svasdssvasds

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ดำรง พุฒตาล สื่อมวลชนอาวุโส อดีตสมาชิกวุฒิสภา เล่าถึงปัญหาในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา หากไม่มีการปรับเปลี่ยนไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม จะเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของสถานีรถไฟอยุธยา รวมถึงจะส่งผลกระทบกับ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก

โดยดำรงได้ถ่ายทอดผ่านทางสปริงนิวส์ดังต่อไปนี้

เมื่อช่วงวันหยุดลองวีคเอนด์ ผมได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนคือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านผมอยู่บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ที่เคยเป็นราชธานี

ทุกเช้าผมจะไปออกกำลังกายในสวนสมเด็จย่า และได้พบปะเพื่อนฝูง คนรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาก็เล่าให้ฟังว่า จะมีการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง (ความเร็ว 250 กม./ชม.) โดยใช้งบประมาณ 1.47 แสนล้านบาท

ทางรถไฟเส้นนี้จะผ่านสถานีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเกาะเมืองอยุธยา แต่อย่าลืมว่า องค์การยูเนสโกประกาศให้ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” เป็นมรดกโลกซึ่งคำว่ามรดกโลกมีคุณค่าและมีความหมายเป็นอย่างมาก

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

จากการพูดคุยกันทำให้ผมทราบว่า เมื่อมีทางรถไฟความเร็วสูงผ่าน ก็จะต้องสร้างอาคารสูงคร่อมสถานีรถไฟเดิม (สถานีรถไฟอยุธยา) ซึ่งอาคารที่จะสร้างใหม่นี้ จะสูงประมาณ 45 เมตร หลังจากนั้นก็จะทำเป็นสกายวอล์ค เข้าไปถึงตลาดเจ้าพรหม และไปบริเวณเกาะเมืองอยุธยา หรือบริเวณมรดกโลก แล้วผมก็ได้ยินมาว่า จะมีการขยายถนนหน้าสถานีรถไฟเป็น 6 เลน

โดยที่ดินบนเกาะเมืองอยุธยา หรือบริเวณรอบๆ จะเต็มไปด้วยวัดร้าง ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ดินของเอกชนและประชาชนทั่วไป

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เมื่อมีการขยายถนน ก็จะรุกล้ำเข้าไปในเขตวัดร้าง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก

และในส่วนของสถานีรถไฟอยุธยาเดิม ที่จะสร้างอาคารสูงคร่อมนั้น ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยสถานีดังกล่าวสร้างตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้มีการปรับปรุง โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ

จากการพูดคุยกันจึงมีข้อเสนอแนะว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเปลี่ยนไปสร้างอาคารสูงที่สถานีบ้านม้า หรือสถานีบ้านภาชี ซึ่งที่ดินบริเวณข้างเคียงเป็นท้องนา อยู่ห่างจากสถานีรถไฟอยุธยา เกาะเมืองอยุธยา รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไปประมาณ 3 กิโลเมตรกว่า

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

โดยผมคิดว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงวัฒนธรรม , สำนักนายกรัฐมนตรี , กรมศิลปากร , จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก

หรือในส่วนของหน่วยงานที่ดูแลโครงการ อย่าง กระทรวงคมนาคม ก็ต้องศึกษาว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ก็เพราะมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เป็นแม่แบบของสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอู่ทองทรงเลือกบริเวณนี้เป็นพระนคร ก็เพราะมีชัยภูมิที่เหมาะสม มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นราชธานีถึง 417 ปี จึงมีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

ดังนั้นในการพัฒนาต่างๆ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วย ก็คือการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และในความเห็นของผมจากกรณีนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ก็คือหน่วยงานราชการ รวมถึงรัฐบาล ที่ต้องมีจิตสำนึก เข้าใจและเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน ไม่ใช่มุ่งแต่สร้างทาง สร้างถนน สร้างอาคาร แล้วทำลายของดีของเรา ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก

ก็ได้แต่แสดงความคิดเห็นของผมอย่างนี้แหละครับ เป็นเพียงความคิดเห็นของคนคนหนึ่ง โดยที่ผ่านมาผมได้พูดเสมอว่า แม้ผมเคยเป็นโฆษก เป็นพิธีกร เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อหมดหน้าที่ บทบาทก็จบไป แต่สิ่งหนึ่งที่ลบล้างออกไปไม่ได้ก็คือความจริงที่ว่า ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ และเป็นคนพระนครศรีอยุธยา

ซึ่งในฐานะที่ผมได้มีโอกาสไปประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก และได้ทราบว่าโบราณสถานหลายแห่งที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้ว แต่ขาดการดูแล ปล่อยให้มีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใกล้ๆ จึงถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก โดยผมเชื่อว่า ไม่มีใครต้องการให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา

ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับดูแลโบราณสถาน นำประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้มาเป็นแบบอย่างในการศึกษา อาทิ เยอรมนี และ อียิปต์ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกทิศถูกทาง และสามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้อีก ให้ดำรงคงอยู่สืบไป

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าจากดำรง : สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา ต้องสร้างอย่างไม่ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์

related