ และการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับซิโนแวค

จากที่ กรมควบคุมโรค จัดประชุมเสวนาวิชาการ "วัคซีนโควิด 19 สำหรับสื่อมวลชน" ผ่านเฟซบุ๊ก นำโดย

  • ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
  • ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
  • ศ.นพ.ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและถือว่าได้อัปเดตสถานการณ์ไปพร้อมๆ กัน

กรมควบคุมโรค จับ 15 ประเด็นมาฝาก อ่านจบไวในไม่กี่นาที

  1. ไทยสั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรก 26 ล้านโดส และสั่งล็อตที่สองในเวลาต่อมาจำนวน 35 ล้านโดส รวมแล้ว 61 ล้านโดส หากถามว่าจะส่งวัคซีนได้ครบตามจำนวนที่สั่งหรือไม่ บริษัทกำลังดำเนินการผลิตเพื่อให้ได้ตามที่ขอ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีการระบุวันที่จัดส่งอย่างแน่ชัดและต่างประเทศก็มีการสั่งวัคซีนเช่นเดียวกัน ดังนั้น ต้องรอดูจำนวนวัคซีนที่ไทยจะได้รับในวันที่ 31 ธันวาคม และเป็นไปได้ว่า บางส่วนต้องขยับไปส่งมอบในปีหน้า
  2. สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะได้ซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มแรก จะได้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างแน่นอน
  3. ถ้ามุ่งเป้าไปที่การฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รวม 10 กว่าล้านคนภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวยังต้องรอแอสตร้าเซนเนก้าที่จะทยอยส่งมอบมาเป็นระยะ
  4. การฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างจังหวัด มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป  ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน
  5. ขณะนี้มีเด็กติดโควิดจำนวนมาก และสามารถเป็นพาหะให้ครอบครัวหรือในสถานศึกษาได้ แต่วัคซีนสำหรับเด็กที่มีงานวิจัยออกมารองรับมีเพียงไฟเซอร์ที่ฉีดให้เด็กซึ่งมีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่อีกไม่นาน ซิโนแวคก็จะประกาศอย่างเป็นทางการว่า ฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป
  6. สำหรับคนที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วสามารถเลือก Booster Dose ได้ ว่าจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ (คาดว่าจะเข้าไทยเร็วๆ นี้) 
  7. สำหรับผู้ที่ได้วัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่กับผู้ป่วยโควิดก่อน ไม่ว่าจะทำงานในวอร์ด ในชุมชน หรือในห้องไอซียู เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็น Frontline ป่วยหนักหรือเสียชีวิต
  8. คนคนหนึ่งสามารถติดเชื้อในเวลาเดียวกันถึง 2 ชนิด ในกรณีที่มี 2 เชื้อระบาดอยู่ในชุมชนเดียวกัน และคนคนนั้นได้รับเชื้อพร้อมกัน แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
  9. วัคซีนป้องกันไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ทั้งยังมีความปลอดภัยสูง ดังนั้น อย่ากลัวอาการข้างเคียงของวัคซีน แต่ควรกลัวติดเชื้อโควิดโดยไม่มีวัคซีนเพราะเป็นอันตรายต่อชีวิตยิ่งกว่า
  10. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าไม่มีวัคซีนให้ผู้สูงอายุ แต่บางทีเขาไม่กล้ามาฉีด เพราะเห็นข่าวเห็นผลข้างเคียงแล้วกลัว ทุกคนจึงต้องช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีน นอกจากลดอัตราการเสียชีวิตแล้ว ยังช่วยให้ระบบสาธารณสุขไม่ต้องแบกภาระมากจนเกินไป
    ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
  11. ตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับแอสตร้าเซนเนก้า 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน และปิดท้ายด้วย 5 ล้านโดสในเดือนธันวาคม เป็นตัวเลขที่บอกศักยภาพการฉีดวัคซีนของประเทศ ไม่ใช่การส่งมอบ
  12. กระทรวงสาธารณสุขสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนสูตรวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ผ่านทาง Video Conference เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา วันอังคาร นายกรัฐมนตรีบอกว่า ให้ทบทวนดูอีกหน่อย อย่างไรก็ดี จะรู้คำตอบที่แน่ชัดจากที่ประชุม ศบค. เมื่อนายกฯ เห็นชอบจึงจะประกาศออกไปอย่างเป็นทางการ
  13. ลูกหลานที่ได้โควต้าฉีดวัคซีนก่อน อาจเปลี่ยนโควต้ามาให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายในบ้าน เพราะคนหนุ่มสาวที่ติดโควิดมักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก แต่หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านติดโควิด มีโอกาสสูงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิต
  14. เชิญชวนให้ปักธงหน้าบ้านว่า บ้านนี้ผู้สูงอายุยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้มีตัวเลขที่ชัดๆ เลยว่าชุมชนนี้ขาดกี่คนที่ยังไม่ได้ฉีด หรือลูกหลานจะกตัญญูต่อผู้สูงอายุ พาไปฉีดวัคซีนก็น่าจะช่วยกันได้
  15. สรุปแล้ว แอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นวัคซีนหลักของประเทศ ในเวลานี้ยังเป็นวัคซีนเข็มที่สองที่ช่วยกระตุ้นภูมิให้ผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน บุคลากรด่านหน้าที่ฉีดซิโนแวคไปก่อนหน้านี้ จะได้แอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ Booster Dose 

“ผู้ที่จะได้ฉีดเข็ม 3 ขอให้ใจเย็นๆ นิดนึงนะ เราจะให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่กับคนไข้ ในวอร์ด ในชุมชน ในไอซียู ให้เขาได้ฉีดก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เขาป่วยหรือตาย ดังนั้น ขอความเห็นใจพี่น้องประชาชนเลยนะ ขอให้เขาฉีดก่อนสำหรับ Frontline” ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพกล่าว

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการสลับยี่ห้อวัคซีนและทางเลือกที่แพทย์พิจารณาว่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์หรือระบุได้แน่ชัดว่า เป็นเพราะวัคซีน ปัจจัยด้านสุขภาพ หรือสาเหตุอื่นใด ศ.พญ.กุลกัญญาจึงขอความร่วมมือว่า

“กรณีผู้เสียชีวิต ญาติมักจะไม่ให้ชันสูตร แต่เราอยากชันสูตรศพ ขอความร่วมมือเพราะจะได้เห็นสัญญาณว่า มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตอย่างชัดเจน”​​​​​

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

และเพื่อให้ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเสนอแนวทางทิ้งท้ายว่า

“เชิญชวนให้ปักธงหน้าบ้านว่า บ้านนี้ผู้สูงอายุยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้มีตัวเลขชัดๆ เลยว่า ชุมชนนี้ขาดกี่คนที่ยังไม่ได้ฉีด หรือลูกหลานจะกตัญญูต่อผู้สูงอายุ พาไปฉีดวัคซีนก็น่าจะช่วยกันได้นะครับ"

ที่มา : ประชุมเสวนาวิชาการ "วัคซีนโควิด 19 สำหรับสื่อมวลชน" (15 ก.ค. 64)

related