svasdssvasds

อรินแคร์ กับการดิสรัพวงการแพทย์ ที่จะช่วยให้คนมีเน็ต เข้าถึงหมอได้ง่าย

อรินแคร์ กับการดิสรัพวงการแพทย์ ที่จะช่วยให้คนมีเน็ต เข้าถึงหมอได้ง่าย

ปัญหาคนไทยเจ็บป่วยเข้าถึงหมอยากและรอคิวนาน ทำให้การใช้บริการร้านยาชุมชนที่แม้จะมีเกือบ 20,000 รายในไทย ก็ยังไม่เพียงพอ ARINCARE เข้ามาช่วยให้คนไทยเข้าถึงหมอตัวจริงผ่านช่องทางออนไลน์ง่ายขึ้น

SHORT CUT

  • อรินแคร์กับเฮลท์แคร์ที่ช่วยลดจำนวนการต่อคิวของผู้ป่วย
  • ผู้สูงวัยรู้จักการใช้งานแพลตฟอร์มทางการแพทย์มากขึ้น
  • ไม่ได้มาแย่งงานหมอหรือโรงพยาบาล แต่จะช่วยลดภาระของแพทย์

ปัญหาคนไทยเจ็บป่วยเข้าถึงหมอยากและรอคิวนาน ทำให้การใช้บริการร้านยาชุมชนที่แม้จะมีเกือบ 20,000 รายในไทย ก็ยังไม่เพียงพอ ARINCARE เข้ามาช่วยให้คนไทยเข้าถึงหมอตัวจริงผ่านช่องทางออนไลน์ง่ายขึ้น

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีร้านยาชุมชนกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ถือว่าเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งการส่งเสริมให้ร้านยาเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือและยาราคาจับต้องได้ ภาครัฐก็ต้องช่วยสนับสนุนด้วย และธุรกิจร้านยาก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย เช่น พัฒนาเรื่องของเภสัชกรชุมชน ให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากกว่าแค่คำปรึกษา

ทำไมถึงทำสตาร์ตอัปร้านยา

ธีระ : ผมอาจจะไม่ได้จบหมอมาโดยตรง ก็เลยกล้าที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางอย่างโดยไม่กังวลว่าเราจะก้าวข้ามส่วนไหนของวงการแพทย์หรือเปล่า แต่ผมเป็นตัวแทนของผู้ป่วย ของประชาชนที่รู้สึกว่าบางสิ่งในเฮลท์แคร์หรือการเข้าถึงแพทย์ยังขาดอยู่ 

ดังนั้น อรินแคร์จึงต้องพัฒนาตัวเองตลอด ต้องหาเพนพ้อยท์ว่าปัญหาคืออะไรแล้วหาจิ๊กซอว์มาต่อให้ครบด้าน เช่น เข้าถึงแพทย์ยากใช่ไหม เราก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมอย่างการเทเลเฮลท์ อาจารย์หมอบางคนหาคิวยากมาก รอนานมาก การใช้เทเลเฮลท์เข้ามา อาจจะเป็นเวลาว่างวันละ 1-2 ชั่วโมงที่รอให้คำปรึกษา ก็ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงคุณหมอฝีมือดีระดับประเทศได้แล้ว

telehealth ช่วยลดภาระหมอ

สะเทือนวงการสาธารณสุข

ธีระ มองว่าเขาไม่ได้เข้ามาดิสรัพวงการสาธารณสุข แต่มองว่าเป็นการหาช่องว่างของการเข้าถึงแพทย์ให้มากขึ้นและลดการใช้ยารักษาโรคที่ผิดๆ 

"การที่กระทรวงสาธารณสุขออกกฎให้ร้านขายยาเอกชนมีเภสัชกรตัวจริงอยู่ประจำที่ร้านอย่างน้อย 1 คน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมาตรฐานด้านการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี ลดภาระหมอและการรอคิวได้มาก"

บางครั้งเรื่องของกฏระเบียบข้อบังคับบางอย่าง คนธรรมดาไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ การที่กระทรวงฯ ยอมรับและยอมใช้เทคโนโลยีมากขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และสามารถช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากๆ ได้อย่างทั่วถึง

รวมทั้งเทคโนโลยียังช่วยลดภาระการตรวจแบบเจอหน้าไปเป็นการใช้เครื่องมือและช่องทางอื่นๆ แทน เช่น บางคนไม่สะดวกรอคิวหาหมอนานๆ ก็เลยที่จะไม่ไปหาหมอ ทำให้อาการป่วยลุกลาม หรือบางคนสามารถต้องการรับคำปรึกษาแต่ไม่สะดวกไปเจอหมอ การคุยผ่านแพลตฟอร์มก็ช่วยอำนวยความสะดวกดีกว่า

คนไทยใช้ Telehealth ได้จริงหรือ

ธีระ : อาจจะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อนะครับ แต่ลูกค้าผมหลายคนก็เข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่สามารถใช้งานแพลตฟอร์มอรินแคร์ได้ดีเลย ทั้งคุยกับหมอ ปรึกษาหมอ สั่งซื้อยาให้มาส่งที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางให้วุ่นวายและไม่ต้องรอให้ญาติมาช่วยรับส่ง เขาสามารถดูแลตัวเองได้

นอกจากนี้ ลูกค้าที่ใช้การปรึกษาหมอผ่านแพลตฟอร์มของเรา ที่มีการเติบโตมากขึ้น จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตเวช โรคผิวหนัง หรือปวดหัวตัวร้อนทั่วไป ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง หรือเลือกซื้อยาสำหรับรักษาตนเองให้หายได้ง่าย เป็นต้น

คนไทยหาซื้อยากินเองง่ายขึ้น

เข้ามาแย่งส่วนแบ่งธุรกิจการแพทย์

ธีระ : เราเป็น Technology Provider นะครับ เป็นคนทำโซลูชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ได้มาแย่งผู้ป่วยใคร ผู้ป่วยไม่ว่าอย่างไรก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล ไปพบแพทย์ที่เก่งๆ เพื่อทำการรักษา แต่ระหว่างทางที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้อยากเข้าไปโรงพยาบาล เขาต้องการคำปรึกษาและหายากินเอง เขาก็มาหาเราได้ 

ต้องยอมรับนะครับว่า สัดส่วนแพทย์กับผู้ป่วยตอนนี้ไม่เท่ากัน หมอ 1 คนต้องรักษาผู้ป่วยกว่า 1,000 คน ซึ่งการมีแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยเหลือ ก็จะลดภาระของหมอให้มีเวลาในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทุ่มเทไปในการรักษาผู้ป่วยหนักได้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลต่างๆ ก็เข้าใจในปัญหานี้ และโรงพยาบาลเองก็ปรับตัวหาวิธีใหม่ๆ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของเขามากขึ้น

เรื่องของการหาเงินลงทุนเทคโนโลยีเสริม ทางโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ได้มีปัญหาหรอกครับ แต่การหาคนทำงาน คนที่เข้าใจลูกค้าและแพทย์ รวมทั้งหาคนที่เข้าใจโซลูชันและเทคโนโลยีที่จะสามารถต่อยอดสิ่งใหม่ๆ นั้นเป็นเรื่องยาก

อรินแคร์ กับการดิสรัพวงการแพทย์ ที่จะช่วยให้คนมีเน็ต เข้าถึงหมอได้ง่าย

ดังนั้น โรงพยาบาลก็จะทำในสิ่งที่เขาถนัดคือให้บริการด้านการรักษา ให้บริการด้านข้อมูลสำหรับผู้ป่วยและทำการรักษาอย่างเหมาะสมกับแต่ละโรค 

AI กับวงการแพทย์ที่น่าจะนำมาใช้งานได้

ธีระ : เรื่องของการใช้ประโยชน์จาก AI นั้น ปัจจุบันมีการนำมาใช้ค่อนข้างเยอะนะครับ หลักๆ ก็อย่างเช่นการเอามาช่วยงาน routine เช่นงานเอกสาร การต่อสายโทรศัพทย์ไปยังแผนกต่างๆ หรือการทำลำดับสิ่งของสำหรับบริหารคลังยาต่างๆ เพื่อเช็กรายการยา เพื่อให้ฝ่ายจัดซื้อไปสั่งรายการยาเพื่อมาเติมสต็อก

ทั้งนี้ AI ถูกพัฒนาให้ทำงานหลายอย่างเลยนะครับ สำหรับวงการแพทย์ที่ต้องทำงานซ้ำซ้อนให้ลดระยะเวลาในการทำงานลง ในเฟสต่อไปก็จะใช้ AI ไปช่วยในการสั่งซื้อยากับทางร้านขายยาโดยตรงสำหรับผู้ป่วยครับ 

อย่างเช่น ในอเมริกาเขาจะแนะนำให้ไปซื้อยาที่ร้านยาเท่านั้นสำหรับผู้ป่วยทั่วไป โดยหมอจะเขียนรายการยาที่เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยรายนั้นๆ และส่งข้อมูลไปยังร้านยาให้จัดยาโดยตรง ลดขั้นตอนในการอ่านลายมือไม่ออกและอาจสั่งจ่ายผิดพลาด ซึ่งเภสัชกรในร้านก็ไม่รู้หรอกครับว่ารักษาใคร อาการเป็นอย่างไร แต่จะรู้แค่ว่าต้องจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น 

ซึ่งความฉลาดในการช่วยอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการเข้าถึงหมอไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่ง AI จะไม่ได้มาแทนหมอแน่นอนครับ

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related