svasdssvasds

ทรูมันนี่ แนะ 4 เทรนด์ด้านการเงินดิจิทัล

ทรูมันนี่ แนะ 4 เทรนด์ด้านการเงินดิจิทัล

ทรูมันนี่ มองเทรนด์การเงินแบบดิจิทัลยุคใหม่ มีความจำเป็นมากขึ้นต่อไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ที่ใส่ใจในเรื่องความสะดวกสบายและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และนี่คือ 4 แนวทางของการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ด้านการเงิน

เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญและแทรกซึมไปกับทุกจังหวะชีวิตของคนยุคใหม่

ปัจจุบันไม่ได้มีเพียง อีวอลเล็ต (E-Wallet) หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่เป็นช่องทางการใช้จ่ายแค่ช่องทางเดียวอีกต่อไป การบริหารจัดการเรื่องการเงินจึงจำเป็นต้องพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ของบริการทางการเงินให้ครบวงจร ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเดิมๆ แต่ต้องสะดวกกับคนทุกกลุ่มที่หันมาใช้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลด้วย

ทั้งนี้ การเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือ Financial Inclusion จึงต้องใช้งานง่าย ลดความยาก พร้อมผลักดันให้ทุกคนใช้งานกันได้ในแบบที่ตนเองต้องการ

ทรูมันนี่ ผู้ให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล จึงได้แนะนำเกี่ยวกับ 4 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการเป็นผู้ให้บริการด้านแอปพลิเคชันทางการเงินที่จะช่วยส่งเสริมให้คนยุคใหม่เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน ได้แก่

เพิ่มทักษะความรู้ทางการเงิน ควบคู่ไปกับความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี

งานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ปีพ.ศ. 2565 พบว่า เทรนด์ทางด้านทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literary) ของบุคคลทั่วไป จะมีแนวโน้มสอดคล้องไปกับทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากคนที่มีอายุระหว่าง 16 – 35 ปี จำนวน 90,000 คน จาก 6 ประเทศในอาเซียน พบว่า 24% ของชาวมิลเลนเนียล ที่มีอายุตั้งแต่ 16 - 35 ปี ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการจัดการทางการเงิน หรือ การลงทุนมาก่อน เนื่องจากมองว่า การเงินเป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังมีกำแพงด้านภาษาและขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อน

ทรูมันนี่กับการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนรุ่นใหม่

ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงควรทำให้การใช้งานแอปการเงินเป็นเรื่องง่ายและตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน ลดอุปสรรคในการเข้าถึง (Barrier of Entry) อีกทั้งออกแบบแอปที่สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้ใช้งาน หรือ มอบสิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ จากการใช้บริการให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล จะช่วยดึงดูดให้คนที่ไม่เคยใช้บริการแอป หรือ บุคคลที่ยังนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสดสนใจที่จะเข้ามาใช้จ่ายผ่านแอปมากขึ้น

จาก Micro Lending สู่ Micro Investing

การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น

  • สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending)
  • บริการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later)

ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของบริการทางการเงิน เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจรายย่อย บุคคลที่ไม่ได้ทำงานประจำ รวมถึงบุคคลที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) ให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้ผ่านแอปการเงิน รวมทั้งสามารถดำเนินการขอสินเชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีสลิปเงินเดือน

ทรูมันนี่แนะการเพิ่มช่องทางการเงินสำหรับกู้ยืม

อุปสรรคสำคัญในเรื่องของการลงทุนคือ การกำหนดยอดเงินขั้นต่ำในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หากเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้แบบไม่มีขั้นต่ำ จะช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ที่ยังมีเงินออมไม่เยอะ สามารถลงทุนได้สะดวกตามกรอบรายได้ที่มี รวมทั้งการเพิ่มบริการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นอย่าง หุ้นกู้ หุ้นต่างประเทศ และการลงทุนในทอง ก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนทุกกลุ่มอยากลงทุนผ่านแอปบริการทางการเงินมากขึ้น

ขยายบริการข้ามพรมแดน (Cross-Border) ไปสู่กลุ่มแรงงานต่างชาติ

สถิติในไตรมาสที่ 1/2566 ของกระทรวงแรงงาน พบว่า มีแรงงานต่างชาติในไทยรวมกว่า 2,743,673 คน ถือเป็น 6.92% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย หากช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอย่าง แรงงานจากพม่าและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) รวมถึงกลุ่มที่ยังพบอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Underbanked) เสมอมา ซึ่งพวกเขามีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น

  • การส่งเงินให้ครอบครัวในภูมิลำเนา (International Transfer)
  • การจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในต่างประเทศ (Cross Border Bill Payment)
  • การเติมเงินโทรศัพท์ (Cross Border Mobile Top-up) ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผู้ให้บริการในต่างประเทศ

หากมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่พวกเขาและสร้างการเข้าถึงบริการทางเงินที่ดีขึ้นได้

ทรูมันนี่แนะบริการทางการเงินข้ามชาติ

ยกระดับเทคโนโลยีอัจฉริยะให้ปลอดภัย

ปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลในการใช้จ่ายบริการการเงินดิจิทัล ที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการด้านการเงินต่างมีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมการปกป้องให้แก่ผู้ใช้บริการ เช่น การออกมาตรการสแกนหน้าก่อนโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

เนื่องจากมิจฉาชีพมีการพัฒนากลโกงและเครื่องมือต่าง ๆ ให้ฉลาดขึ้นตลอดเวลา สถาบันการเงินและผู้ให้บริการแอปการเงินครบวงจรจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องผู้ใช้บริการได้อย่างรัดกุมยิ่งขึ้น โดยไม่คาดหวังให้ผู้ใช้งานเป็นฝ่ายป้องกันตนเองอยู่ฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าเสริมสร้างอีโคซิสเต็มส์ของบริการด้านการเงินให้ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม ยังคงต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้สามารถตอบโจทย์และทลายข้อจำกัดทางด้านการเงินสำหรับผู้บริโภคด้วย

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

 

related