svasdssvasds

เสรีพิศุทธ์ “ตู่” ที่ไม่เอา “บิ๊กตู่”

เสรีพิศุทธ์  “ตู่” ที่ไม่เอา “บิ๊กตู่”

เป็นหนึ่งในผู้นำพรรคที่มีลีลาและวาทะเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาฮาร์ดคอร์ทางการเมือง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

ไม่เพียงประกาศท้าชนกองทัพ ไม่หวั่นโดนข้อหา"ภัยความมั่นคง" แต่เดินหน้าจับทุจริตกองทัพแล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมยืนยันจะยื่นหนังสือต่อ กกต. ให้พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากอาจเข้าข่ายการเป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย อันเนื่องจากเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยึดอำนาจจากบุคคลอื่น และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ก่อนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังซัดใส่ “บิ๊กแดง”พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กรณีให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน โดยย้ำว่า บิ๊กแดงควรไปฟังเอง เนื่องจากบิดา ซึ่งหมายถึงพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตหัวหน้า  รสช.  ไปยึดอำนาจมาจากคนอื่น และพล.อ.อภิรัชต์ เทียบกับตนแล้ว เป็นเพียงเด็กเมื่อวานซืน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ชื่อเล่น ตู่ เกิด 3 กันยายน พ.ศ. 2491ชื่อเดิม เสรี เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าของฉายา "วีรบุรุษนาแก" และ "มือปราบตงฉิน"

สกุล “เตมียเวส” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2457

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ จบจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 8  หรือตท.8 เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2515-2524 ได้ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ จนบ้านเมืองบังเกิดความสงบเรียบร้อย และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 ต่อมาประชาชนเรียกขาน และยกย่องว่าเป็น "วีรบุรุษนาแก" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯยังได้รับพระราชทานรางวัล “คนไทยตัวอย่าง” รางวัล “บุคคลดีเด่นของชาติ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รางวัล “ข้าราชการที่ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือป.ป.ป. เคยเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2533-2534 ขณะ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 แต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ต้นปี พ.ศ. 2551 ภายหลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ ทันที หลังจากอดีตตำรวจนายเวรทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหา และในวันเดียวกันนั้น ได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รักษาราชการผบ.ตร.แทน

ต่อมาเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ยุติการสอบสวน และยกเลิกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ต่อจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ได้รับเชิญจากพรรคเสรีรวมไทย เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค ก่อนจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเต็มตัวในการประชุมใหญ่ของพรรค เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

related