svasdssvasds

เจาะนโยบาย อว. For EV ทำไมกระทรวงที่ทำวิจัย-นวัตกรรม ต้องสนใจรถยนต์ไฟฟ้า

เจาะนโยบาย อว. For EV ทำไมกระทรวงที่ทำวิจัย-นวัตกรรม ต้องสนใจรถยนต์ไฟฟ้า

เจาะนโยบาย อว. For EV พร้อมไขคำตอบว่าทำไมกระทรวงที่ทำเรื่องวิทยาศาสตร์-วิจัย-นวัตกรรม ต้องสนใจรถยนต์ไฟฟ้า ?

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า สาเหตุที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และงานวิจัยต้องให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะอีกหนึ่งหน้าที่ของกระทรวง คือ การพัฒนาคน "ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสิ่งที่ไม่มีชีวิตสร้าง และพัฒนาได้ง่ายกว่าสิ่งที่มีชีวิต" ทำให้ อว. มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)

“สิ่งหนึ่งที่หลายหลายโรงงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าบอกกับกระทรวง คือ คนที่มีความรู้เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าจบการศึกษามาเท่าไหร่ ก็ยินดีที่จะรับเข้าทำงานทั้งหมด เพราะจากที่มีโอกาสได้ถามผู้ประกอบการพบว่าปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยคือเรื่องของกำลังคน โดยมีสถานศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปใต้การดูแล“ นางสาวศุภมาส กล่าว

นโยบาย อว. For EV

แม้ กระทรวง อว. จะดูแลในระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่ นางสาวศุภมาส ระบุว่า จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมองว่า คอร์สเรียนบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า สามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับปวช. และ ปวส. นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายใต้สังกัดอีกมากมายที่มีทุนในการวิจัยและพัฒนาสถานีชาร์จและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับญาติยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

นโยบาย อว. For EV วางกรอบการทำงานออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. EV-HRD คือ การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน โดยจากการคำนวณตามนโยบายของรัฐบาล ไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คนภายใน 5 ปี ทั้ง Up-Skill , Re-Skill
  2. EV-Transformation คือ การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ในลักษณะของ Green campus เป็นต้น
  3. EV-Innovation คือ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

นโยบาย อว. For EV

โดยได้มอบหมาย 3 หน่วยงานให้เป็น Core Team คือ สอวช. สวทช. และ สกสว. ในการขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV 3 ด้าน คือ EV-HRD EV-Transformation และ EV-Innovation ตามลำดับ โดยมี รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทำหน้าที่เป็นประธานในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงและที่ประชุมอธิการบดี(ทปอ.) ทั้ง 4 เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิต-การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ ZEV (Zero emission vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society) และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่เป็นกระทรวงหลัก ที่ทำหน้าที่ ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง เพื่อตอบสนองความต้องการการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงจัดให้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวศุภมาส กล่าวทิ้งท้ายว่า หากวันนี้เราสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยม คำถามต่อมาคือ เรามีช่างที่มีฝีมือขั้นสูงในการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ ? หรือ เรามีจุดชาร์จ แอปฯ จองสถานีชาร์จเป็นของตนเองที่เป็นระบบกลางให้คนไทยหรือไม่ ? นี่คือโจทย์สำคัญ ที่ อว. ต้องเร่งพัฒนาคนมารองรับในจุดนี้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

related