svasdssvasds

ไม่ปิดเมือง ปิดประเทศ ต้านโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

ไม่ปิดเมือง ปิดประเทศ ต้านโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

6 มาตรการ รับมือโควิด-19 ที่รัฐบาลย้ำว่า เป็นมาตรการเข้มข้น แต่ไม่ได้ปิดเมือง หรือปิดประเทศ จะได้ผลหรือไม่ ?

ชัดเจนเกือบทั้งหมด สำหรับ 6 มาตรการเข้ม รับมือโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด 19

โดยเฉพาะมาตรการป้องกันผู้คนไม่ให้ไปในสถานที่สุ่มเสี่ยงกับการแพร่เชื้อโรค ตั้งแต่สนามแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ สถานศึกษา โรงมหรสพ โรงหนัง สถานออกกำลังกาย สถานบันเทิง และสถานบริการสุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมทั้งร้านอาหารที่มีขายเหล้าขายเบียร์  เพียงแต่หลักใหญ่ จำกัดวงเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดนอกกรุงเทพฯ ออกไป ดูจากมาตรการแล้ว  ยังไม่ครอบคลุมไปถึง

ยกเว้นในพื้นที่ที่ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอ หรือเจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้ง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 จะออกมาตรการคุมเข้ม หรือระเบียบปฏิบัติออกมาสะกัดกั้น อย่างที่ปลัดมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ มีคำสั่งถึงผู้ว่าให้ใช้อำนาจพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ 14 วันเหมือนกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ แต่จะให้เข้มข้นเช่นเดียวกันหรือไม่ ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณา อีกทั้งในคำสั่ง "สถานบริการ" และ "สถานประกอบการที่เปิดให้บริการ" จะครอบคลุมแค่ไหน อาจต้องตีความกันพอสมควร

ไม่ปิดเมือง ปิดประเทศ ต้านโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

แต่สำหรับร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซุปเปอร์สโตร์ทั่วไป ยังเปิดให้ผู้คนเข้าไปเดิน ชม เที่ยว ช้อปปิ้งได้ตามปกติ นั่นเท่ากับยังไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มข้นรุนแรงเหมือนในต่างประเทศหลายสิบประเทศ ที่ทำแล้วด้วยความหวังจะสะกัดเชื้อโควิด 19 ให้อยู่หมัด

ทั้งการปิดประเทศ ปิดพรมแดน ห้ามคนในออกห้ามคนนอกเข้าอย่างเด็ดขาด อย่างล่าสุด มาเลเซีย บางเมืองในหลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง ห้ามคนเข้าออกเช่นกัน บางเมือง บางประเทศ ใช้วิธีประกาศเคอร์ฟิว อย่างเช่น มะนิลาซิตี้ ฟิลิปินส์  รัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐฯ รวมทั้งประเทศเปอร์โตริโก

การปิดเมืองปิดประเทศอาจฟังดูน่ากลัว แต่ผลที่ตามมาจากการเอาจริงเอาจัง คือลดการแพร่ขยายเชื้อโควิด 19 ได้สำเร็จในเวลาไม่นาน อย่างกรณีเมืองอู่ฮั่น และอีกหลายเมืองในประเทศจีน เพราะตอนนี้จีนกลายเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดมีอัตราเสี่ยงน้อยมาก ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้น และมีคนตายเป็นเบือ

ประเทศที่คิดว่าคงไม่เท่าไหร่ ชะล่าใจคิดว่าเอาอยู่ ไม่มีมาตรการเข้มข้น อย่างอิตาลีซึ่งพร้อมสรรพในทุกด้าน กลายเป็นประเทศที่มีคนติดเชื้อ และคนตายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากจีน หรือแม้แต่สหรัฐเอง ก็กลายเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดโดยยั้งไม่อยู่ โดยเฉพาะนิวยอร์ก

นี่คือความแตกต่างระหว่างการใช้มาตรการเข้มข้นจริงจัง กับประเทศที่ปล่อยปละชะล่าใจ จนน่าจะกลายเป็น "โมเดล" สำหรับประเทศอื่นๆ หรือเมืองอื่นๆ ได้ยึดถือปฏิบัติ

ไม่ปิดเมือง ปิดประเทศ ต้านโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

มาเลเซียภายใต้ผู้นำคนใหม่ เลือกใช้มาตรการแบบแรก แม้จะส่งผลสะเทือนต่อทั้งภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนคนไม่น้อยกว่า 2 แสนที่ปกติข้ามประเทศไปทำงานที่สิงคโปร์แบบไปเช้าเย็นกลับ และสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งแรงงานบางส่วนจากไทย

หลังพบการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จากการร่วมพิธีการทางศาสนาอิสลามที่เซลังงอร์ เมื่อปลายเดือน ก.พ. ถึงต้นเดือน มี.ค. และมีนักการศาสนาจากหลายประเทศไปร่วมด้วยจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะแค่ในกลุ่มอาเซียน

เพียงไม่กี่วันถัดมา มีคนติดเชื้อเพิ่มเป็นหลายร้อยราย และมีเสียชีวิต 2 คน โดย 1 ใน 2 คือคนที่ไปร่วมในกิจกรรมนี้ ขณะที่จากบรูไน เข้าร่วม 58 ราย ติดเชื้อแล้ว 50 ราย จนเกรงกันว่า จะเหมือนกับกรณีโบสถ์คริสต์ที่เกาหลีใต้

ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าระบบสาธารณสุขและป้องกันโรคระบาดร้ายแรงดีในอันดับที่ 6 ของโลก แต่เริ่มสะเปะสะปะตั้งแต่กรณี "ผีน้อย" กลุ่มผู้ใช้แรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ เป็นต้นมา ประกอบกับเชื้อโควิด 19 สามารถผ่านด่านตรวจคัดกรองที่สนามบินและ ตม.เข้ามาได้ เพราะคนมีเชื้อยังไม่แสดงอาการไข้ ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ประเทศไทยมีพบผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 30 คนขึ้นไป มีมากถึง 4 วันติดต่อกัน โดยหนึ่งในกลุ่มที่ติดเชื้อ พบว่ามาจากการแพร่ขยายในสนามมวยและร้านอาหารย่านทองหล่อ

ไม่ปิดเมือง ปิดประเทศ ต้านโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

ที่น่าเป็นห่วงคือคนในประเทศ หรือแม้แต่ต่างชาติที่เดินทางมาไทย ยังสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปจังหวัดต่างๆ ได้ตามปกติ และบางส่วนยังสามารถเดินทางข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนได้อีกต่างหาก โดยเฉพาะจุดที่มีบ่อนพนันและพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จึงเป็นประเด็นหลักที่หลายคนเป็นห่วงว่า ในท้ายที่สุด เราจะเอาไม่อยู่

แม้จะพยายามตอกย้ำว่า ได้จัดเตรียมความพร้อมรองรับหากเข้าสู่ระยะระบาดที่ 3 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่การป้องกันปัญหา

มาตรการ 6 อย่าง ที่รัฐบาลย้ำว่า เป็นมาตรการเข้มข้น แต่ไม่ได้ปิดเมืองหรือปิดประเทศ จะได้ผลหรือไม่ อีกไม่นาน คงได้พบคำตอบ

related