svasdssvasds

สตาร์ตอัปไทย 2024 : เริ่มวันนี้ทันไหม ? เช็กสถานการณ์ยังไปรอดอยู่หรือไม่ ?

สตาร์ตอัปไทย 2024 : เริ่มวันนี้ทันไหม ? เช็กสถานการณ์ยังไปรอดอยู่หรือไม่ ?

เช็กสถานการณ์ สตาร์ตอัปไทย 2024 เริ่มวันนี้ทันไหม ? ฟังมุมมองจาก ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

SHORT CUT

  • สตาร์ตอัปปีที่ผ่านมาเงียบเหงา เพราะเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
  • หากเริ่มอยากทำสตาร์ตอัปในปี 2024 ยังทัน แต่ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นเพราะนักลงทุนเองก็ระมัดระวังไม่ต้องการเพิ่มความเสียงทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ตามสำหรับสตาร์ตอัปมือใหม่ควรเริ่มจากการขัดเกลาไอเดียให้ดีและเร็ว แล้วหาแต้มต่อในการทำธุรกิจ (Unfair Advantage) ให้ยากต่อการถูกก็อปปี้ไอเดียไป

เช็กสถานการณ์ สตาร์ตอัปไทย 2024 เริ่มวันนี้ทันไหม ? ฟังมุมมองจาก ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

มองย้อนกลับไปในวันที่สตาร์ตอัปเริ่มถูกพูดถึง ประเทศไทยทยอยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา คำว่า "สตาร์ตอัป" เริ่มปรากฎในหน้าสื่อมากขึ้น เวลาผ่านไป 7 ปี วันนี้ สตาร์ตอัปไทยเป็นอย่างไรบ้าง ? ยังรุ่งอยุ๋ไหม ? หรือเป็นแค่ชื่อซีรีส์ไปแล้ว ?

หนึ่งในทีม SPRiNG Tech มีโอกาสได้เข้าร่วมส่งโครงการมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) กลับพบว่าในระดับบุคลทั่วไป มีทีมที่สมัครเข้ามาขอทุนลดลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับปีแรก ๆ ที่จัดโครงการ อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน องค์กรใหญ่ ๆ เอง ก็มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากสตาร์ตอัปมากขึ้นในวันที่ทุกคนต้องไปสู่ Net Zero แต่ก็ระมัดระวังมากขึ้นเพราะเจ็บตัวจากช่วงโควิด-19

ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันของสตาร์ตอัปทั่วโลก คือการลงทุนลดลง อย่างในซิลิคอนวัลเลย์เองก็ลดไปถึง 30% ในปี 2566 เพราะเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบอยู่ เห็นได้จากการล้มละลายของธนาคารที่ลงทุนในสตาร์ตอัปเป็นหลักอย่าง Silicon Valley Bank (SVB) และสงครามภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจด้วย

สำหรับประเทศไทย การลงทุนในสตาร์ตอัปก็ลดลงไปตามสถานการณ์โลกด้วย ในปีที่ 2566 ดร. ชินาวุธ เชื่อว่า มีการปิดดีลใหญ่ลงทุนในสตาร์ตอัปไทย มีราว 30 ดีลโดยประมาณ และมูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณการปิดดีลข้อตกลงในการลงทุน และจำนวนเงินในการลงทุน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สตาร์ตอัปที่ได้รับการลงทุนในระดับความคิด (Idea Stage) ลดลง เพราะ องค์กรใหญ่ ๆ เองระมัดระวังการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปมากขึ้นด้วย

ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

สตาร์ตอัปไทยน้อยลงเพราะอะไร ?

ดร. ชินาวุธ มองว่า สาเหตุที่สตาร์ตอัปไทยน้อยลงไม่ได้เกิดจากไทยไม่มีเงินลงทุนใช้จ่ายในสตาร์ตอัป แต่อาจติดที่ขนาดของการลงทุนเมื่อเทียบกับต่างชาติที่ลงทุนครั้งหนึ่งทีละมาก ๆ ทำให้สตาร์ตอัปไปได้ไกล ประกอบกับกองทุนในขั้นปลุกปั้น (Early Stage) ยังมีไม่มากเพียงพอ แม้ในภาครัฐจะพยายามพลักดันมากกว่าเมื่อก่อนแล้วก็ตาม

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สตาร์ตอัป ปี 2024 เกิดขึ้นน้อยเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จาก Sharing Economy และ Digital Platform ที่เน้นการซื้อขายกันระหว่างผู้บริโภค มาสู่การสร้างแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบอัตโนมัติมาสู้การใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดร. ชินาวุธ มองว่า หลาย ๆ สตาร์ตอัปช่วงหลัง ๆ ก็พยายามที่จะมีเทคโนโลยีเป้นของตนเอง เพื่อสร้าง Unfair Advantage หรือแต้มต่อให้กับตนเอง

จะทำสตาร์ตอัปรุ่ง ต้องมี International Mindset และ Entrepreneur Mindset

ดร. ชินาวุธ เล่าว่า หากเราไปสังเกตุผู้บริหารของสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จก็จะเห็นว่าผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของเขามี Entrepreneur Mindset หรือความคิดแบบเจ้าของกิจการ และ International Mindset เพื่อคิดและขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก อย่างไรก็ตามการทำให้เด็กไทยมีชุดความคิดเหล่านี้ ภาคการศึกษาและภาคอื่น ๆ ก็ต้องมีแหล่งทุนมากพอให้อนาคตผู้ประกอบการเหล่านี้ นำผลิตภัณฑ์ของตนเองออกไปศึกษาตลาด

สิ่งหนึ่งที่เราสังเหตุได้ คือ เด็กไทยที่เริ่มคิดไอเดียทำธุรกิจมักเริ่มจากความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาใกล้ตัวมากเกินไปจนบางครั้ง ไม่สามารถมองภาพกว้างได้มากพอที่จะพัฒนาธุรกิจให้ขยายไปในระดับโลกได้ ซึ่งต้องอาศัยทุนในการผลักดันนักศึกษาไทยไปศึกษาปัญหาและเห็นโอกาสต่าง ๆ ที่จะขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก (Global Scale) ได้

ถ้าวันนี้มีไอเดียอยากทำสตาร์ตอัปเริ่มวันนี้ทันไหม ?

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ depa มองว่า ยังทัน และอย่ากลัวที่จะเอาไปเดียของเราไปเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะยิ่งไอเดียเราก็อปปี้ง่ายมากเท่าไหร่ ก็แปลว่าแต้มต่อในการทำธุรกิจ (Unfair Advantage) ก็น้อยตามไปด้วยนั่นเอง ขณะเดียวกันหากได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ พวกเขาอาจสามารถเหลาไอเดียของเราให้แข็งแกร่งได้มากขึ้นอีกด้วย

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

related