svasdssvasds

โทรคมนาคมไทย เสี่ยง ‘ผูกขาด’ กรณี AIS ซื้อ 3BB และ TRUE กับ DTAC

โทรคมนาคมไทย เสี่ยง ‘ผูกขาด’ กรณี AIS ซื้อ 3BB และ TRUE กับ DTAC

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่า  "คนไทยจะยอมทุนผูกขาดไปอีกนานแค่ไหน" จากกรณี AIS-3BB และ TRUE-DTAC ที่กำลังควบรวมกัน

ดร.สมเกียรติ โพสต์สเตตัส ความว่า : 

"ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ทรูและดีแทคที่กำลังเดินหน้าควบรวมกันแล้ว  

ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า เอไอเอสจะซื้อ 3BB อีก ผมคิดว่า 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า แค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม ท่ามกลางการสร้างกระแสว่าประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนการควบรวม 

 

หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย 

การจัดการอำนาจผูกขาดของธุรกิจเอกชนโดยหน่วยงานรัฐไทย ทั้ง กสทช. หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตลอดจนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งคณะรัฐมนตรี สภาและฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะกำหนดอนาคตของทุนนิยมไทย อนาคตการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงประมาณ 120-150 ปีที่แล้ว ที่มีการควบรวมบริษัทน้ำมัน บริษัทรถไฟและธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในวงกว้าง 

จนภายหลังประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป ผลักดันให้เกิด “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) ที่เกิดการต่อต้านทุนผูกขาดในวงกว้าง เรียกนายทุนผูกขาดว่า Robber Baron เสมือนเป็น “โจรปล้นประชาชน” (ตรงกันข้ามกับการอวยว่าเจ้าสัวไทยรวยเพราะมีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศ) หรือกระแสพยายามควบคุมทุนใหญ่อีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบัน 

คำถามก็คือ พวกเราคนไทยจะยอมทนกับบรรดาทุนผูกขาด และรัฐที่เข้าข้างทุนใหญ่ไปอีกนานแค่ไหนกันครับ?  
#ไม่ทนทุนผูกขาด

ที่มา : bangkokbiz

ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดทฤษฎีที่ประธานสมเกียรติว่าไว้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการ ‘ผูกขาดทางธุรกิจ’ ซึ่งก่อนหน้านี้จากที่ได้สัมภาษณ์ สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ก็ได้พูดถึงอีกหนึ่งแนวคิด ดังนี้

หากเกิดการควบรวมของธุรกิจคมนาคมเกิดขึ้น ในแง่ดี อาจทำให้สะดวกต่อการให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ครอบคลุมทั่วประเทศ 

กรณีศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่มีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมเกิดขึ้น ระหว่าง Axiata และ Telenor ผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศมาเลเซีย ซึ่ง Axiata และ Telenor คืออันดับ 2 และ 3 ของประเทศ ซึ่งจุดมุ่งหมายคือควบรวมและมีความต้องการเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศนั่นเอง

เมื่อมีการประกาศการควบรวมกิจการเมื่อปีที่แล้ว คาดว่า Celcom Digi Berhad ใหม่จะสร้างบริษัทที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์และผลกำไรหลัก 1.4 พันล้านดอลลาร์จากฐานลูกค้าประมาณ 19 ล้านราย Digi.Com มีมูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหุ้นธุรกิจก็พุ่งสูงขึ้นทันทีหลังจากมีการควบรวมธุรกิจเกิดขึ้น

มีแนวคิดจากคำกล่าวประกาศที่น่าสนใจของ Haakon Bruaset Kjoel ประธานคณะกรรมการบริหารของ Digi.Com กล่าวว่า "วันนี้ทำให้เราก้าวเข้าใกล้การสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งในมาเลเซียด้วยการรวมขนาด ประสบการณ์ เครือข่าย และความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางดิจิทัลของมาเลเซียในปีต่อๆ ไป" บริษัทต่างๆ จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการขับเคลื่อนโซลูชั่น 5G 

เมื่อได้เห็นการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมของต่างประเทศ ก็ทำให้เราเห็นได้ว่าอนาคตจะเป็นไปได้สองแง่ คือแง่แรกอย่างที่ ดร.สมเกียรติ ว่าไว้ และอีกแง่ก็อาจเป็นข้อดีในการพัฒนาโทรคมนาคมของไทยให้ไปในรูปแบบเดียวกันและเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น