svasdssvasds

ธุรกิจต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เตรียมพร้อมรับมือ "ภูมิรัฐศาสตร์"

ธุรกิจต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เตรียมพร้อมรับมือ "ภูมิรัฐศาสตร์"

หอการค้า - เอ็กซิมแบงก์ - สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แนะแนวทางให้ภาคเอกชนเตรียมรับมือ "ภูมิรัฐศาสตร์" ตัวแปรสำคัญเปลี่ยนธุรกิจทั่วโลก ซึ่งไทยต้องแข็งแรงเองไม่ใช่หวังพึ่งพาแต่ประเทศนายทุน

ภาคเอกชน 3 รายอย่าง หอการค้า - เอ็กซิมแบงก์ - สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ “ภาคธุรกิจขยับรับมือบริบทโลกเปลี่ยน” ในงานสัมมนา “Geopolitics : The big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” ว่า ธุรกิจของไทยหากต้องอยู่รอดในยุคที่มีความเสี่ยงทั้งสงคราม เศรษฐกิจและการเมือง ก็จำเป็นต้องปลดล็อกข้อจำกัดธุรกิจ

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มีความชัดเจนขึ้น หลังสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครนในปีที่ผ่านมา รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้ ในปัจจุบันไม่สามารถอยู่ใน comfort zone ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจมีหลายด้าน เช่น เรื่องของราคาพลังงานเป็นต้นทุนที่ภาคธุรกิจควบคุมไม่ได้เลย เพราะราคาพลังงานปรับขึ้นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในโลก ในเรื่องของราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการผลิต

นอกจากนั้น ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยจากนโยบายของรัฐบาลหลายประเทศ ทำให้ต้นทุนในด้านต่างๆ สูงขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าของธุรกิจ จะต้องมีการวางแผนในเรื่องของทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ไว้ให้พร้อม เช่น การหาแหล่งทดแทนวัตถุดิบ หรือการหาตลาดอื่นๆ รองรับ หากมีความขัดแย้งจนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายยังตลาดเดิมได้

“ธุรกิจไม่สามารถอยู่ใน comfort zone ได้อีกต่อไป เพราะผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนทางพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในแบบที่ย้อนไปเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนไม่เคยเกิดขึ้นเลย”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพในการปรับตัว โดยบางส่วนสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ และซัพพลายเชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ขยายไปในประเทศที่มีข้อขัดแย้งสูง โดยเฉพาะที่มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมากีดกันทางการค้า มีการเข้าไปสร้างโรงงานหรือว่าไปซื้อกิจการ ไปเป็นเจ้าของกิจการ และทำแบรนด์ให้เข้มแข็ง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

โดยมี 6 ประเด็นที่ภาคเอกชนไทยจะต้องเจอในปี 2566 ได้แก่

  1. ธุรกิจที่เกี่ยวกับสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับตัวของภาคธุรกิจแต่เป็นโอกาส เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต จะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทย เกิดจากการที่เราปลูกป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน
  2. ธุรกิจยังคงเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟ ราคาสินค้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น
  3. ดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
  4. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้ผลิตสินค้าไม่ควรมีการสต๊อกสินค้ามากเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมด หากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
  5. ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้ดี ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีการเติบโต และการจ้างงานเพิ่ม
  6. การแพทย์และสาธารณสุข ชาวต่างชาติบางส่วนจะเริ่มกลับมารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากภาพลักษณ์ และคุณภาพการให้บริการการแพทย์ที่ดีที่มีชื่อเสียงของไทย

สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไข คือ เรื่องการอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจ “ease of doing business” และเรื่องการปรับเพิ่มทักษะแรงงานไปสู่ดิจิทัล การแก้ปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงเรื่องการอำนวยความสะดวกในการส่งออก - นำเข้าสินค้า (NSW) ในรูปแบบที่ง่าย และมีความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ประสานงานกับภาคการส่งออกให้ง่ายขึ้นโดยควรมีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เตรียมพร้อมรับมือ "ภูมิรัฐศาสตร์"

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเสริมว่า  เราไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้ต่อไป มีหลายเรื่องที่ต้องรับมือ ทั้งค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ถ้าไปในทิศทางไม่สอดคล้องกับคู่แข่งจะยิ่งเจอปัญหาไม่นับรวมในเรื่องของการค้า

นอกจากนี้ ไทยยังมีการส่งออกสูงสุดในเรื่อง GDP เรื่องค่าเงินที่แข็งค่าทำให้หลายประเทศค่าเงินอ่อน ทำให้ได้รับผลดีแม้จะเจอปัญหาความขัดแย้งหลายอย่าง เช่นเรื่องของพลังงาน น้ำมัน ส่งผลต่อภาคการผลิต และน้ำมันที่ทำให้มีผลใรเรื่องราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

หากมองในมุมของผู้ประกอบการนั้น เป็นการบริหารความเสี่ยง โดยหากพูดถึงเรื่องค่าเงินในโลก ฐานะที่ EXIM BANK แนะนำลูกค้า จะบอกว่าในไตรมาส 1 ของปีนี้ ให้ซื้อของให้เยอะ เพราะเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง โดยจะเห็นค่าเงินอยู่ที่ระดับ 32.50-33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ไม่มีสมการใดที่เป็นจุดคงที่ในการผันผวนของค่าเงิน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ต้องบริหารความเสี่ยงตัวเราเอง และขอเปรียบสมการ 3 กิ๊ก คือ

  • กิ๊กด้านการเงิน เพราะเราไม่สามารถยึดโยงบ้านใหญ่ได้บ้านเดียว ดังนั้น จึงต้องมีเงินหลายสกลุทั้งหยวน หรือ ยูโร
  • กิ๊กในมุมของฐานการผลิต การทำธุรกิจจะต้องมีฐานกาผลิตมากกว่า 2 ประเทศ โดยประเทศไทยมีความสวยงามทางภูมิรัฐบศาสตร์ สามารถขยายฐานไปได้
  • กิ๊กด้านการตลาด เพราะตลาดหลักไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากการเติบโตของ GDP โลกไม่เกิน 2% แล้ว

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาฝีมือเป็นมือที่ 3 อย่างมืออาชีพ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนักธุรกิจไทยคงไม่ไปในเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไฮเทคมาก แต่ควรนำสิ่งที่ไทยเก่งในการผลิต เช่น ทีวี เตารีด ไมโครเวฟ หรือ ตู้เย็น เป็นต้น

"ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกว่า 5,000 ราย สามารถปรับปรุงระบบและกำลังการผลิต เปลี่ยนหลังคาโรงงานเป็นโซลาร์ รูฟ เพราะด้วยเทรนด์พลังงานสะอาด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว"

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาปัญหาคนตัวใหญ่ดูแลคนตัวเล็กเพื่อความยั่งยืนไม่ตรงประเด็น จะเห็นว่าเจ้าสัวจูงเอสเอ็มอีเป็นเพียงภาพการจูงมือมาทำ CSR ซึ่งขณะนี้ สามารถแก้ปัญหาคือ เจ้าสัวสามารถการันตีการสั่งซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีได้แล้ว และเอสเอ็มอีก็ไม่ต้องเอาโรงงานมาจำนองกับแบงก์ เพียงเอาใบสั่งซื้อมาการันตี

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละประเทศอยู่ในซัพพลายเชนไม่แข็งแรง เพราะแต่ละอันถูกแยกไปในอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์บางอันอยู่ใน 6 ประเทศ กว่าจะรวมกันเป็นสินค้า

ถ้าทำให้ไทยเข้มแข็งก็จะสำคัญ รัฐดึงเข้ามาจะช่วยเสริมให้เข้มแข็งอย่างไร ภาคการศึกษาและสังคมเข้ามาช่วยเสริมและมียุทธศาสตร์แรงจูงใจไม่ใช่ csr ไทยจะแข็งแรงขึ้นเมื่อเท่ากับประเทศอื่นๆ 

ทางออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ท่ามกลางโลกที่มีความขัดแย้งมีสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัส 3 ประเด็นคือ

  1. ภาวะเงินเฟื้อ
  2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
  3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดยไม่ควรหลงประเด็นกับสงครามชิปที่เกิดขึ้นหรือตลาดที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงจนเกินไป

เนื่องจากจุดยืนของประเทศไทย ไม่ใช่ซูเปอร์ไฮเทคแต่เป็นคอมโมดิตี้ (กลุ่มสินค้าที่แยกความแตกต่างในเชิงคุณภาพได้ยาก) มีจุดแข็งด้านความน่าเชื่อถือ ความสามารถในการปรับตัวจากวิกฤติ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนผ่าน สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

หากต้องการรักษาจุดแข็งและพันธมิตรไว้ควรโฟกัสตรงจุด และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีและสร้างการเติบโตในพื้นที่ตัวเอง ควบคู่กับการเตรียมการเพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อและปูทางด้านความยั่งยืน

related