svasdssvasds

สะท้อนความเชื่อชายเป็นใหญ่ผ่านละครเลือดข้นคนจางที่ยังไม่หมดไปในสังคม

สะท้อนความเชื่อชายเป็นใหญ่ผ่านละครเลือดข้นคนจางที่ยังไม่หมดไปในสังคม

ถ้าย้อนไปปี 2561 ละครหรือซี่รีย์ไทยที่สร้างปรากฎการณ์ถนนโล่ง หลายคนอาจมีชื่อ “เลือดข้นคนจาง” มาเป็นลำดับแรก ทั้งประโยคยอดนิยมติดหูอย่าง “พูดออกมาได้เฮงซวย” หรือ “ใครฆ่าประเสริฐ” ก็ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์จนถึงวันอวสานเรื่อง

ละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง ผลิตโดย Nadao Bangkok
ดารารุ่นเก๋าและดาราหน้าใหม่ดาวรุ่งโคจรมาเจอกันในเรื่องนี้อย่างอัดแน่นก็ยิ่งช่วยให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชมจำนวนมากอยู่แล้ว แต่บทและเนื้อหาในเรื่องที่สมจริงบอกเล่าเรื่องราวครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนออกมาได้อย่างน่าประทับใจและมีการสอดแทรกการปรับตัวและวิธีคิดร่วมสมัยที่ได้ผลัดเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น เสื้อผ้าหน้าผม หรือ ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาของตัวละครรุ่นลูกและหลานในเรื่องก็ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมหลายๆ อย่างได้มีการเปลี่ยนแปลงและไม่เคร่งครัดแบบแต่ก่อน 

 

แต่มีความเชื่อหนึ่งที่ยังคงถูกนำเสนอและเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำพาเหตุการณ์ฆาตรกรรมตามมาคือ ค่านิยมความเชื่อเรื่อง ชายเป็นใหญ่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างตัวละคร 

 

Miller (1995) ได้อธิบายว่า ค่านิยม เป็นเจตคติและความเชื่อที่ฝังลึกในชีวิตของบุคคลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลในทุกด้าน จากพฤติกรรมที่เห็นได้ง่าย อาทิเช่น การแต่งกายไปจนถึงพฤติกรรมที่ซับซ้อน อาทิเช่น การแสดงความคิดเห็น การเลือกคู่ครอง ความยุติธรรม เป็นต้น (Miller, M. A. (1995). Culture, spirituality. Boston: McGraw-Hill.)

 

โดย ค่านิยม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง ชายเป็นใหญ่ ในละครเลือดข้นคนจางนั้น จากงานวิจัย แนวคิดทฤษฎีการเล่าเรื่องกับ ค่านิยมคนไทยเชื้อสายจีน ในละครโทรทัศน์ เรื่อง เลือดข้นคนจาง ประกอบด้วย

 

  • ค่านิยมอันเกิดจากศาสนาและความเชื่อ 

ตัวอย่างจากฉากงานศพอากง หรือ งานกงเต๊ก เป็นงานที่แสดงความกตัญญูของลูกหลานและญาติพี่น้องในครอบครัว โดยในงานจะมีการเรียงแถวทำความเคารพศพอากง โดยเรียงลำดับจากลูกของลูกชายในตระกูลก่อนซึ่งจะเรียกว่า “หลานใน” แม้ว่าลูกสาวเป็นพี่ แต่ถ้าเป็นลูกของลูกสาวจะถือว่าเป็น “หลานนอก” ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะเชื่อว่าลูกสาวที่แต่งงานออกไปมีลูกเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีแล้ว จะถือว่าไม่ได้ สืบสายสกุล ของบรรพบุรุษต่อ 

  • ค่านิยมด้านความรัก

ในละครจะมีให้เห็นในด้านของครอบครัว ความรักหนุ่มสาว และความรักระหว่างพี่น้อง ในฉากแรกๆ ของเรื่องจะย้อนไปให้เห็นว่า อาม่าคีบกุ้งให้แต่กับลูกชายคนโตและคนรอง ส่วนลูกสาวไม่ได้กินแบบนั้น จนกลายเป็นปมในใจสืบเนื่องมา สร้างปัญหาให้กับตัวละครจนเป็นสาเหตุเบื้องหลังของโศกนาฏกรรมของเรื่อง เพราะไม่ได้รับความยุติธรรม โดยหลานชายคนโตของตระกูลจะได้รับให้เป็น “ตั่วซุง” ซึ่งถือเป็นลูกชายคนสุดท้ายของอากง และมีส่วนได้ส่วนเสียในมรดกก้อนใหญ่ของตระกูล

  • ค่านิยมเรื่องเพศ 

ลูกชายได้สืบทอดกิจการ ได้รับมรดกมากกว่า ลูกสาวแม้จะแบกความผิดชอบอย่างหนักมาตลอด 20 กว่าปี ก็ไม่มีสิทธิอย่างสมน้ำสมเนื้อตามหน้าที่ แม้คนในครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับ เพราะเชื่อว่าลูกชายจะเป็นพึ่งพิงยามแก่เฒ่าให้กับพ่อแม่

 

ทั้งนี้เพิ่งผ่านช่วง เทศกาลตรุษจีน มาไม่นาน ในโลกออนไลน์ก็มีการแชร์รูปคลิปถึงการแจกอั่งเปาที่ญาติผู้ใหญ่เป็นคนให้แก่หลานๆ ในครอบครัว โดยหลานสาวได้ออกมาโพสว่า เมื่อเปิดซองอาม่า “หลานผู้ชายได้30,000 บาท หลานผุ้หญิงได้เงิน 2,000 บาท” ทั้งนี้มีคอมเมนต์จากผู้ชมที่มีคนกดไลค์เป็นท็อปคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นต่อว่า “แต่เวลาใช้งาน ใช้งานหลานผู้หญิง” 

คลิปที่มีการแชร์บน Tik tok เรื่องอั่งเปาของหลานชายและหญิง

ซึ่งก็ตรงกับค่านิยมที่ละคร เลือดข้นคนจาง นำเสนอออกมาในเรื่องของการยึดถือคติรักลูกชายมากกว่าลูกสาว โดยจะเห็นได้ชัดในกรณีนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1979 ภายใต้รัฐบาล เติ้งเสี่ยวผิง ได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อปี 2016 แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลทางเพศของประชากรตามมา เพราะครอบครัวคนจีนส่วนใหญ่นิยมมีลูกชายมากกว่าลูกสาว 

นอกจากส่งผลกระทบด้านอัตราการเกิดและจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศจีนออกมาโจมตีว่าเป็นการละเมิดทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชน 

โดยใน ละครเลือดข้นคนจาง นี้ก็ได้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าและพัฒนาการของตัวละครในตอนท้ายเรื่องที่หลังจากผ่านเหตุการณ์สูญเสียและสะสางความไม่ลงรอยกันภายในครอบครัวได้แล้ว เรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศนี้ก็ดูจะคลี่คลายลงได้ และเห็นทิศทางที่ดีที่คนในรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น สร้าง อำนาจต่อรองให้ผู้หญิง ในครอบครัว

ที่มา

http://journalgrad.ssru.ac.th/index.php/8thconference/article/view/1952 
https://huso-journal.sskru.ac.th/index.php/m1/article/view/111 
https://www.bbc.com/thai/international-57306729 
https://www.silpa-mag.com/history/article_72250 

 

 

related