svasdssvasds

Sex Education ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เคารพและเปิดรับความหลากหลาย

Sex Education ที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เคารพและเปิดรับความหลากหลาย

ความล้มเหลวของ Sex Education ไทย ถึงเวลาที่เราต้องเปิดใจ พูดคุยกันอย่างเปิดอก เพื่อปรับทัศนคติ ร่วมแก้ปัญหาเพศศึกษากันอย่างจริงจัง ผ่านม่านแห่งมายาคติที่บดบังการยอมรับและความเข้าใจ ทำให้การพูดเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่สร้างสีสันแต่คือการเรียนรู้ร่างกายและจิตใจซึ่งกัน

บทเรียนแรกในการเริ่มพูดคุยเรื่องเพศเริ่มต้นที่บ้าน พ่อแม่ควรปรับทัศนคติให้มองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิด ทั้งนี้พ่อแม่ต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก โดยผ่านการทำกิจกรรมและใช้เวลาร่วมกันเพื่อสร้างความไว้ใจและทำให้เปิดใจเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหา โดยเน้นเรื่องการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเท่าทันอารมณ์ทางเพศของตัวเอง 

 

ซึ่งการสอนควรคำนึงถึงเวลาที่เหมาะสมตามพัฒนาการทางเพศ เมื่อลูกถามก็ควรอธิบายตรงๆ ตามจริง แทนการบ่ายเบี่ยงหรือทำให้กลัว โดยสามารถใช้โอกาสที่ดูซีรี่ย์ร่วมกันเป็นบทเรียนในการสอนเรื่องเพศศึกษาและการแสดงความรักไปด้วยได้พร้อมกัน
 

แม้ว่าอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี จำนวนมากที่เริ่มมีบุตรในช่วงอายุนี้ ข้อมูลในปี 2015 ชี้ว่าอัตราการคลอดบุตรเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 49 ครั้งต่อเด็กผู้หญิง 1,000 คน

สถิติการตั้งครรภ์ในเด็กอายุระหว่าง 15-19 ปีในประเทศไทยจาก ธนาคารโลก

ภาพประกอบครอบครัวจาก Freepik

ในปี 2562 กรมอนามัยได้บันทึกข้อมูลสถิติและพบว่า มีการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 63,831 คน 

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ว่ามีกลุ่มสตรีโทรมาขอรับบริการปรึกษาที่ 1663 เกี่ยวกับ ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม มากถึง 4,461 คน หรือโดยเฉลี่ย 149 คนต่อวัน (ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

 

เรื่องเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องของ “การมีเพศสัมพันธ์” เท่านั้น
แต่คือการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่ครอบคลุมทุกมิติและประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศหลากหลายด้าน

 

1. ด้านการพัฒนามนุษย์ เช่น เรื่องของการสืบพันธุ์ อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ

2. ด้านสุขภาพทางเพศ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การรักษาความสะอาด

3. ด้านความสัมพันธ์ เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพที่คนเราควรมีต่อกัน ความสัมพันธ์แบบโรแมนติกการออกเดท การเคารพในร่างการของผู้อื่น

4. ทักษะส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การเจรจาต่อรองหรือการตัดสินใจที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ การทำความเข้าใจในตัวเองก่อนมีเพศสัมพันธ์ ความพร้อมด้านต่างๆ

 

วิชาเพศศึกษาคือการสอนในเชิงวิชาการมากกว่าวิธีปฏิบัติในชีวิตจริง ครูผู้สอนยังมีความเขินอายในการสื่อสาร และให้ความรู้แบบไม่ครบทุกมิติ จึงทำให้เยาวชนไม่เข้าใจคำว่า “safe sex” และไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเพศศึกษาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเคารพตนเอง และความเข้าใจในสิทธิขั้นพื้นฐานของทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์  5 ประการคือ

 

1. เพศศึกษาเป็นเกราะป้องกัน สร้างความปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

2. เมื่อเราเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษามากเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะกล้าปฏิเสธได้มากขึ้นเท่านั้น

3. เพศศึกษาช่วยให้เรากลายเป็น Good boy & Good girl เคารพซึ่งกันและกัน

4. เพศศึกษาช่วยให้ทุกคนยอมรับและเข้าใจความแตกต่าง เคารพความหลากหลายทางเพศ ทั้งเพศสภาพและรสนิยมทางเพศ

5. เพศศึกษาช่วยรักษาศีลธรรมได้    

 

แล้วพ่อแม่จะคุยกับลูกเรื่องเพศศึกษาเมื่อไหร่และอย่างไร โดยหากแบ่งเป็นช่วงอายุ สามารถมีวิธีการพูดคุยกับลูกได้ดังนี้

เด็กอายุ 0-3 ขวบ

พ่อแม่สอนให้รู้จักและหน้าที่ของอวัยวะต่างของร่างกาย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า หน้า แขน ขา รวมไปถึงอวัยวะต่างเพศ และการจับอวัยวะเพศของเด็กวัยนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ควรสอนให้รู้จักกาละเทศะที่เหมะสม

เด็กอายุ 3-5 ขวบ

พ่อแม่สามารถเริ่มต้นสอนให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพศศึกษาบ้าง เช่น ขอบเขตในการแตะเนื้อต้องตัวทั้งของตัวเองและคนอื่น และต้องรู้จักปกป้องตัวเอง อย่ายอมให้คนอื่นมาจับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วย หากเราไม่ได้ยินยอม โดยเฉพาะอวัยวะเพศ 

เด็กอายุ 5-8 ขวบ

เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศสภาพ เพื่อไม่เกิดการแบ่งแยก หรือเหยียดความเป็นตัวตนของผู้อื่น หรือแม้กระทั่่งในตอนที่ลูกของคุณโตขึ้นและมีทางเลือกในเรื่องเพศที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ก็สร้างสามารถสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็มีคุณค่าและได้รับความรัก

เด็กอายุ 8-10 ปี

ลูกๆ เริ่มมีโลกส่วนตัวของตัวเอง เริ่มสนิทกับเพื่อนและเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากคนในชั้นเรียนแทนการฟังหรือเล่าให้พ่อแม่ฟังเหมือนเดิม แต่ก็ยังสามารถคอยให้ข้อมูลและสอนหรือสอนเมื่อมีโอกาส 

เด็กอายุ 9-12 ปี

ในวัยนี้กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในหลายๆอย่าง เช่น เริ่มมีการหลั่งฮอร์โมนเพศ และอวัยวะเพศเริ่มมีการทำหน้าที่ในการเจริญพันธ์ เด็กๆ บางคนอาจมีการเปรียบเทียบรูปร่างของตนเองและคนอื่นๆ และที่สำคัญเริ่มมีความรักเกิดขึ้น หน้าที่ของพ่อแม่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกถึงความปกติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยเริ่มสอนให้รู้จักถูกผิดในเรื่องของเพศสัมพันธ์ และที่สำคัญต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็นถ้ามีใครพยายามชักชวน หรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงคุยกันเรืองผลกระทบที่จะตามมาทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ โรคติดต่อ และสภาพจิตใจด้วย

เด็กอายุ 13-18 ปี

เด็กวัยนี้เริ่มมีความรู้พื้นฐานเรื่องเพศศึกษาเบื้องต้นแล้ว โดยสามารถเปิดประเด็นเรื่อง เราสามารถมีความสุขในการมีความสัมพันธ์ และ แบ่งปันประสบการณ์ทางเพศแก่พวกเขาได้ 

 

ความก้าวหน้าที่น่ายินดีล่าสุด คือ คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ตั้งแต่  พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. ปัจจุบัน ได้โพสถึงความสำเร็จหลังจากการต่อสู้มากว่า 2 ปี ไว่ว่า มีการเพิ่มเติมแก้ไขตำราแบบเรียนสุขศึกษาและพลศึกษา ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งหมด 12 ชั้นเรียน ในส่วนที่เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศทุกมิติ ตอนนี้สมบูรณ์แบบแล้ว 100% และพร้อมใช้ในเทอมการศึกษาใหม่ที่จะถึงนี้ พฤษภาคม 2562 ซึ่งจากเดิมในหนังสือสุขศึกษา ม.1 มีข้อความใช้คำว่า “พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ นับว่าเป็นพฤติกรรมผิดปกติทางเพศ” ก่อนหน้านี้

 

โดยถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญ ที่เริ่มมีการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศกันขนานใหญ่เพราะนิยามทางภาษานั่นมีส่วนในการกรอบแนวคิดที่เรามีต่อภาคส่วนของสังคม การยอมรับความแตกต่างและความผิดพลาดของระบบการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่ผ่านมา จะเป็นประตูด้านแรกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมมองอื่นๆ เรื่องเพศต่อไป เพื่อทลายกรอบความคิดที่กดทับและสร้างภาพให้เรื่องเพศกลายเป็นตัวร้าย ทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ สามารถหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันได้อย่างสร้างสรรค์และเปิดเผยโดยไม่ถูกตีตราว่าหมกหมุ่นและเป็นคนทะลึ่ง ลามกเท่านั้น

 

ที่มา

1 2 3 4 5

related