svasdssvasds

AQ (เอคิว) ทักษะในการปรับตัว สกิลที่สำคัญในโลกวันนี้

AQ (เอคิว) ทักษะในการปรับตัว สกิลที่สำคัญในโลกวันนี้

ทำความรู้จัก AQ (เอคิว) Adaptability Quotient สกิลในการปรับตัว และแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในโลกวันนี้และอนาคต

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า IQ หรือ Intelligence Quotient ความฉลาดทางด้านสติปัญญา และ EQ หรือ Emotional Quotient ความฉลาดทางด้านอารมณ์ แต่โลกในวันนี้ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการพูดถึงสกิลที่เรียกว่า AQ (เอคิว) มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว AQ คืออะไร ? SPRiNG ขอสรุปและเล่าสู่กันดังต่อไปนี้

1. AQ สกิลที่สำคัญในโลกวันนี้

SPRiNG ขอเล่าถึงที่มาในการนำเสนอเรื่องนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ คุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยคุณท๊อปได้พูดถึง AQ สกิลที่สำคัญในโลกวันนี้และอนาคตได้อย่างน่าสนใจมาก

“AQ เป็นสกิลเซ็ตที่สำคัญมากของโลกอนาคต ไม่ใช่แค่ผู้นำอย่างเดียว AQ ย่อมาจาก Adaptability Quotient ไม่ใช่ IQ หรือ EQ ที่จะประสบความสำเร็จอีกต่อไป

AQ คือ ความสามารถในการปรับตัว ที่จะต้อง Unlearn สิ่งเก่าๆ และก็ Relearn สิ่งใหม่ๆ เพราะเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

“คนที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเก่าๆ เรียนรู้ตลอดเวลา กล้าที่จะศึกษาสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป ก็จะได้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นสกิลที่ผมคิดว่าทุกคนจำเป็นต้องมี เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่ต้องขับเคลื่อนด้วย Digital Economy มากขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้ประกอบการ ต้องเข้ามาศึกษาโอกาสใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะว่าโลกเปลี่ยนไป โอกาสของโลกธุรกิจก็เปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป Value ของลูกค้าก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผมจึงคิดว่า AQ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และไม่ใช่สำคัญกับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่สำคัญกับทุกคนในองค์กร”

ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

บทความที่น่าสนใจ

2. AQ กับทฤษฎีวิวัฒนาการ

หลังจากสัมภาษณ์คุณท๊อป SPRiNG ก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AQ ทั้งในความหมาย Adaptability Quotient ความฉลาดในการปรับตัว และ Adversity Quotient ความฉลาดในการแก้ปัญหา แต่เมื่ออ่านรายละเอียดแล้ว ก็พบว่ามีความหมายในทิศทางเดียวกัน โดยวัตถุประสงค์หลักก็คือการใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อความสำเร็จในชีวิต

สอดคล้องกับคำกล่าวของ ชาลส์ ดาร์วิน ผู้นำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่ว่า “It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most adaptable to change.”

“ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด สามารถอยู่รอดได้ แต่คือผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ที่จะอยู่รอด”

AQ : Adaptability Quotient

3. กรณีศึกษา การประเมิน AQ ที่น่าสนใจ

ในหัวข้อสุดท้ายนี้ SPRiNG ขอนำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจของ Natalie Fratto ที่ได้มาบอกเล่าประการณ์บนเวที TED Talk ถึงการคัดสรรสตาร์ต-อัพ ที่สมัครขอเงินลงทุนจากกองทุนที่เธอบริหาร โดยเธอได้แบ่งปันเทคนิคในการประเมิน AQ ของเหล่าผู้สมัคร ดังนี้

(1) ตั้งคำถาม “สมมติถ้า....”

เธอเล่าว่าผู้บริหารโดยทั่วไป อาจให้ความสำคัญกับโปร์ไฟล์ของผู้สมัคร เช่น จบจากสถาบันชั้นนำหรือไม่ ? เคยผ่านงานจากบริษัทที่มั่นคงมาไหม ? แต่เธอเลือกโฟกัสไปที่การปรับตัวและรับมือกับปัญหาที่คาดไม่ถึง ด้วยการตั้งคำถามกับผู้สมัคร “สมมติถ้า....” เช่น สมมติถ้าแหล่งรายได้หลักหายไปในชั่วข้ามคืน พวกเขาจะมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร ?

(2) ความสามารถในการ Unlern ความรู้เดิม เพื่อ Relern ความรู้ใหม่ๆ

การไม่ยึดติดความรู้เดิม ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว เป็นอีกคุณสมบัติที่เธอคิดว่าสำคัญยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการกล้าที่จะปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

โดยเธอได้ยกตัวอย่าง มหาตมะ คานธี อดีตผู้นำอินเดียที่ยิ่งใหญ่ จากข้อเขียนของเขาที่ว่า “ฉันต้องลดตัวตนของฉันให้เหลือศูนย์...” ในหนังสืออัตชีวประวัติ ที่แสดงให้เห็นว่า คานธีเป็นผู้ที่มี AQ สูงมาก และก็เป็นอีกคุณสมบัติสำคัญที่ Natalie Fratto ใช้ในการประเมินผู้สมัคร

(3) มองหาผู้ที่มีความเป็น “นักสำรวจ”

Natalie Fratto ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างนักสำรวจ กับนักแสวงหาผลประโยชน์ โดยได้ยกตัวอย่าง เหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 2000 ว่า ชายคนหนึ่งได้เข้าประชุมกับซีอีโอบล็อกบัสเตอร์ ธุรกิจให้เช่าวีดีโอระดับบิ๊กเบิ้ม โดยเขาได้ยื่นข้อเสนอขอเป็นหุ้นส่วน ในการบริหารธุรกิจออนไลน์ของบล็อกบัสเตอร์ แต่ก็ถูกซีอีโอบล็อกบัสเตอร์ปฏิเสธ

โดยชายคนหนึ่งคนนั้นก็คือ Reed Hastings ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Netflix ในเวลาต่อมา ส่วนบล็อกบลัสเตอร์ได้ยื่นล้มละลาย เมื่อ ค.ศ. 2010 เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจได้

Natalie Fratto กล่าวว่า แนวคิดการหาผู้ร่วมลงทุนของซีอีโอบล็อกบัสเตอร์ เน้นการแสวงหาผลประโยชน์เป็นสำคัญ แต่ไม่ได้สนใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่ Reed Hastings เสนอแนวทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มโลก เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนให้ถึงความเป็นนักสำรวจและคุณสมบัติด้าน AQ ของ Reed Hastings ได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง

3 ways to measure your adaptability -- and how to improve it | Natalie Fratto

Work is constantly changing, and to succeed you need to change with it. The good news is you can become more adaptable.

related