svasdssvasds

นักวิจัยญี่ปุ่นสอน AI ให้รู้จัก "หัวเราะ" เพื่อการสนทนาราบรื่น เป็นธรรมชาติ

นักวิจัยญี่ปุ่นสอน AI ให้รู้จัก "หัวเราะ" เพื่อการสนทนาราบรื่น เป็นธรรมชาติ

นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้ทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการสนทนาให้รู้จักจังหวะในการ "หัวเราะ" เพื่อให้การสนทนาราบรื่นและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

 นักวิจัยของ Kyoto University จากประเทศญี่ปุ่นได้ทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสนทนาให้รู้จักจังหวะในการหัวเราะเพื่อให้การสนทนาราบรื่นและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

 ทีมวิจัยมุ่งเน้นพัฒนา "การหัวเราะร่วม" กับคู่สนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ การหัวเราะร่วมกับคู่สนทนานั้นต้องอาศัยความเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดสื่อออกมาไม่เพียงแต่ความหมายโดยตรงของคำพูดเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจบริบทและหัวเราะในจังหวะที่เหมาะสมไม่ขัดจังหวะผู้พูด รวมทั้งไม่หัวเราะจนเกินงามจนทำให้คู่สนทนารู้สึกกระอักกระอ่วนหรือรู้สึกอาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• มาแล้ว ภาพวาด AI บุกตลาดธุรกิจขายภาพออนไลน์ Stock Photo

• Google เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไป แชทคุยกับปัญญาประดิษฐ์ LaMDA แล้ว

• "สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์" AI Sandbox แห่งแรกของไทย มุ่งพัฒนาทักษะ AI โดย 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ

 การเทรนปัญญาประดิษฐ์ทำโดยใช้ข้อมูลเสียงสนทนาจากสถานการณ์จำลองการเดท โดยใช้อาสาสมัครมานั่งพูดคุยกับหุ่นยนต์ Erica ที่มีผู้ควบคุมค่อยพูดและบันทึกเสียงแทนหุ่นยนต์ ข้อมูลการสนทนาที่บันทึกไว้ได้จะมีการระบุช่วงเวลาที่มีการหัวเราะร่วมระหว่างอาสาสมัครและผู้ควบคุมหุ่นเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่าตอนไหนคือตัวอย่าง "การหัวเราะร่วม" อย่างเป็นธรรมชาติ

 ตัวปัญญาประดิษฐ์ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการหัวเราะ 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกคือตรวจจับการหัวเราะของคู่สนทนา จากนั้นจึงตัดสินใจว่าหากคู่สนทนาหัวเราะแล้วควรร่วมหัวเราะไปกับผู้พูดหรือไม่ และท้ายที่สุดคือการเลือกวิธีหัวเราะว่าควรทำเช่นไร ระหว่างการหัวเราะอย่างร่าเริง หรือการหัวเราะเบาๆ ตามมารยาทเท่านั้น

 หลังจากนั้นทีมวิจัยได้สร้างบทพูดสนทนาขึ้นมาใหม่ 3 รูปแบบ

• รูปแบบแรก ให้ปัญญาประดิษฐ์หัวเราะทุกครั้งที่ตรวจจับการหัวเราะของคู่สนทนาได้

• รูปแบบที่ 2 ให้ปัญญาประดิษฐ์สนทนาโต้ตอบตามปกติแต่ไม่หัวเราะเลย

• รูปแบบที่ 3 ให้ปัญญาประดิษฐ์ทำการตัดสินใจและเลือกหัวเราะร่วมตามที่ได้เทรนมา

 ทีมวิจัยขอให้อาสาสมัครมากกว่า 130 คน ฟังบทพูดสนทนาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้ง 3 รูปแบบ แล้วขอให้อาสาสมัครให้คะแนนบทสนทนาว่าแบบไหนแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ, การโต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติ และการหัวเราะเหมือนมนุษย์มากที่สุด ซึ่งผลที่ได้พบว่าบทสนทนาที่สร้างขึ้นรูปแบบที่ 3 นั้นได้คะแนนดีที่สุด

ในตอนนี้งานวิจัยยังคงรองรับแค่การพูดสนทนาภาษาญี่ปุ่นและสถานการณ์ที่ถูกนำมาเทรนให้ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังห่างไกลจากคำว่าครอบคลุมรูปแบบการสนทนาจริงในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่การฝึกให้ปัญญาประดิษฐ์รู้จักอารมณ์ขันและแยกแยะมันออกจากการหัวเราะตามมารยาทได้ ก็ถือเป็นก้าวที่น่าสนใจในการทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีการแสดงอารมณ์ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น

ที่มา : Frontiers , SlashGear

related