svasdssvasds

เปิดใจแกนนำ “จะนะรักษ์ถิ่น” เหตุผลที่ต้องต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

เปิดใจแกนนำ “จะนะรักษ์ถิ่น” เหตุผลที่ต้องต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

SpringNews ได้สัมภาษณ์ สมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก่อนที่ ครม.จะมีมติรับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ให้ชะลอโครงการดังกล่าวแล้ว

จากรณีที่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติให้เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งขัดกับมติ ครม.เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ให้ยุติโครงการชั่วคราวก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบ นำไปสู่การเคลื่อนไหวชุมนุมที่นำโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยในวันนี้ (14 ธ.ค. 64) ครม.ก็มีมติรับข้อเสนอของผู้ชุมนุม ให้ชะลอโครงการ และศึกษาผลกระทบก่อน

โดยเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ SpringNews ได้สัมภาษณ์ สมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ก่อนที่จะมีเผยแพร่มติ ครม.ในช่วงบ่าย ซึ่งสมบูรณ์ คำแหง ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ โดยเฉพาะเหตุผลที่พวกเขาต้องต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ดังต่อไปนี้   

สมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไร จึงเป็นที่มาของการชุมนุม ?

สมบูรณ์ คำแหง : ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า อำเภอจะนะ มีอยู่ 3 ตำบลที่ติดกับชายฝั่งทะเล นิคมอุตสาหกรรมกินพื้นที่ครอบคลุม 3 ตำบล ซึ่งเขาอาจไม่ได้ซื้อพื้นที่ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน แต่มันก็อยู่ใกล้กัน มันอยู่ติดชุมชนเลย

โดยสิ่งที่ชาวบ้านกังวลที่สุดก็คือ ถ้านิคมอุตสาหกรรมเกือบ 2 หมื่นไร่เกิดขึ้น จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นร้อยโรงงาน แล้วเรื่องมลพิษ จะจัดการอย่างไร ? เรื่องน้ำเสีย จะจัดการอย่างไร ? ซึ่งมันหนีไปพ้นลงทะเลอยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลเหล่านี้ต้องบอกกับชาวบ้านให้หมด แต่ที่ผ่านมามันไม่ปรากฏ มันไม่ชัดเจน ชาวบ้านก็พยายามถาม เขาก็พูดถึงความเจริญ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในทางเศษฐกิจที่ดีขึ้น แต่มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่พอใจวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ แต่นิคมอุตสาหกรรมมันเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ จึงหนีไม่พ้นผลกระทบในอนาคต

นี่ยังไม่พูดถึงวิถีวัฒนธรรม ที่พื้นที่ดังกล่าวมีมุสลิมเกือบ 100 % ซึ่งสังคมมุสลิมชายแดนใต้ มีลักษณะเฉพาะ แล้วถ้าโรงงานอุตสาหกรรมมีแรงงานจำนวนมากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ สังคมมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ? วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร ? อันนี้ก็เป็นคำถามของชาวจะนะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ไม่มีใครให้คำตอบได้  

รวมถึงความไม่ชอบ ที่เอาที่ดินไปออกโฉนดโดยรัฐบาลปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นคำถามจากชาวบ้านว่า กระบวนการที่มันไม่ชอบ การออกโฉนดที่มันไม่ชอบ ตอนนี้มีชาวบ้าน 4-5 รายไปฟ้องศาลว่ามีกระบวนการออกโฉนดไปครอบที่ดินของเขา แล้วก็เอาไปขายให้กับบริษัทที่จัดทำโครงการ แต่จริงๆ มีเยอะกว่านี้ และผมคิดว่าถ้าทำข้อมูลทางคดีให้ปรากฏ ก็จะเห็นความไม่ชอบในเรื่องการจัดการที่ดิน

คือมันเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวบ้านเขาจะยอมขายที่ดินให้กับนิคมอุตสาหกรรม เพราะรู้อยู่แล้วว่าชะตากรรม อนาคตจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์หนึ่งที่เจ้าของบริษัทพยายามโต้ว่า เขาก็ซื้อที่ดินมาถูกต้องตามกฎหมาย เขาจึงมีสิทธิ์ที่จะนำที่ดินไปทำอะไรก็ได้

เขาก็พูดถูกส่วนหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงแล้วโครงการใหญ่ขนาดนี้มันต้องตอบสังคม ตอบชาวบ้านให้ได้ คุณจะดูแล คุณจะปกป้องไม่ให้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่คุณมีตังค์แล้วคุณบอกว่า มีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้ ดังนั้นต้องมีการศึกษา ต้องมีรายงานทางวิชาการว่า ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น แล้วมันจะส่งผลกระทบอย่างไร แล้วค่อยมาตัดสินกัน ซึ่งมันแฟร์ที่สุด

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีความจำเป็นแค่ไหน ที่ต้องสร้างในพื้นที่ดังกล่าว ?

สมบูรณ์ คำแหง : ไม่ใช่คนสงขลาขัดขวางการพัฒนา ตอนนี้มีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งที่ผมพอรู้นะ ที่มีอยู่แล้วคือ นิคมอุตสาหกรรมฉลุง อยู่ในอำเภอบางกล่ำ ก็ยังว่างอยู่ คือเราเคยถามไปที่การนิคมอุตสาหกรรมฯ ว่า พื้นที่การลงทุนในจังหวัดสงขลา มันไม่มีแล้วจริงหรือ ? เขาบอกว่าที่ฉลุง มันว่างอยู่เกินครึ่ง พื้นที่การใช้งานยังว่างอยู่มาก แล้วก็มีนิคมฯ ที่สะเดา ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ

ฉะนั้นถ้าถามว่า ในจังหวัดสงขลาไม่มีพื้นที่สำหรับการลงทุนแล้วจริงหรือ ? ผมว่าไม่จริง ซึ่งต้องกลับไปดูว่า ทำไมจึงอยากสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะ (ใครบางคน) ถลำไปซื้อที่ดินของคนในรัฐบาล อันนี้ก็เป็นข้อสงสัยของพวกผมครับ

ปีที่แล้ว 2563 ครม.มีมติให้ยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ชั่วคราว เพื่อทำการศึกษาผลกระทบก่อน แต่จู่ๆ เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีนี้ ครม.กลับมีมติให้เดินหน้าโครงการดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอะไร ในบ้านเมืองนี้ ?

สมบูรณ์ คำแหง : ผมคิดว่าอำนาจในการบริหารรัฐบาลนี้มีปัญหาแล้ว เวลารับหน้าในทางการเมืองนี่ ผมคิดว่านายกฯ ประยุทธ์รับเต็มๆ แต่ในทางปฏิบัติ อย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผมคิดว่า คนที่รู้เรื่องนี้และตัดสินใจจริงๆ อำนาจอยู่กับรองนายกฯ ประวิตร เพราะฉะนั้นเวลารองนายกฯ ประวิตร เขาเคาะเนี่ย หมายความว่า เขาก็เคาะตามที่ดีลกับทางกลุ่มทุน

อันนี้พูดแบบมองโลกในแง่ดีหน่อยนะ นายกฯ อาจไม่รู้เรื่อง พอมี มติ ครม.ไปเมื่อปีที่แล้ว (ให้ยุติชั่วคราว) มันก็เป็นที่มาที่นายกฯ ต้องแถไปเรื่อย ท่านเซ็นเอง แต่ท่านก็ยังลืมว่าตัวเองเป็นคนเซ็นลงนามให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานในการดำเนินการเรื่องนี้ (เมื่อปลายปีที่แล้ว) ท่านยังลืมถึงขั้นที่ว่าเรื่องนี้เคยนำเข้าที่ประชุม และ ครม.รับทราบแล้วด้วย ซึ่งท่านแถลงข่าวเองด้วยซ้ำในวันที่ 15 ธ.ค. 63 ว่าคณะรัฐมนตรีรับหลักการ แล้วก็จะตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบ ก็คือ คณะรัฐมนตรีรับทราบมติ ที่เป็นข้อตกลงทั้งหมดแล้ว ก็จะตั้ง คณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบ แล้วท่านก็เซ็นคำสั่งวันที่ 27 ม.ค. 64 มันชัดเจนมากว่า ในขบวนการทางการเมือง น่าจะมีปัญหากันภายใน

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

หากวันนี้ (14 ธ.ค. 64) ที่ประชุม ครม.มีมติตามที่เครือข่ายเรียกร้อง แต่ต่อมามีการกลับมติ ครม.อีก เครือข่ายจะดำเนินการอย่างไร ?

สมบูรณ์ คำแหง : ถ้าวันนี้เป็น ครม.มีมติตามที่พวกผมเสนอไปทั้งหมด โอเค แต่ถ้าจู่ๆ รัฐบาลจะกลับมติ ครม.อีก ผมคิดว่างานนี้ไม่จบ ซึ่งมันก็จะชี้วัดให้เห็นว่า การบริหาราชการภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนี่ เริ่มมีปัญหาแล้ว มติ ครม.ที่มันพลิกไปพลิกมาได้ ผมคิดว่าประเทศนี้คงอยู่ลำบากแล้ว ประชาชนต้องนั่งสุมหัวคุยกันแล้วว่า จะเอายังไงกับรัฐบาลแบบนี้

related