svasdssvasds

DGA มอง Open Data ข้อมูลเปิดภาครัฐ จะทำให้ประชาชนตรวจสอบ-พัฒนาชาติ

DGA มอง Open Data ข้อมูลเปิดภาครัฐ จะทำให้ประชาชนตรวจสอบ-พัฒนาชาติ

ข้อมูลเปิดโลกเปลี่ยน เมื่อรัฐเปิดเผยข้อมูล Open Data สู่สายตาประชาชน กลายเป็นกลไกตรวจสอบ-พัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูล(OPEN DATA) สู่ประชาชนมากที่สุด เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลพยายามดำเนินการมา ซึ่งแอปฯ “ภาษีไปไหน” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ DGA ทำขึ้นมาให้เห็นภาพว่าเมื่อมีข้อมูลเปิดแล้วต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง

เช่น เมื่อรัฐเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณภาษีจากประชาชน องค์กรอิสระ อย่าง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ก็สามารถนำข้อมูลไปตรวจสอบโครงการบางโครงการของรัฐบาลได้ ซึ่งจากการใช้งานก็ได้รับเสียงตอบรับมาว่า ควรมีการปักหมุดด้วยว่าโครงการต่าง ๆ อยู่ตรงไหนของประเทศ และก็ได้เพิ่มแผนที่ปักหมุดลงไป

ข้อมูลที่ดีต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

ดร.สุพจน์ มองว่า ข้อมูลที่ดี ที่จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องเกิดจากการเก็บข้อมูลที่มีระเบียบ เพราะมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศได้ เพราะข้อมูลที่รัฐมีจะกลายเป็นส่วนสำคัญที่นำมาทำเป็นฐานข้อมูลทั้งของภาพครัฐและเอกชน เช่น ข้อมูลการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว(แบบลบข้อมูลส่วนตัวออกไปแล้ว) หรือข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคมาทำเป็นตารางยอดผู้ติดเชื้อ

ปัจจุบัน DGA มีข้อมูลที่เปิดเผยอยู่บนเว็บไซต์แล้วกว่า 7,700 ชุด ซึ่งหน่วยงานไหนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องการทำข้อมูลมาเปิดเผยก็มีการเข้าไปให้ความรู้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ภาษีไปไหน

ดร.สุพจน์ เล่าถึงแอปฯ-เว็บ ภาษีไปไหน ว่า ในแนวคิดคือทางสำนักงานต้องการให้เห็นความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูล(OPEN DATA) สู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนในฐานะเจ้าของภาษีสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ว่าเงินที่เขาจ่ายไปทุกบาทถูกนำไปใช้ในส่วนไหนบ้าง ?

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA

ซึ่งข้อมูลภายในแอปฯ ก็จะมีข้อมูลภาครัฐในด้านงบประมาณรายรับ-รายจ่ายของประเทศ , ข้อมูลงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี , ข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง โดยงบประมาณที่นำมาแสดงจะเป็นรายได้จากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นๆ ภาพรวมรายได้ในส่วนของท้องถิ่น จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

เมื่อรู้แล้วว่าไทยมีภาษีเท่าไหร่แล้ว ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยว่ารัฐบาลจัดสรรงบไปที่ไหนบ้าง แล้วการนำไปใช้ถูกใช้จัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทใด

OPEN DATA ทำกันทั่วโลก

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระบุว่า ทั่วโลก รัฐบาลในแต่ละประเทศก็พยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลแก้สาธารณชนให้ได้มากที่สุด เช่น ข้อมูลจราจร ข้อมูลอุบัติเหตุ ซึ่งของไทยเองก็มีข้อมูลอยู่บ้างแล้ว โดยทาง “มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย” หรือ “Intelligent Traffic Information Center” (iTIC) ก็ได้นำข้อมูลนี้ไปทำเป็นแผนที่จุดเสี่ยงภัยให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ จนพบว่า สี่แยกและจุดกลับรถเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด

ดร.สุพจน์ เชื่อว่า หากประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรบ้างอย่างเปิดเผย แล้วประชาชนเองก็มีสิทธิในการขอข้อมูลเพิ่มจากรัฐบาล ผ่าน DGA ได้ ก็จะทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

related