svasdssvasds

นักจิตวิทยาเผยวิธีดูแลจิตใจครอบครัวเหยื่อกราดยิง วอนหยุดแชร์ภาพรุนแรง

นักจิตวิทยาเผยวิธีดูแลจิตใจครอบครัวเหยื่อกราดยิง วอนหยุดแชร์ภาพรุนแรง

เหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของครอบครัวเหยื่อเป็นอย่างมาก ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิต โรงพยาบาลสวนปรุง เผยแนวทางเยียวยาจิตใจครอบครัวเหยื่อ พร้อมวอนสังคมไม่แชร์ภาพที่รุนแรงหรือภาพเหยื่อ

นักจิตวิทยาเผยวิธีดูแลจิตใจครอบครัวเหยื่อกราดยิง วอนหยุดแชร์ภาพรุนแรง ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิต และศาสนาปรัชญา และกรรมการบริหารสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง เผยแนวทางการเยียวยาจิตใจครอบครัวเหยื่อกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ดังนี้ 

- เข้าไปอยู่เป็นเพื่อน อย่าทำให้ผู้สูญเสียอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงา ต้องทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกว่ายังมีคนอื่นๆ อยู่ในชีวิต เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน

- เปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียได้ระบายความทุกข์ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การร้องไห้ การบ่น ให้คนรอบข้างรับฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร หากอยู่ใกล้ชิดสามารถใช้วิธีจับมือ ออบกอดโดยที่ยังไม่ต้องอธิบายเหตุผลใดๆ ต่อผู้สูญเสีย หรือหากอยู่ไกลสามารถใช้วิธีโทรไปพูดคุย

- ดูว่าผู้สูญเสียต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างในเบื้องต้น เช่น การจัดเรื่องงานศพ เพื่อทำให้ผู้สูญเสียมีคนที่คอยช่วยเหลืออยู่ เมื่อผู้สูญเสียเริ่มที่จะทำใจได้แล้ว คนรอบข้างต้องชวนให้ผู้สูญเสียมองเห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับเราแค่คนเดียว เกิดขึ้นกับหลายๆคน ดังนั้นมีคนที่ร่วมทุกข์กับเราอยู่ หรือชวนให้ผู้สูญเสียให้เห็นถึงสิ่งดีๆ ที่เหลืออยู่

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

อย่างไรก็ตามในแต่ละช่วงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทำให้ระยะที่เริ่มทำใจได้หรือความเข้มแข็งทางจิตใจในแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของผู้สูญเสียคือ ผู้ที่ปรับสภาพจิตใจได้ช้า เนื่องจากจะอยู่ความทุกข์นาน มีความเครียดสะสม มีความเศร้าฝั่งลึก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น จากเดิมที่เคยทำงานได้ดี กลายเป็นว่าความสามารถในการทำงานลดลง หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

สำหรับคนในสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการที่จะช่วยให้ผู้สูญเสียมีกำลังใจขึ้นมาได้ โดยมีการให้กำลังใจกันในโลกสังคมออนไลน์สามารถสื่อสารให้กำลังใจไปยังครอบครัวเหยื่อได้ และสิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ การแชร์ภาพที่รุนแรง ภาพของเหยื่อ เพราะเป็นการซ้ำเติมผู้สูญเสีย 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาเป็นข้อคิดในการป้องกัน เชื่อความคนไทยทั้งประเทศมีความตระหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการยกระดับการป้องกัน อีกมุมหนึ่งคือ ทุกคนต้องหันมามองคนใกล้ชิดของตนเอง ทั้งคนในครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชนว่ามีใครที่เสพสารเสพติด หรือมีปัญหาชีวิตต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ