svasdssvasds

เปิดประวัติ "วัดพระยาทำวรวิหาร" วัดเก่าแก่นับร้อย ๆ ปี

เปิดประวัติ "วัดพระยาทำวรวิหาร" วัดเก่าแก่นับร้อย ๆ ปี

ด้วยความเก่าแก่ ของ หอระฆังโบราณ วัดพระยาทำวรวิหาร ทำให้ทางวัดได้มี โครงการงานบูรณะเจดีย์หอระฆัง โดยได้เริ่มดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 เดือน เนื่องจากตัวเจดีย์ทรงหอระฆัง ได้เกิดการเอียง จึงแจ้งให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ

ประวัติ วัดพระยาทำวรวิหาร

วัดพระยาทำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อว่าวัดนาค คู่กับวัดกลาง

วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด เดิมชื่อว่า "วัดนาค" เป็นวัดพี่น้องคู่กับ "วัดกลาง" ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย โดย "วัดนาค" อยู่ฝั่งเหนือ "วัดกลาง" อยู่ฝั่งใต้

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสันนิษฐานกันว่า วัดนาคนี้สร้างขึ้น สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในต้นรัชกาลที่1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยมีเรื่องให้รวมวัดนาคกับวัดกลาง เข้าด้วยกัน พระพุทธจารย์ (อยู่ ) วัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆัง ปรึกษากับพระธรรมธีรราชมหามุนี(ชื่น) วัดหงส์รัตนาราม แล้วนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า วัดนาคกับวัดกลาง มีอุปจารย์ใกล้กัน จึงควรมีพุทธสีมาเดียวกันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงมีพระราชดำรัสให้พระราชาคณะประชุมพิจารณาวินิจฉัยกันในที่สุดพระราชาคณะมีมติเป็นเอกฉันว่าวัดทั้งสองนี้มีคลองขั้นเป็นเขตอยู่ จึงไม่ควรที่จะให้พุทธสีมาร่วมกัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายก รับบูรณะปฏิสังขรณ์ แบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนาเป็นวัดหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "วัดนาค" เป็น "วัดพระยาทำวรวิหาร" หมายถึงเจ้าพระยารัตนาธิเบศสร้างขึ้น

ในรัชการที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมทั้งวัดอีกครั้งหนึ่ง จนมีสภาพถาวรมั่นคงมาถึงรัชการที่ 5 พระอุโบสถ และเสนาสนะต่างๆ เริ่มชำรุดทรุดโทรมลง พระครูสุนทรากษรวิจิตร (แจ้ง) เจ้าอาวาสร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พระอุโบสถหลังนี้ ฐานมีลักษณะตกท้องช้างหรือหย่อนท้องสำเภา เป็นศิลปะคล้ายศิลปะอยุธยา มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ หน้าบันเป็นลายพระอินทร์ประทับอยู่บนช้างเอราวัณ มีช่อฟ้าใบระกา ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นงานปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก ประตูหน้าต่างภายในเขียนเป็นลายภาพทวารบาล ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของเจดีย์คูหา 2 องค์ ภายในเป็นที่ตั้งของหลวงพ่อคูหาศักดาเดช หลวงพ่อคูหาศักดาเดชองค์นี้เป็นพระคู่วัดคู่บ้านมานานจนหาประวัติไม่ได้ และศักดิ์สิทธิ์มากเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป

ส่วนเจดีย์คูหาด้านใต้องค์นี้ ชาวบ้านเรียกันว่าเจดีย์ยักษ์ ซึ่งเจดีย์องค์นี้ เป็นรูปนาค 8 ตัว คชสาร 8 ตัว ยักษ์ 4 ตน ครุฑจับนาค 4 ตัว เทพนม 8 องค์ จัดเป็นเจดีย์มีทรวดทรงงดงามและแปลกตามาก มีผู้สันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้เป็นหอระฆังมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้ชำรุดทรุดโทรมไปมากควรแก่การบูรณะ

ปัจจุบัน ลักษณะพื้นที่ของเขตวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ แบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง (ประมาณครึ่งหนึ่ง) แบ่งให้ทางราชการสร้างโรงเรียนอยู่ทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ และให้ประชาชนอยู่อาศัย

[gallery columns="2" size="large" ids="352853,352854,352855,352856"]

ขอบคุณข้อมูล กรมศิลปากร , เว็บไซต์ รักบ้านเกิด

related