svasdssvasds

ปี 2025 จีนปักหมุดทั่วโลกว่าจะมี 3.64 ล้านสถานีฐาน 5G เป้าหมายนี้กระทบใคร?

ปี 2025 จีนปักหมุดทั่วโลกว่าจะมี 3.64 ล้านสถานีฐาน 5G เป้าหมายนี้กระทบใคร?

จีนมี 5G ใช้งานแล้วค่อนประเทศ และกำลังพัฒนา 6G ล่าสุดมีข่าวว่า จีนจะติดตั้งสถานีฐาน 5G กระจายทั่วโลก จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.15 ล้าน จะเพิ่มอีก 3 เท่า ภายในปี 2025 ให้เป็น 3.64 สถานีฐาน!

แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ระบุว่า จีนจะมีเครือข่าย 5G ครอบคลุมทุกตำบลและเมืองทั้งหมด รวมถึงหมู่บ้านส่วนใหญ่ภายในปี 2025 และจำนวนสถานีฐาน 5G ต่อประชากร 10,000 คน จะมากถึง 26 สถานี!

ปี 2025 จีนจะเพิ่มสถานีฐาน 5G อีก 3 เท่า เขย่าเน็ตเวิร์กโลก!

สื่อ Chinadaily ระบุข้อความที่ Wang Zhiqin หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน กล่าวไว้ว่า

"ปลายทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน 5 ปี (2021-2025) ฉบับที่ 14 จีนจะสร้างเครือข่าย 5G แบบสแตนด์อโลน (stand-alone 5G network) ที่ใหญ่และกว้างที่สุดในโลก โดยเบื้องต้น เครือข่ายจะครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบในเขตเมืองและชนบท"  

China aims to triple the number of 5G base stations by end-2025

  • 1.15 ล้าน คือ จำนวนสถานีฐาน 5G ที่โอเปอร์เรเตอร์จีนให้บริการแล้วทั่วโลก
  • 22 อุตสาหกรรม ที่ใช้บริการ 5G ของโอเปอเรเตอร์จีนอยู่ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่, การผลิต, บันเทิง, การแพทย์
  • 97 เปอร์เซ็นต์ คือ สัดส่วน 5G ที่ครอบคลุมมณฑลในจีน และ 40% ของเมืองในชนบท
  • 56 เปอร์เซ็นต์ คือ สัดส่วนผู้ใช้งาน 5G ที่จีนคาดการณ์ไว้ในปี 2021 โดยเพิ่มจาก ปี 2020 ที่มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์
  • 3.64 ล้านสถานีฐาน คือ จำนวนสถานีฐาน 5G ที่จีนตั้งเป้าว่าจะกระจายไปทั่วโลกในปี 2025
  • 26 สถานีฐาน คือ จำนวนสถานีที่จีนปักหมุดติดตั้งให้ครอบคลุมประชากรจีนทุกๆ 10,000 คน ณ สิ้นปี 2025 จากปี 2020 ที่มีเพียง 5 สถานีฐาน ต่อประชากร 10,000 คน

ภาพการก่อสร้างสถานีฐาน 5G ในเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน | ที่มา : Xinhuathai

สถานีฐาน 5G เขย่าเน็ตเวิร์กโลกยังไง?

ด้วยประสบการณ์ด้านการสอนและได้ทำแล็บที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G SPRiNG มีโอกาสได้พูดคุยกับ อ้ายจง หรือ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการพัฒนา แนวทางที่จีนใช้ประโยชน์จาก 5G สมรภูมิเน็ตเวิร์ก ตลอดจน TechWar 

อ่านเพิ่ม

-

  • เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ด้าน 5G ในจีน

อ้ายจง : สมัยผมไปทำวิจัยในแล็บที่ซีอาน มหาวิทยาลัยซีเตี้ยน คือแล็บ Wireless communication networks and security, part of State key lab of integrated service network ในปี 2014 ตอนนั้นเขาก็โหมวิจัยด้าน 5G กันหนัก และเริ่มๆ พูดถึง 6G ด้วย แต่ยังเน้นไปที่ 5G

ที่สำคัญ ตลาดผู้บริโภคในจีนที่ใหญ่มากและพร้อมโอบกอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ของบ้านเขาเองครับ ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบ ที่เรียกว่า Nationalism Consume ซึ่งแข็งแกร่งมาก

  • วิเคราะห์ความได้เปรียบ/เสียเปรียบจากศักยภาพของจีนใน TechWar

อ้ายจง : จีนได้เปรียบใน TechWar ถ้าว่ากันตามตรง ผมคิดว่าเป็นในมุมนโยบายจากรัฐบาลเลย คือเขาทำให้เราเห็นแล้วว่า เขาเอาจริงกับนโยบาย Made in China 2025 คือสร้างนวัตกรรมจีน ไม่ใช่แค่ใช้ในจีนแต่ส่งทั่วโลก จีนไม่ใช่แค่โรงงานโลกอีกต่อไป แต่จีนคือผู้ผลิตนวัตกรรมโลกด้วย

เราจึงได้เห็นจีนสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีในจีน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ 5G เพราะมันเป็นรากฐานของเครือข่ายการสื่อสารที่จีนต้องการเอามาเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมล้ำๆ อีก เช่น AI, Robotics และพวกการทำงานอัตโนมัติทั้งหลาย รวมถึงยานยนต์ไร้คนขับ

เทคโนโลยี 5G หนุนอุตสาหกรรมชาในหล่งหนานให้สามารถค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว | ที่มา : Xinhuathai

อ้ายจง : ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ตอน Huawei โดนอเมริกาแบน มันจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลเลย ที่ทางการจีนออกหน้าเต็มๆ และพอจีนรู้จุดด้อยว่า ข้อด้อยจุดใหญ่เลยที่ทำให้ Huawei รวมถึงผู้พัฒนา 5G และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในจีนเจอปัญหาอาจไปไม่สุดแล้วยังต้องพึ่งพาอเมริกา คือการพัฒนาชิป 

ปี 2019 ช่วงที่ Huawei และจีนมีปัญหาหนักๆ กับอเมริกา รัฐบาลจีนจึงออกมาตรการ ยกเว้นและปรับลดภาษีให้แก่บริษัทจีนที่ผลิตชิปและซอฟต์แวร์​ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งยกเว้นภาษีเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นลดภาษี 50% ของอัตราปกติ เป็นเวลาติดต่อกันอีก 3 ปี

อ้ายจง หรือ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่

อ้ายจง : นโยบายปรับลดภาษี​เพื่อผู้ผลิตชิปและซอฟต์แวร์​จีน มีจุดประสงค์​เพื่อกระตุ้นให้จีนสามารถผลิตสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น และไม่ต้องพึ่งพาอเมริกาอีกต่อไป หลังจากที่เกิดสงครามการค้า และบริษัทอุปกรณ์​ไอทียักษ์​ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei โดนอเมริกาและบริษัท​ต่างๆ ในอเมริกาแบน

จีนถือเป็นประเทศ​ที่นำเข้าสินค้าประเภทชิปมากที่สุดประเทศ​หนึ่ง โดยมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจีนรู้จุดด้อย แต่ก็รู้จุดแข็งเช่นกันว่า พร้อมทุ่ม มีงบสนับสนุน จึงเอามากลบจุดด้อย

การทุ่มเทเงินทุนในการวิจัยและการศึกษาของจีน ถือเป็นข้อได้เปรียบใน TechWar ของจีนได้เหมือนกันครับ อย่างตอนที่จีนพัฒนา 5G จนใช้เป็น commercial จีนเองก็ซุ่มศึกษาและพัฒนา 6G แล้ว ซึ่งตั้งแต่ 2018 รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนก็ออกมาเผยต่อสาธารณชนว่า จีนกำลังวิจัยอยู่

ระบบจำลองการขับขี่ด้วยเทคโนโลยี 5G ในการประชุมการขนส่งอย่างยั่งยืนระดับโลกแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 | ที่มา : Xinhuathai

  • สถานีฐาน 5G ที่เพิ่มขึ้น ตอกย้ำว่า จีนพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี 

อ้ายจง : ประเด็น 5G มันไม่ใช่แค่ประเด็นของการทำเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จีนใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศในทุกมิติ

ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์ที่เชื่อมได้อย่างรวดเร็ว และขยับมาที่ชีวิตประจำวัน เราจะได้เห็นอุปกรณ์ต่างๆ ในจีนที่สามารถเชื่อม 5G ได้ครอบคลุมและหลากหลายขึ้น อย่างการทำ IoTs เป็น Smart Home, Smart Office

การให้บริการสาธารณะก็จะเกี่ยวกับ 5G มากขึ้น รวมถึงสาธารณสุข ที่ตอนนี้จีนเริ่มนำมาใช้ในระบบแพทย์ทางไกลแล้ว อย่างรถพยาบาลก็มีติดตั้งระบบวินิจฉัยผ่านทางไกลโดยใช้ 5G เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย

"อย่างที่เราได้เห็นจีนไปตั้งเสาตั้งฐาน 5G ตามเขตชนบท เขตที่ราบสูง เช่น ทิเบต เพราะเขาต้องการให้มันครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เราจึงได้เห็นประชากร 99% เล่นเน็ตผ่านมือถือ"

พูดง่ายๆ ว่า 5G ก้าวมาสู่ทุกสิ่งในจีน รอบตัวเลยครับ มันจะช่วยทำให้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว beyond ขึ้น และที่ขาดไม่ได้ สิ่งที่จีนพยายามอย่างหนักก็พวกปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ พวกนี้ก็ใช้ร่วมกับ 5G แน่นอน ยานยนต์ไร้คนขับก็ด้วย ซึ่งมีการนำร่องไปแล้วที่เซี่ยงไฮ้ แต่ว่าจีนเคยตั้งเป้าไว้ว่า จะให้ยานยนต์ไร้คนขับของจีนบรรลุประสิทธิภาพสูงกว่านี้ ต้องมี 6G โดยจีนตั้งเป้าใช้ 6G เชิงพาณิชย์ภายในปี 2030 หรืออีก 9 ปีต่อจากนี้ครับ

ที่มา

related