svasdssvasds

เลือกตั้งซ่อม กทม. เกมที่เพื่อไทย ต้องชนะ และพลังประชารัฐ ก็แพ้ไม่ได้

เลือกตั้งซ่อม กทม. เกมที่เพื่อไทย ต้องชนะ และพลังประชารัฐ ก็แพ้ไม่ได้

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดๆ ถึงความสำคัญของสนามเลือกตั้งเขต 9 กทม. ว่า ใครมีแนวโน้มคว้าชัย ? และผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้งดังกล่าว ระหว่างพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม จะสะท้อนให้เห็นทิศทางการเมืองภาพใหญ่อย่างไร ?

ถือว่าเป็นอีเวนต์การเมืองที่ถูกโฟกัสเป็นพิเศษ สำหรับศึกเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. หลักสี่-จตุจักร ที่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการทวงแชมป์คืน ต่างหมายมั่นปั้นมือต้องชนะในศึกนี้ให้จงได้

รวมถึงพรรคก้าวไกล ที่หวังจะผงาดในเขตนี้เช่นกัน หลังเคยโกยคะแนนเป็นกอบเป็นกำจากเขตดังกล่าวในการเลือกตั้งปี 2562 หรือแม้แต่พรรคกล้า ก็ถึงขั้นทุ่มสุดตัว ส่งระดับเลขาธิการพรรคลงมาทำศึก เพื่อแสดงให้เห็นว่า งานนี้พี่ไม่ได้มาเล่นๆ  

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นภาพชัดๆ ถึงความสำคัญของสนามเลือกตั้งเขต 9 กทม. ว่า ใครมีแนวโน้มคว้าชัย ? และผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้งดังกล่าว ระหว่างพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม จะสะท้อนให้เห็นทิศทางการเมืองภาพใหญ่อย่างไร ?

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งซ่อม กทม. รัฐบาล VS ฝ่ายค้าน

แม้ผู้ชนะในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. จะมีวาระการเป็น ส.ส.แค่ปีเศษๆ แต่ด้วยความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงไปยังการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้บรรยากาศการต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด และคาดว่าจะทวีดีกรีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนรู้ผลแพ้ชนะกันไปข้าง โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเลือกตั้งซ่อม เขต 9 ไว้ดังนี้

“การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความน่าสนใจ แม้จะเป็นการเลือกตั้งซ่อมแค่เขตเลือกตั้งเดียว ก็คือเขต 9 (หลักสี่ จตุจักร) แต่ว่านี่คือการเลือกตั้งซ่อมในเมืองหลวง จึงเป็นภาพสะท้อนไปสู่การเมืองใหญ่ได้อย่างชัดเจน เพราะมีการเลือกตั้งทั่วไปรออยู่ข้างหน้า ตามไทม์ไลน์คือช่วงปี 2566 ที่สภาผู้แทนฯ จะครบวาระ หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง การเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนปี 2566 ก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้นการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะส่งผลกระทบภาพทางการเมืองไปถึงอนาคต และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก.

“ซึ่งในสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 9 เป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ กับฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ที่ชัดเจนมากกว่าที่ชุมพรกับสงขลา ซึ่งเป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้การเลือกตั้งซ่อมในเขต 9 มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ เพิ่งพ่ายศึกเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ สนามเลือกตั้งซ่อม กทม. จึงแพ้ไม่ได้

และจากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเพิ่งพ่ายศึก แพ้เลือกตั้งซ่อมให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ถึง 2 เขตซ้อน จึงมีความจำเป็นต้องรักษาแชมป์ในเขต 9 กทม. หลักสี่ จตุจักร ให้จงได้ เพราะถ้าพ่ายแพ้อีก ก็เท่ากับว่าแพ้เลือกตั้งซ่อมติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับขวัญกำลังใจของสมาชิกเป็นอย่างมาก

“สนามเลือกตั้งซ่อม ที่ชุมพร สงขลา ผมคิดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสนามเลือกตั้งซ่อมที่กรุงเทพฯ โดยตรง แต่สิ่งที่จะมีผลมากก็คือ ภาพทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จแทบทุกสนามเลือกตั้งซ่อม แม้กระทั่งเขตเกรดเอของพรรคประชาธิปัตย์ เช่นที่นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐก็เคยชนะมาแล้ว

“แต่เมื่อแพ้เลือกตั้งซ่อมใน 2 เขตพร้อมกันที่ชุมพร และสงขลา เมื่อเดือนมกราคม 2565 ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐ เริ่มถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล ตัวผู้นำ เรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลของการแก้สถานการณ์โควิด-19 เรื่องของวัคซีน เรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ฯลฯ ซึ่งผลโดยตรงนั้นอาจไม่มี แต่ว่ามันจะส่งผลทางอ้อมในลักษณะของภาพลักษณ์ที่ส่งเข้าไปสู่การเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพฯ นั่นเอง”

สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครเลือกซ่อม เขต 9 กทม.

“สุรชาติ” เต็งหนึ่ง แต่ก็ประมาท “สรัลรัศมิ์” ไม่ได้

ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. นอกจากสุรชาติ เทียนทอง ผู้ท้าชิงจากพรรคเพื่อไทย สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่ ก็ยังมีผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มีความโดดเด่นอาทิ เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล รวมถึงอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ได้วิเคราะห์ผู้สมัครทั้งสี่ราย ดังต่อไปนี้

“คุณสุรชาติ เทียนทอง ของพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นบุคคลที่มีความได้ปรียบมากที่สุด ด้วยมีความโดดเด่นเพราะรู้จักพื้นที่ดี แล้วคลุกคลีพื้นที่นี้มายาวนาน โดยคุณสุรชาติลงสมัคร ส.ส. ในพื้นที่หลักสี่ ตั้งแต่ตอนอยู่พรรคประชาราช ซึ่งเป็นพรรคของคุณเสนาะ เทียนทอง คุณพ่อของคุณสุรชาตินั่นเอง ตอนนั้นได้คะแนนสองพันนิดๆ กระทั่งได้เป็น ส.ส. ในนามของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554

“เพราะฉะนั้นในแง่ของความคุ้นเคยพื้นที่ จึงเป็นจุดเด่นของคุณสุรชาติ แม้เป็นคนที่พูดไม่เก่ง ในเวทีดีเบตต่างๆ ดูแล้วไม่ค่อยโดดเด่นเท่าท่านอื่น แต่จุดเด่นก็คือรู้จักพื้นที่ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนาน คุณสุรชาติจึงมีความได้เปรียบมากที่สุดในเวลานี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ

“แต่ก็ไม่สามารถประมาทคุณสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของคุณสิระได้ แม้หลายคนมองว่าคุณสรัลรัศมิ์ อาจได้รับผลกระทบจากกการที่พรรคพลังประชารัฐมีภาพที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ในเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจต่างๆ รวมไปถึงภาพลักษณ์ของตัวคุณสิระเอง

“แต่อย่าลืมว่า คุณสิระห้อยหลวงพ่อป้อม (หัวเราะ) ตรงนี้เชื่อว่า หลวงพ่อป้อมไม่ทิ้งคุณสิระ และมีโอกาสได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งด้วยบารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ก็บอกได้เลยว่า ประมาทภรรยาของคุณสิระไม่ได้

“ประกอบพื้นที่หลักสี่มีค่ายทหารอยู่ด้วย คล้ายกับบางซื่อในสมัยก่อน ผู้ที่ลงเลือกตั้งจึงต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับทหาร ตรงนี้จึงเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ ที่ทำให้ไม่สามารถประมาทภรรยาของคุณสิระ และพรรคพลังประชารัฐได้

“ส่วนของพรรคน้องใหม่อย่าง พรรคกล้า ที่ส่งคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค ลงเลือกตั้งซ่อม กับพรรคก้าวไกล ที่ส่งคุณเพชร กรุณพล ก็คาดว่าจะเบียดแย่งอันดับ 3 กัน แต่ถ้าจะเข้าที่ 1 ยังเป็นงานที่หนักแล้วก็ยากอยู่ แม้ว่าคุณอรรถวิชช์จะเคยเป็น ส.ส. ในเขตจตุจักร สมัยที่ยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่คุณอรรถวิชช์ไม่ได้ลงพื้นที่มานานแล้ว  ซึ่งในอดีตจตุจักรกับหลักสี่เป็นคนละเขตเลือกตั้งกัน

“ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ผู้ที่เป็น ส.ส.ของเขตหลักสี่ จตุจักร ก็คือคุณสุรชาติ แล้วก็ตามมาด้วยคุณสิระ ในการเลือกตั้งปี 2562 จึงไม่รู้ว่าในเวลานี้ฐานเสียงของคุณอรรถวิชช์ยังมีอยู่มากน้อยเพียงใด แล้วตอนที่คุณอรรถวิชช์ได้เป็น ส.ส. มาจากฐานเสียงส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน หรือว่ามาจากกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ผมจึงคิดว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายสำหรับคุณอรรถวิชช์

“ในขณะที่คุณเพชร กรุณพล พรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) มีความโดดเด่นในเรื่องการตอบคำถาม การดีเบต การแสดงความคิดเห็น แต่ฐานเสียงของพรรคในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีแรงส่งมากนัก แม้ว่าในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่จะได้คะแนนป๊อบปูลาร์โหวตมากที่สุดในกรุงเทพฯ จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ หรือนิวโหวตเตอร์ แต่อย่าลืมว่าเขาไม่ได้รวมตัวที่เขตหลักสี่ จตุจักร แต่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ

“ผมจึงคิดว่าคุณเพชร กรุณพลจะได้คะแนนประมาณอันดับที่ 3 ส่วนอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 สามารถพลิกไปพลิกมาได้ตลอด อาจแพ้-ชนะกันแค่หลักพันคะแนน เหมือนครั้งที่แล้วที่คุณสิระชนะสุรชาติแค่สองพันคะแนน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าผู้สมัครฯ ที่กล่าวมานี้มีโอกาสติดโผอันดับที่ 1 - 3 ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ เป็นสีสันทางการเมืองมากกว่า” 

เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม.

คะแนนนิวโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกล จะไปตัดคะแนนเพื่อไทย หรือไม่ ?

พรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ที่เขต 9 กทม. ได้คะแนนเสียงระดับหลักหมื่น แม้จะได้อันดับที่ 3 แต่ถือว่าสูงมากสำหรับพรรคใหม่ และถูกตั้งข้อสังเกตว่า ความพ่ายแพ้ของสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ต่อสิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ เพียงแค่สองพันคะแนน ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการตัดคะแนนกันเองของพรรคฝั่งเสรีนิยม และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำรอยหรือไม่ โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้   

“จริงๆ แล้วคะแนนของพรรคก้าวไกล หรือเวลานั้นคืออนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2662 ส่วนที่ทับซ้อนกันไม่ได้มีมากนะครับ แต่คนมักเข้าใจว่า 2 พรรคนี้มีฐานเสียงที่ทับซ้อนกัน แต่ในความเป็นจริงส่วนที่ทับซ้อนกันไม่ได้มาก ถ้าย้อนไปดูคะแนนเมื่อปี 2562 ในเขตหลักสี่ จตุจักร สองพรรคนี้ไม่ได้มีคะแนนที่ทับกันมากเลย อาจมีเป็นบางส่วนเท่านั้น แต่เป็นฐานเฉพาะของแต่ละกลุ่มมากกว่า ไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนที่จะไปทำให้พรรคหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง

"แต่ที่เรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้นมา ก็เพราะในการปราศรัยของบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยที่พุ่งเป้าไปยังพรรคก้าวไกลว่า การเลือกตั้งนั้นประชาชนต้องการ ส.ส.จริงๆ ไม่ใช่ ส.ส.ดารา เป็นต้น หรือการยกตัวอย่างในเรื่องของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในมาเลเซีย รวมถึงการปราศรัยของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ก็อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า 2 พรรคนี้ ฐานเสียงทับซ้อนซึ่งกันและกัน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

พรรคพลังประชารัฐ กับการรักษาระยะห่างระหว่างบิ๊กตู่ในการเลือกตั้งซ่อม กทม.

บิ๊กตู่เป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 แต่ในการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร สงขลา ได้มีการปรับกลยุทธ์ ไม่ชูบิ๊กตู่ เนื่องจากถูกประเมินว่าเป็นขาลง แล้วก็ได้ชูบิ๊กป้อมขึ้นมาแทน แล้วผลก็ออกมาว่า พรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 เขต ซึ่งสำหรับเลือกตั้งซ่อม กทม. รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ก็เชื่อว่าจะไม่มีการชูบิ๊กป้อมอย่างชัดๆ และก็ไม่ชูบิ๊กตู่ขึ้นมาเป็นจุดขาย อีกทั้งยังต้องรักษาระยะอีกต่างหาก  

“ในพรรคพลังประชารัฐ มีกลุ่มทางการเมืองมากมาย แล้วการที่พรรคไม่ได้เติบโตมาทางฐานของชนชั้นกลาง จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2564 ที่มีแผนล้มนายกฯ เกิดรอยร้าว 3 ป. ฯลฯ หลายคนจึงโยงว่า พลังประชารัฐไม่สนับสนุนลุงตู่แล้ว ซึ่งก็มีโอกาสเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน (สัมภาษณ์วันที่ 18 ม.ค. ก่อนพลังประชารัฐมีมติขับก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค)  

"วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตั้งคำถามความชอบธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่ท่านถูกตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงคำถามที่ว่าท่านจะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตัวเองอย่างไร ? ท่านจะลาออกไหม ? ท่านจะยุบสภาหรือไม่ ? จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเปล่า ?

“เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชารัฐ ต้องพยายามรักษาระยะห่างกับนายกฯ เพื่อไม่ให้เป็นโดมิโนไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่รออยู่ข้างหน้า เพราะปัญหาของแพง หมูแพง ก็พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่หลายปัญหาเกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเรื่องโรคระบาดในหมู ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ส่วนราคาหมูแพง สินค้าแพง พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์โดยตรงเช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่าปัญหาทุกอย่างไปกองที่ พล.อ.ประยุทธ์หมดเลย”

พล.อ.ปนะยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

บิ๊กตู่จะ “อยู่ต่อ หรือพอแค่นี้” ประเด็นที่ต้องจับตาในปี 2565  

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกระดับ และกำลังถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นใด นั่นก็คือ ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของบิ๊กตู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้เกิน 8 ปี ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2557 ที่บิ๊กตู่เป็นนายกฯ สมัยแรก ก็ถือว่าครบ 8 ปีในปีนี้นี่แหละ แต่ปัญหาก็คือ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา จะเริ่มนับตั้งแต่ปีไหน โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ก็ได้แสดงความคิดเห็นปิดท้ายการสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้

“เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีในปี 2565 และจะมีสิทธิ์เป็นนายกฯ ต่อไปได้อีกหรือไม่ วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ท้ายสุดแล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร แต่ที่มีโอกาสสูงมากก็คือ การยื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะใช้เสียงแค่ 1 ใน 10 ของ ส.ส. ซึ่งมันไม่ได้เยอะเลย

ประการที่ 1 ถ้ามีการยื่นเรื่อง ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกมาได้ทุกรูปแบบ ทั้งนับตั้งแต่ปี 2557 (เป็นนายกฯ ครั้งแรก) ปี 2560 (รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้) หรือ ปี 2562 (สภาโหวตให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ) ซึ่งคำวินิจฉัยตรงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงการวางบรรทัดฐานทางการเมืองด้วย

“จริงอยู่เรื่องนายกฯ 8 ปีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เขียนย้ำชัดลงไปว่านับระยะเวลาทั้งหมดเลย ทั้งต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เรื่องนี้มีโอกาสเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

ประการที่ 2 จะเป็นการชี้อนาคตรัฐบาล ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งในปีนี้ ถึงแม้จะสามารถเลือกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ แต่ในที่สุดแล้ว เรือที่ไม่มีหัว มันก็ไปต่อได้ยาก

ประการที่ 3 คือชี้อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ในทางการเมือง เพราะถ้านับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557 นั่นแปลว่าท่านต้องยุติบทบาททางการเมืองในปี 2565 แต่ถ้าท่านจะอยู่ต่อ ก็ต้องไปดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร

“หรือถ้าท่านตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (ลงจากตำแหน่งเอง) มันก็จะเป็นภาพที่ดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าศาลฯ จะวินิจฉัยอย่างไร และถ้าศาลฯ วินิจฉัยว่า เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 58 การลงจากตำแหน่งนายกฯ หลังคำวินิจฉัย ก็จะเป็นไปอย่างไม่สวยงาม แต่ถ้าสมมติว่า ศาลฯ วินิจฉัย ให้นับตั้งแต่ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2570 เลยครับ

“ดังนั้นถ้าท่านอยู่ต่อ ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญก็จะมีมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาแนวไหน ถ้าท่านมั่นใจ ก็อยู่ต่อได้ครับ แต่ถ้าท่านรู้สึกว่าพอแล้ว ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายๆ เรื่อง การตัดสินใจลงจากตำแหน่งนายกฯ เองก็ดูสวยงามกว่า และความเสี่ยงก็น้อยกว่าครับ”

หมายเหตุ : สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ก่อนที่พรรคพลังประชารัฐ จะมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวก รวม 21 ส.ส. ออกจากพรรค 

related