svasdssvasds

รู้จัก "วรานิษฐ์" ผู้บริหารหญิงไทยคนแรกของ HP กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ไม่ง่าย

รู้จัก "วรานิษฐ์" ผู้บริหารหญิงไทยคนแรกของ HP กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ไม่ง่าย

การขึ้นนั่งเป็นผู้บริหารหญิงไทย ในธุรกิจยักษ์อย่าง เอชพี อิงค์ ที่ต้องวางเป้าหมายให้ลูกค้าเชื่อมั่นและกล้าใช้แบรนด์ต่อไป เดินหน้าธุรกิจให้มั่นคงและผลักดัน "คน" ให้ร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับแนวทางนี้

สิ่งที่ต้องยอมรับคือประเทศไทยมีผู้หญิงเก่งที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารใหญ่ในบริษัทต่างชาติได้หลายคนแล้ว ทั้งยังเป็นผู้หญิงที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงด้วย

สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจยักษ์ระดับโลกเชื่อมั่นในความสามารถและเชื่อถือในแนวทางในการบริหารของผู้หญิงมากขึ้นและกลายเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในโลก 

แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่นาน เอชพี อิงค์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าทางด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกเคยมีการประกาศแผนเตรียมเลิกจ้างพนักงานราว 4,000 - 6,000 คนทั่วโลกภายใน 3 ปี แต่ในประเทศไทย ยังไม่มีการประกาศแนวทางการเลิกจ้างนี้ เพราะขึ้นอยู่กับแนวทางการบริหารของประเทศนั้นๆ 

นั่นจึงทำให้วิสัยทัศน์ในการบริหารคน บริหารงาน และบริหารลูกค้าภายใต้การทำงานของ คุณวรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์ กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก

โดยคุณวรานิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า เธอทำงานอยู่ในเอชพี อิงค์ มาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงวันนี้ นับได้ว่าเธออยู่ในองค์กรของเอชพีมาราว 23 ปีแล้ว ได้เห็นการบริหารและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามยุคสมัยและเทรนด์โลกมากมาย 

HP

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารงานของเธอจึงเน้นไปในเรื่องของ 3 แกนหลักคือ

  • Portfolio/Product : เน้นการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการทำงานแบบไฮบริด ซีเคียวริตี้และงานด้านบริการต่างๆ
  • Operation : ตอบสนองการทำงานที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ปรับปรุงระบบการทำงานภายในองค์กร
  • People : พัฒนาคนภายในองค์กรให้มีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายและสนับสนุนการปรับตำแหน่งของคนทุกเพศสภาพ

ถือว่าเป็นแผนในระยะ 3 ปีที่จะดำเนินต่อจากนี้ไป เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างสมเหตุสมผล เฉพาะออฟฟิศในไทยมีทีมที่ทำงานร่วมกันอยู่ราว 150 คน จะเป็นโอเปอร์เรชั่น มาร์เก็ตติ้ง ไม่รวมฝ่ายขายหรือทีมที่ทำงานแบบรีโมต

ทั้งนี้ การทำงานที่เน้นในเรื่องของการสื่อสารกับลูกค้า พาร์ทเนอร์และพนักงานในองค์กรเองนั้น เป็นเพราะช่วงก่อนโควิดและยุคโควิด มีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในแง่ของสภาพเศรษฐกิจ ซัพพลายเชน เทรนด์สินค้า

คุณวรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์ กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย)

ดังนั้น ทางด้านของธุรกิจที่จะมุ่งไปคือในสินค้ากลุ่มเกมมิ่ง การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาด การขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มปริ้นเตอร์และกลุ่มอื่นๆ ด้วย 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาพรวมการใช้งานในกลุ่มลูกค้าของเอชพีในไทย จะเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เครื่องพิมพ์ พฤติกรรมการใช้งานเครื่องพิมพ์ของไทยคือนิยมซื้อเครื่องไปใช้งานกันมากขึ้น อาจเพราะช่วงโควิดในกลุ่มการศึกษา เรียนออนไลน์ ยังจำเป็นต้องใช้กระดาษ 

ทำให้บริษัทเพิ่มรูปแบบการให้บริการแบบ Subscription แบบเช่าให้แก่กลุ่มเอสเอ็มบี  กลุ่มบีทูบีและลูกค้าทั่วไป เพื่อผูกแพ็กเกจตามการใช้งาน ซึ่งช่วยเรื่องลดค่าใช้จ่ายในการใช้งานสำหรับธุรกิจได้ดี 

HP Inc

รวมทั้งความต้องการสินค้าในกลุ่มปริ้นเตอร์แบบแทงค์ก็มีมากขึ้น ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากกลุ่มเอสเอ็มบีและเอ็นเตอร์ไพร์สรวมกัน สัดส่วนอยู่ที่ 60% และลูกค้าทั่วไป 40% ซึ่งสินค้าที่ลูกค้าทั่วไปซื้อใช้งานจะมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ เกมมิ่ง เวิร์กฟอร์ซ เป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่องของศูนย์บริการก็จะไม่ใช่ศูนย์ซ่อมเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้แบบครบวงจร คือเข้ามาแล้วสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ส่งซ่อม ให้คำปรึกษาได้พร้อมกัน รวมทั้งจะมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เพิ่มบริการในการโต้ตอบกับลูกค้าไวขึ้นด้วย 

โดยขณะนี้ เอชพี อิงค์ มี HP Amplify Partner Program ที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน ศักยภาพในการเข้าถึงลูกค้าอย่างหลากหลาย ประสานงานและแบ่งปันข้อมูลอีคอมเมิร์ซโซลูชั่นในการดูแลเรื่องสินค้าและบริการมากถึง 600 ราย รวมทั้งพาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่าง ซินเนค, อินแกรม ไมโคร, เอสไอเอส, Ascenti Resources และวีเอสทีอีซีเอส

related