svasdssvasds

สายไอทีใครว่ารอด! องค์กรระดับโลกเลิกจ้างพนักงานรวมกันเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว

สายไอทีใครว่ารอด! องค์กรระดับโลกเลิกจ้างพนักงานรวมกันเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว

แม้สายงานด้านเทคโนโลยี จะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสายงานที่มีรายได้ดี สวัสดิการเยอะ และเปิดรับคนเก่งๆ มากที่สุด แต่องค์กรยักษ์อย่าง Meta (Facebook), Google, Twitter ได้เลย์ออฟพนักงานรวมกันทุกบริษัทน่าจะเกือบแสนคนได้แล้ว

เริ่มต้นกันที่ Twitter หลังจากที่มีการเปลี่ยนมือในการบริหารจากแจ็ค ดอร์ซีย์ มาเป็น อีลอน มัสก์ ก็ได้ปลดพนักงานออกจากบริษัทราว 3,700 คนจากทั้งหมด 7,500 คนแล้ว โดยตำแหน่งงานที่ถูกปลดก็คละตำแหน่งกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายรับผิดชอบด้านการสื่อสาร ฝ่ายรวบรวมเนื้อหา ฝ่ายงานด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มงานด้านปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรม ทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้กว่า 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ/วัน หรือวันละประมาณ 131 ล้านบาท เพราะพนักงานต้องได้รับเงินชดเชย 3 เดือนทุกคน 

Meta หรือบริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram เอง ก็มีการลดจำนวนพนักงานและตัดบางโครงการออกเนื่องบริษัทมีรายได้ลดลงและขาดทุนจากโครงการ Reality Labs กว่า 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้ต้องไล่พนักงานออกกว่า 11,000 คน และเหลือพนักงานอยู่ 87,000 คนซึ่งมีการคัดแล้วคัดอีกว่าเป็นระดับหัวกะทิถึงอยู่รอด โดยค่าใช้จ่ายที่มากถึง 8 แสนล้านบาทของ Meta การลดพนักงานในครั้งนี้ทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 57,200 ล้านบาท หรือไตรมาสละ 14,300 ล้านบาท แต่ก็มีการชดเชยให้พนักงานด้วยเงินเดือน 4 เดือน โบนัส 2 สัปดาห์และต่ออายุประกันสุขภาพให้อีก 6 เดือน 

Amazon ก็มีการปลดพนักงานออกถึง 1 หมื่นคน ด้วยความที่มีธุรกิจในมือหลายด้านทำให้การชะลอจ้างงานใหม่ลดตำแหน่งงานเก่าไปตกอยู่ที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้า ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเกี่ยวกับเด็ก หุ่นยนต์ส่งของ Pop-up Store เป็นต้น  แอมะซอนยังคงมีแผนลดพนักงานต่อเนื่อง สำหรับคนที่ลาออกโดยสมัครใจจะได้รับเงินรายสัปดาห์สำหรับทุกคนที่มีอายุงาน 6 เดือน 

สายไอทีใครว่ารอด! องค์กรระดับโลกเลิกจ้างพนักงานรวมกันเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ทางด้านของ Google ก็มีการปลดพนักงานกว่า 12,000 คนหรือ 6% จากพนักงานทั้งหมด 186,700 คนแบบไม่ให้เหตุผล แม้กระทั่งฝ่าย HR เองก็รู้ว่าตัวเองถูกไล่ออกขณะสัมภาษณ์พนักงานคนหนึ่งเช่นกัน โดยเป็นการเลิกจ้างแบบล็อกเอาต์ชื่อของพนักงานกลุ่มนี้จากระบบอัตโนมัติ จนได้รับอีเมล์เลิกจ้างถึงทราบว่าตนเองโดนให้ออกจากงานแล้ว สำหรับเงินชดเชยที่พนักงานจะได้รับคือค่าจ้าง 16 สัปดาห์บวกกับอีก 2 สัปดาห์สำหรับอายุการทำงานในแต่ละปี

Better.com บริษัทด้านการเงินและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ ก็มีการปลดพนักงานออกมากกว่า 900 คน ด้วยการประกาศผ่านการประชุมแบบ Zoom ที่มีการคัดเลือกเฉพาะผู้ที่ต้องออกเท่านั้นถึงได้รับสิทธิ์เข้าห้องประชุมนี้ เรียกว่าเป็นการบอกเลิกจ้างที่เศร้าทีเดียว

 

ทางด้านของประเทศไทยเอง ก็มีหลายบริษัทที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 

Shopee ไทย ประกาศเลิกจ้างพนักงานราว 300 คน ตามนโยบายของบริษัทแม่อย่าง SEA โดยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานในกลุ่ม ShopeePay และ ShopeeFood 

Garena ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับ SEA ของ shopee ก็มีการยุติการดำเนินงานแพลตฟอร์มสตรีมเกมไปส่วนหนึ่งหลังจากเสียรายได้ไปเกือบ 1,000 ล้านดอลล่าร์ หรือแม้แต่ในส่วนของ SEA Labs ที่พัฒนาด้านบล็อกเชนและพับลิกคลาวด์ก็ปิดตัวไปเช่นกัน

สายไอทีใครว่ารอด! องค์กรระดับโลกเลิกจ้างพนักงานรวมกันเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว

AIS ผู้ให้บริการเครือข่ายอันดับหนึ่งของไทยก็มีการปลดพนักงานกว่า 200 คนหลังประเมินผลงานต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงสิ้นปี 2565 จากพนักงานทั้งกรุ๊ปที่มีกว่า 20,000 คน ส่วนข่าวลือว่าจะปลดพนักงานมากถึง 3,000 คนนั้น ยังต้องจับตาดูกันต่อไป

นี่ยังไม่รวม JD Central ที่กำลังจะปิดตัวพนักงานที่เคยทำงานในกลุ่มนี้จะตกงานกันอีกสักเท่าไหร่ 

สิ่งที่พนักงานจะต้องได้รับหลังถูกเลิกจ้าง 

  1. เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงาน ที่จะคิดตามอายุงานโดยอ้างอิงจากอัตราเงินเดือนล่าสุดมาคำนวณ ยกเว้นการถูกไล่ออกด้วยความผิดร้ายแรงของตัวพนักงานเองจะไม่ได้รับเงินชดเชย
  2. เงินอื่นๆ ที่นายจ้างให้จากการลาออก เช่น ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ค้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนที่ยังไม่ได้ใช้ เงินเดือนที่ค้างชำระ ค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้าง เงินบำเหน็จอื่นๆ เป็นต้น
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมไว้

นอกจากนี้ การคำนวณอัตราค่าจ้างที่พนักงานจะต้องได้ชดเชย ต้องแบ่งเป็น

  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 120 วันแต่ไม่ถึง 1 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 3 ปีแต่ไม่ถึง 6 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 10 ปีแต่ไม่ถึง 1 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
  • ระยะเวลาการทำงาน ครบ 20 ปีแต่ไม่ถึง 1 ปี จำนวนค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน
related