svasdssvasds

อย.-กสทช.รุกคืบ สกัดกั้นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง

อย.-กสทช.รุกคืบ สกัดกั้นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง

อย.-กสทช. วางแนวรุกขยายทั่วประเทศ จัดการปัญหาโฆษณาเกินจริงได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา พร้อมรุกคืบพื้นที่ต่อไปทางภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยที่สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแลการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้ การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี

นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ทาง กสทช. จึงได้ร่วมกับ อย. ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นใน สำนักงาน กสทช. โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมานั่งทำงานร่วมกัน เมื่อมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบ การกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน ซึ่งถือว่าเร็วมาก และสามารถพิจารณาวินิจฉัยข้อร้องเรียนหรือกรณีการโฆษณาผิดกฎหมายที่ตรวจพบได้เป็นจำนวนมาก

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2561 มากถึง 529 คดี -อาหาร 361 คดี

-ยา 81 คดี

-เครื่องมือแพทย์ 13 คดี

-เครื่องสำอาง 74 คดี

โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแถลงข่าวและจัดประชุมผู้รับผิดชอบงานด้านโฆษณา เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง สำนักงาน กสทช. ภาคและเขต และในวันนี้ (วันที่ 18 ตุลาคม 2561) ได้มีการขยายรูปแบบการทำงานดังกล่าวลงสู่พื้นที่เขตจังหวัดภาคใต้และประจวบคีรีขันธ์ โดยคาดหวังให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างบูรณาการ เป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด ภายใต้วิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศในโอกาสต่อไป

related