svasdssvasds

เช็กพฤติกรรมกินยาแบบผิดๆ มีโทษโดยไม่รู้ตัว

เช็กพฤติกรรมกินยาแบบผิดๆ มีโทษโดยไม่รู้ตัว

ยารักษาโรคช่วยให้เราหายจากอาการเจ็บป่วย แต่การใช้ยารักษาโรคก็มีข้อควรระวังเกี๋ยวกับพฤติกรรมการใช้ยาแบบผิดๆ เนื่องจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าพฤติกรรมแบบไหนคือพฤติกรรมกินยาแบบผิดๆ

เช็กพฤติกรรมกินยาแบบผิดๆ มีโทษโดยไม่รู้ตัว

ปรับขนาดยาเอง

บางคนคิดว่าการรับประทานยามากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เมื่อโรคของผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรืออาการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เมื่อสามารถควบคุมความดันโลหิต หรือไม่มีอาการแสดงของโรค ผู้ป่วยจึงหยุดรับประทานยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงเป้าหมายได้ หรือในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เมื่ออาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาไประยะหนึ่งจึงหยุดยา เป็นผลให้เชื้อโรคในร่างกายไม่สามารถถูกกำจัดได้อย่างสมบูรณ์ และนำมาซึ่งปัญหาการดื้อยาได้

นำยาของผู้อื่นมาใช้

หลายคนอาจจะคิดว่าป่วยอาการใกล้เคียงกันจำเป็นต้องได้รับยาชนิดและขนาดเดียวกัน และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจนำไปสู่อันตรายจากการใช้ยานั้น เช่น การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา การแพ้ยา เป็นต้น

ไม่อ่านฉลากหรือฟังคำอธิบายของเภสัช

พฤติกรรมนี้พบได้บ่อยกับผู้ป่วยที่มารับยาในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยมักจะมีความเร่งรีบในการเดินทางกลับ โดยปราศจากความสนใจในการอธิบายวิธีการใช้ยาจากเภสัชกร เนื่องจากผู้ป่วยมีความคิดว่าสามารถเข้าใจวิธีใช้ตามฉลากยาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากผู้ป่วยมีความสงสัยในการใช้ยาดังกล่าวก็อาจทำให้ใช้ยาผิดวิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแพทย์มีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือวิธีการใช้ยาก็อาจทำให้ผู้ป่วยยังรับประทานยาในรูปแบบเดิม ซึ่งส่งผลต่อความไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาของยานั้น นอกจากนี้เภลัชกรอาจมีการบอกกล่าวเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์สำหรับการใช้ยานั้นเพื่อทำให้ผู้ป่วยคอยติดตามและสังเกตอาการดังกล่าวหากผู้ป่วยไม่มีความสนใจในการรับฟังข้อมูลจากเภสัชกรอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

เก็บยาในสถานที่ไม่เหมาะสม 

หลังจากที่ได้รับยาแล้วหากนำมาเก็บในสภาวะที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดเก็บยาในรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้กลางแสงแดดซึ่งมีอุณหภูมิที่มากกว่าปกติ การวางยาในบริเวณที่มีแสงแดดจ้า การจัดเก็บยาในตู้เย็นช่องแช่แข็ง เป็นต้น อาจนำมาซึ่งความเสื่อมสลายของยาและทำให้ยานั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคของผู้ป่วย

ไม่ดูวันหมดอายุก่อนกิน

เมื่อผู้ป่วยได้รับยาจากสถานพยาบาลควรตรวจสอบวันหมดอายุการใช้งานของยานั้น ซึ่งมักอยู่บริเวณแผงยา ขวดยา หรือหลอดบรรจุยานั้น โดยยาที่ผู้ป่วยได้รับควรมีวันหมดอายุอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากได้รับยา เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าการใช้ยานั้นจะยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคของผู้ป่วย

ลืมกินยาตามที่หมอสั่ง

การรับประทานยาให้ตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาโรคติดต่อกันทุกวัน อาจลืมรับประทานยาได้ เช่น ยามื้อกลางวัน ยามื้อก่อนอาหาร ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเพื่อทำให้การควบคุมโรคของผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือผิดวิธี

การใช้ยาที่เป็นเทคนิคพิเศษ เช่น ยาสูดพ่นทางปาก ยาฉีดอินซูลิน ยาแผ่นแปะ ควรมีความเข้าใจในวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องเพื่อทำให้ได้รับยาอย่างมีประสิทธิภาพ

Cr. โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์