svasdssvasds

ลุ้น ม.44 ปฏิรูปทางเดินรถ จับตาประมูล 269 เส้นทาง กทม.-ปริมณฑล

ลุ้น ม.44 ปฏิรูปทางเดินรถ จับตาประมูล 269 เส้นทาง กทม.-ปริมณฑล

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

จับตาการประมูลเป็นกลุ่มเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะ 269 เส้นทางในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล เอื้อเอกชนรายใด ล่าสุด “อาคม” สั่งศึกษาข้อดีข้อเสียกรณีจะเสนอใช้ ม.44 ปรับเส้นทางเดินรถหวั่นกระทบวงกว้าง ฟากสมาคมรถร่วมเอกชนเล็งบุกหารือบิ๊กตู่ถามความชัดเจนเรื่องการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ลุ้น ม.44 ปฏิรูปทางเดินรถ จับตาประมูล 269 เส้นทาง กทม.-ปริมณฑล

 

แหล่งข่าวระดับสูงของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ช่วงก่อนนี้ได้ประกาศใช้ ม.44 โยกรถโดยสารร่วมเอกชนออกมาจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปสังกัดกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วนั้น ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้ศึกษาข้อดีข้อเสียในการที่จะเสนอใช้มาตรา 44 บังคับใช้ปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะจากการดำเนินการปฏิรูปรถโดยสารสาธารณะของ ขบ. ในครั้งนี้ โดยหากจำเป็นที่จะใช้ ม.44 จะต้องมีรายละเอียดแนบไปกับการนำเสนอให้ชัดเจน โดยเฉพาะเส้นทางเดินรถ ขสมก. ประมาณ 50% นั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ประสบภาวะขาดทุนอีก การประชาสัมพันธ์เส้นทางใหม่ให้ประชาชนรับทราบได้อย่างไร และสัญญาจะโอนถ่ายกันอย่างไร

 

“ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่า ได้มีการแยกกันระหว่างผู้กำกับดูแลกับผู้ให้บริการ การปรับโครงสร้างในการกำหนดเส้นทางและการตอบสนองอย่างมีความยืดหยุ่นมากขึ้นสามารถตอบสนองการเปลี่ยนไปของเมืองและโครงข่ายรถไฟฟ้า โดยไม่มีการยึดติดกับ 269 เส้นทาง เพราะเส้นทางสามารถปรับได้ตลอดตามความจำเป็นจึงสามารถยืดหยุ่นให้กับผู้ประกอบการได้”

 

ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะที่ปฏิรูปใหม่จะครอบคลุม 5 พื้นที่ คือ พื้นที่โซนเขียว เหลือง แดง นํ้าเงิน และม่วง โดยจะเริ่มเปิดให้บริการนำร่อง 8 เส้นทางในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคยก่อนที่จะประกาศใช้บริการครบทั้ง 269 เส้นทาง นอกจากนั้นยังจะมีการแบ่งกลุ่มรถที่วิ่งให้บริการแต่ละโซนพื้นที่นั้น ๆ ออกมาเป็นกลุ่ม อาทิ โซนสีแดง พื้นที่ทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร จะมีทั้งรังสิต ปทุมธานี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยเสนอให้มีการประมูลเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่ม 1 จำนวน 10 เส้นทางก็จะมีการประมูลทั้งกลุ่ม โดยกำหนดเพียง 1-2 ผู้ประกอบการเท่านั้น หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องปรับเส้นทางก็สามารถปรับได้ทันทีโดยไม่กระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการราย อื่น ๆ อีกทั้งยังเกิดทางเลือกในการเดินทางได้อีกทางหนึ่งด้วยและยังสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนของเมือง

 

“การประมูลเป็นกลุ่มจะเป็นการยกระดับมืออาชีพของการประกอบการได้อีกระดับหนึ่ง โดย 1 เส้นทางผู้ประกอบการรายนั้น ๆ จะต้องมีรถให้บริการไม่น้อยกว่า 200 คัน มีแผนการเดินรถชัดเจน มีระบบตั๋วให้บริการ นั่นคือ รัฐจะได้ผู้ประกอบการที่มีความเป็นมืออาชีพด้านการลงทุนและให้บริการ”

 

ด้าน นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า กลุ่มทุนของ หมอบุญ วนาสิน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการเดินรถของสมาคมแทนกลุ่ม ช.ทวี ที่มีการเจรจาไปก่อนหน้านี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นยังต้องจับตากันต่อไปว่าหากเปิดทดลองนำร่องใน 8 เส้นทางจะมีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูลหรือไม่

 

“จับตากันว่าเส้นทางที่รถของ ขสมก. ไปวิ่งให้บริการจะเกิดภาระต่อรัฐบาลอีกหรือไม่ ขณะนี้สมาคมได้เปิดตัวกลุ่มทุนรายใหม่จึงพร้อมปฏิบัติตามที่ ขบ. ปฏิรูปเส้นทางเดินรถ แต่ยังไม่ขอยอมรับ ม.44 ที่จะประกาศออกมาบังคับใช้ หากภาครัฐยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้เอกชนเกิดความมั่นใจจริง ๆ ว่า หากมีสภาพรถที่ดีให้บริการแล้วจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ถูกกำหนดราคาค่าโดยสารที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงดังเช่นที่ผ่านมา โดยจะขอเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเร็ว ๆ นี้”

 

สำหรับการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของกลุ่มทุนใหม่ครั้งนี้จะเข้ามาช่วยเยียวยาผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นสมาชิกของสมาคมให้นำเงินไปชำระหนี้ที่คงค้างไว้ทั้งหมดที่มีอยู่ราว 2,000-3,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถประกอบการต่อไปได้โดยจะมีการเปลี่ยนเป็นรถสภาพใหม่ทั้งหมด ใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด โดยรายได้จะเข้ามารวมที่กองกลางเพื่อร่วมกันบริหารจัดการ ขณะนี้ทั้ง 40 บริษัทเข้าใจวัตถุประสงค์ตรงกันเรียบร้อยแล้วเพื่อเข้าร่วมการปฏิรูปเส้นทางเดินรถที่ขบ.กำหนดไว้ต่อไป

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

 

related