svasdssvasds

ส่องพฤติกรรมคนไทย "แอปสั่งอาหาร-สินค้าออนไลน์" ลดพนักงาน หลายเจ้าปิดตัว

ส่องพฤติกรรมคนไทย "แอปสั่งอาหาร-สินค้าออนไลน์" ลดพนักงาน หลายเจ้าปิดตัว

ล่าสุด HappyFresh แพลตฟอร์มซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ (e-Grocery) ได้ประกาศปิดตัวลงหลังจากทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 7 ปี หรือ แอปสั่งอาหาร ShopeeFood , Foodpanda ก็กำลังขาดทุนและต้องลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน และอาจสื่อให้เห็นพฤติกรรมของคนไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ในช่วงก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์ , ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือ การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นที่นิยมในประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีบริษัทหรือสตาร์ทอัปเข้ามาสนใจลงทุนในประเทศไทย แต่ในขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้แพลตฟอร์มอาจต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้พูดถึง Food Delivery ว่ามีสัญญาณชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ดัชนีชี้วัดปริมาณการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 อาจจะให้ภาพที่ไม่เร่งตัวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564 เท่าใดนัก

แต่คงจะขยายตัวได้ราว 19% จากปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อน โดยในช่วงต้นปี 2565 เริ่มปรากฏสัญญาณที่สะท้อนถึงการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านความถี่ ราคา และประเภทอาหารที่สั่ง

ซึ่งหากมองต่อไปในช่วงข้างหน้า ซึ่งมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้ไม่เพียงแต่ต้นทุนธุรกิจจะขยับสูงขึ้นโดยที่การปรับราคาอาหารคงทำได้จำกัด แรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ และยอดคำสั่งซื้อของผู้บริโภค

 

ยกตัวอย่างเคส Happy Fresh ที่ได้ประกาศปิดตัวลงในประเทศไทย ซึ่งหากย้อนดูตัวเลขรายได้ เราก็จะพบยอดตัวเลขที่แม้จะมีรายได้สูง แต่บริษัทขาดทุนหลายร้อยล้านบาท

ส่องพฤติกรรมคนไทย "แอปสั่งอาหาร-สินค้าออนไลน์" ลดพนักงาน หลายเจ้าปิดตัว

ปี 2562 มีรายได้รวม 299 ล้านบาท ขาดทุน 74.5 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 336 ล้านบาท ขาดทุน 76.7 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้รวม 300 ล้านบาท ขาดทุน 166 ล้านบาท

ซึ่งคู่แข่งในตลาด e-Grocery ที่เป็นการฝากซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้มีทั้ง GrabMart , pandamart , LINEMAN Mart , freshket หรือแบรนด์อื่นๆอีกมากที่เร่งกันทำการตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ โดยตัวซุปเปอร์มาร์เก็ตเองก็พยายามทำแอปพลิเคชั่นของตัวเองและทำการส่งสินค้าเพื่อบริการลูกค้าด้วย 

ดังนั้น Happy Fresh จึงมีคู่แข่งที่หนาแน่นรอบตัว อีกทั้งยังเจอพิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดและสงครามรัสเซีย ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น อัตราการสั่งซื้อลดน้อยลงเนื่องจากรายได้ที่เท่าเดิม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น 

สัญญานนี้ได้ทำให้เห็นว่าคนไทย ยังคงมีพฤติกรรมในการสั่งซื้ออาหาร , ซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเองอยู่ และมีส่วนน้อยที่เลือกใช้แอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ แม้ HappyFresh จะโชว์จุดเด่นด้านการเลือกซื้ออาหารที่ใส่ใจรายละเอียด แต่ด้วยความไม่คุ้นเคยที่จะต้องไปซื้อด้วยตัวเอง ก็ยังต้องรอเวลาที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้เข้าใจถึงความสะดวกสบายของการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม

ย้อนกลับมาดูที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารอย่าง ShopeeFood และ ShopeePay เราได้เห็นการปลดพนักงานไปกว่า 50% เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ไม่นานมานี้ เนื่องด้วยการขาดทุนรวมของค่าขนส่งและการตลาดที่ทุ่มเทโปรโมชั่นเพื่อเอาใจลูกค้า นั่นเป็นตัวเลขกว่า 810 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท

แอปฯสั่งอาหารคู่แข่งอย่าง Foodpanda ก็ได้ปลดพนักงานเพื่อหวังลดภาระค่าใช้จ่าย เช่นกัน และนี่อาจทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มทยอยที่จะมีรายได้ลดตัวลงเนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้เผยว่า ความถี่ในการสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารต่อเดือนเฉลี่ยปรับลดลงมาเป็น 5 ครั้งต่อเดือน จาก 6 ครั้งต่อเดือน ในช่วงก่อนหน้าที่มีมาตรการควบคุมการระบาด เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกลับไปใช้บริการนั่งทานในร้านและซื้อกลับหลังการเปิดให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการรัฐได้หมดลง

สังเกตได้จาก Grab , Robinhood ต้องเสริมโปรโมชั่นมากขึ้นและศึกสงครามของฟู้ดเดลิเวอรี่ครั้งนี้อาจต้องใช้ทุนมหาศาลในการสนับสนุนร้านค้าและลูกค้าด้วยโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คนละครึ่ง หรือการซื้อแพ็คเกจโปรโมชั่นต่างๆที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการซื้อทั่วไป

เมื่อมองมาที่ใกล้ตัว พ่อค้าหรือแม่ค้าที่กำลังขายสินค้าหรืออาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่และช่องทางออนไลน์ต่างๆ อาจต้องหันมาขายแบบออฟไลน์หรือหน้าร้านมากขึ้น แม้ช่องทางออนไลน์จะรวดเร็วและสะดวกกว่าก็จริง แต่อาหารหรือสินค้าบางอย่างที่ผู้คนคุ้นเคย เช่น ทานอาหารที่ร้าน , เสื้อผ้าสามารถลองได้ที่ร้าน ก็อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม เนื่องจากมาตรการควบคุมผ่อนคลายลงแล้วขณะนี้

 

related