svasdssvasds

คุยหลังข่าว ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กับสนามเลือกตั้ง กทม.

คุยหลังข่าว ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กับสนามเลือกตั้ง กทม.

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

กระแสข่าวผู้ว่าฯ ชื่อดัง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าฯเชียงราย ที่ได้แสดงศักยภาพในการทำงานให้ทั่วโลกเห็นแล้วจากกรณีเหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน  ถูกทาบทามมาลงชิงชัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูกเปิดประเด็นขึ้นมาจาก อุดร ออลสัน อดีตผู้สมัคร ส.ส. พปชร.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านยุทธศสตร์ ของพรรคพลังประชารัฐ ว่ามีการทาบทามผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จริง ขณะที่หลังมีข่าวดังกล่าวปรากฎ สื่อหลายสำนักต่างพยายามแคะคำตอบเรื่องดังกล่าวจากปากผู้ว่าฯคนเก่ง แต่สิ่งที่ได้เป็นคำตอบกลับมีเพียงแค่ประโยคสั้นๆ ว่า “ผมยังเป็นผู้ว่าราชการ จ.พะเยา ครับ ยังเป็นข้าราชการ ทำงานให้ประชาชน” นั่นคือคำตอบที่ได้ มีเพียงเท่านี้จริงๆ เพราะเมื่อยิงคำถามต่อเนื่องจี้เข้าไปอีก ก็ได้รับการตัดบทอย่างอารมณ์ดีว่า “ขอตอบแค่นี้ก่อนนะครับ”

นับเป็นการตอบคำถามที่ยังไม่ถือว่าชัดเจนในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ในหมู่นักข่าว คำตอบลักษณะนี้ เป็นที่คุ้นชินและมักได้ยินจากปากแหล่งข่าวอยู่บ่อยครั้ง ในเวลาที่ต้องการความชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ที่ตีความได้จากคำตอบนั้นอย่างหนึ่งก็คือ ท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ปฏิเธว่าไม่มีการทาบทาม !!!

คำถามต่อมาคือแล้วการที่ท่านผู้ว่าฯ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวมันเป็นเพราะอะไร?

คุยหลังข่าว ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กับสนามเลือกตั้ง กทม.

หากจะไล่เรียงที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวเพื่อสืบหาความเชื่อมโยง และมองภาพให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คงต้องย้อยกลับไป ณ จุดแรกที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกมาในแวดวงข่าวสาร นั่นคือเมือช่วงหัวค่ำวันเสาร์ที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ข่าวดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนัก กระทั่งวันอาทิตย์ เริ่มมีผู้พูดถึงเรื่องดังกล่าวกันหนาหูมากยิ่งขึ้นเนื่องเพราะ นายอุดร ออลสัน อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.ประจวบฯ พรรคพลังประชารัฐ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคออกมาให้สัมภาษณ์สื่อโดยยอมรับว่าพรรคได้ทาบทามผู้ว่าราชการ จ.พะเยา มาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จริง โดยเจ้าตัวอยู่ระหว่างตัดสินใจ ซึ่งในอายุราชการนั้นบางสำนักข่าวรายงานว่าท่าน ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ จะเกษียนอายุราชการในเดือน ก.ย.2562 นี้แล้ว

จากนั้นมาในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ก็มีสำนักข่าว The Reporters สามารถแคะเอาคำตอบสั้นๆจากผู้ว่าฯณงรค์ศักดิ์ ได้ ซึ่งท่านก็ตอบเพียงแค่ว่า “ผมยังเป็นผู้ว่าราชการ จ.พะเยา ครับ ยังเป็นข้าราชการ ทำงานให้ประชาชน”

และ Bright Tv ตอกลิ้มมาอีกหนึ่งดอกว่า ท่านผู้ว่าฯ ปฏิเสธโดยกล่าวว่า "ผมไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนไปเขียนกันเอง อย่างไรก็ตาม ผมขอไม่แสดงความเห็นใดๆต่อการเลือกตั้งผู้่า กทม."

แต่สิ่งที่สปริงนิวส์ออนไลน์ ล้วงแคะมาได้จากกรณีนี้นั้น มันมีรายงานบางอย่งที่มากกว่านั้น นั่นคือ จ.พะเยา ที่ท่านผู้ว่าฯดูแลอยู่ กลับมีรายงานข่าวอ้างว่ามีนักการเมืองบางรายเตรียมจะส่งคนของตนเองลงเล่นการเมืองท้องถิ่นที่ จ.พะเยา แต่ติดที่ท่านผู้ว่าฯคนปัจจุบันเป็นคนตงฉินอย่างมากเกรงว่าจะติดขัดในบางเรื่อง  ซึ่งความตงฉินของท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ มันรุนแรงถึงขั้นมีข่าวในแวดวงการเมืองท้องถิ่นว่า หากมีการย้ายผู้ว่าฯคนปัจจุบันออกไปจากพื้นที่ได้จริง ก็จะมีนักการเมืองท้องถิ่นบางจังหวัดที่กุมฐานเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลกันเลยทีเดียว

รายงานข่าวบางสาย ก็อ้างว่าอาจมีการโยกย้ายท่านผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ไปเป็นผู้ตรวจราชการ เพื่อเปิดทางให้นักการเมืองส่งคนลงการเมืองท้องถิ่นใน จ.พะเยา ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง อาจเป็นเชื้อไฟให้ท่านผู้ว่าฯณงรค์ศักดิ์ ตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคใดเลย .....นั่นก็เป็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในอีกทางหนึ่ง

คุยหลังข่าว ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กับสนามเลือกตั้ง กทม.

แต่...อ่านข่าวแล้วก็ต้องมามององค์ประกอบในความเป็นจริงประกอบด้วย ถึงจะให้น้ำหนักในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาได้ดียิ่งขึ้น เรื่องของเรื่องคือ ที่เล่ามานั้นเหมือนว่าท่านผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ไปเป็นก้างขวางคอ ใครบางคนที่จะส่งคนของตนเองลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ในจังหวัดที่ท่านผู้ว่าฯ ดูแลอยู่ เหมือนเป็นที่มาของการต้องหาทางย้ายท่านผู้ว่าฯ ออกจากพื้นที่ และสวยงามหน่อยคือการทาบมาลงผู้ว่าฯ กทม. แต่หากพิจารณากันในข้อเท็จจริงแล้ว จากที่บางสำนักข่าวรายงานว่าท่านผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ จะเกษียนอายุราชการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว นั่นคือเดือน ก.ย. 2562 แต่เมื่อสปริงนิวส์ตรวจสอบไปแล้วพบว่าท่านผู้ว่าฯ ยังมีอายุราชการอีก 5 ปี

กระแสข่าวลือทั้งหลาย จึงดูจะมีเป้าหมายมาที่ความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบโยกย้ายท่านผู้ว่าออกมาจากพื้นที่ โดยส่งเป้าล่อมาที่เรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเปิดทางส่งใครบางคนลงสนามการเมืองท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น ซึ่งดูเหมือนเป็นการกดดันจากภาคการเมืองที่มากระทบชิ่งนั่นเอง

สรุปความได้ว่า เรื่องนี้อาจมีมูลตรงที่ มีการทาบทามท่านผู้ว่าฯ ลงชิงชัยในสนาม เลือกตั้งผู้ว่า กทม.จริง แต่ต้นเหตุที่ถูกโยงไปพัวพันเรื่องของการเมืองอาจต้องฟังหูไว้หู เพราะดูยังขาดน้ำหนัก และเลื่อนลอย เหมือนเป็นภาพฝันของใครบางคนที่จับมาประติดประต่อเล่าเป็นเรื่อง อย่างไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก ในขณะที่คาแรคเตอร์ท่านผู้ว่าฯหมูป่านั้น เป็นคนตงฉิน ปะฉะดะ กับข้าราชการนอกคอกมาอย่างชัดเจน คำตอบที่ไม่ชัดเจน ในเรื่องที่นักข่าวถามไป อาจเป็นเพราะท่านเองก็ยังอยากทำงานเพื่อประชาชน แต่ยังชั่งใจ ว่าจะไปในเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และไปในนามอิสระ หรือสังกัดพรรคการเมืองดี และดีแล้ว ควรแล้วหรือไม่หากจะไปลงสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.จริงๆ

ส่วนลึกๆ จากคำตอบที่ท่านพร่ำบอกมาเสมอว่า "รักในการเป็นข้าราชการที่ทำงานให้กับประชาชน และอยากเป็นข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นใหม่" ทำให้เชื่อได้ว่าลึกๆแล้วท่านยังอยากทำงานเพื่อประชาชนต่อไป แต่ติดขัดว่าหากได้เป็นผู้ว่า กทม.ในนามอิสระ การจะประสานงานกับภาครัฐมันจะทำงานได้ราบรื่นหรือ ? การทำงานจะเป็นไปอย่างที่คิดหรือไม่ ? ครั้นจะไปหันหลังพิงพรรคการเมือง ชีวิตก็อาจจะเปลี่ยน จากคนกลางข้าราชการเพื่อประชาชน กลับกลายเป็นคนของพรรคการเมืองไป และเวลาที่เหมาะสมกับการอาสาทำงานเพื่อชาว กทม.ควรเป็นจังหวะเวลาไหนดี

คุยหลังข่าว ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กับสนามเลือกตั้ง กทม.

ก็ต้องรอดูกันต่อไป ไม่แน่  เราๆท่านๆชาว กทม. อาจกำลังจะได้เห็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ท่านผู้ว่าฯ เอาความดี ความซื่อสัตย์เข้าสู้ ขอยึดแนวทางข้ามาคนเดียว ลุยทำงานผู้ว่าฯ กทม.โดยไม่มีผลประโยชน์แห่งพรรคการเมืองใดแอบแฝงให้แคลงใจก็เป็นได้ รอดูกันต่อไป...

เกือบลืมบอกไปว่า ......บรรดานักการเมืองท้องถิ่นที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง ณ เวลานี้ รวม ผู้ว่า ฯ กทม. ด้วยนั้น ต่างก็หมดวาระการทำงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังคงรักษาการในตำแหน่งกันมาต่อ เนื่องจากยุค 5 ปี คสช. ซึ่งในบทเฉพาะกาล ก็เขียนเอาไว้ว่า ให้เป็นอำนาจของ คสช.หรือ ครม.ชุดใหม่ ที่จะมากำหนดวันเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยเป็นที่คาดกันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้า ต้นปีหน้า โดยน่าจะเริ่มต้นกันที่ภาพใหญ่ระดับ อบจ.กันก่อน

เมื่อถึงวันนั้น ก็คงได้เห็นการวัดพลังอำนาจในฐานมวลชนของพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านบทบาทการเลือกตั้งท้องถิ่นกันอีกครั้ง ติดเพียงแต่ว่า มีบางคนบางกลุ่มในภาคท้องถิ่น ยังถูกแช่แข็งทางการเมืองอยู่ โอกาสจะเปิดเพื่อคนเหล่านั้นหรือไม่? และการชิงชัยในสนามท้องถิ่นจะถึงพริกถึงขิงแค่ไหน? เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป...

 

related