svasdssvasds

ทำความรู้จัก นาโต้ คือใคร ทำไมเป็นปัจจัยแห่งความขัดแย้ง รัสเซีย – ยูเครน

ทำความรู้จัก นาโต้ คือใคร ทำไมเป็นปัจจัยแห่งความขัดแย้ง รัสเซีย – ยูเครน

ทำความรู้จัก นาโต้ คือใคร ประเทศไหนบ้าง องค์การที่เกิดขึ้นเพื่อสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของโซเวียต (รัสเซียเดิม) ในยุคสงครามเย็น ที่วันนี้กลายเป็นอีกปัจจัยแห่งความขัดแย้ง รัสเซีย – ยูเครน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน จนทำให้ทั่วโลกหวั่นเกรงว่า จะกลายเป็นสงครามใหญ่ นั่นก็คือการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนของยูเครน ที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิก นาโต้ (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ แล้วองค์การนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญดังกล่าว รวมถึงมีที่มาอย่างไร ? SpringNews ขอเล่าสู่กันดังต่อไปนี้

1. นาโต้ คือใคร?

หากจะบอกว่า การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ นาโต้ (NATO) ก็เพื่อสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของโซเวียต (รัสเซียเดิม) ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็น แบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา บิ๊กบราเธอร์ฝั่งประชาธิปไตย กับ สหภาพโซเวียตบิ๊กบราเธอร์ฝั่งคอมมิวนิสต์

นาโต้ (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2492 (ค.ศ. 1949) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับประเทศสมาชิก ในกรณีที่ถูกคุกคามจากภายนอก รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ตราสัญลักษณ์ NATO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. ประเทศสมาชิก นาโต้ มีประเทศไหนบ้าง ?

ในช่วงเริ่มต้นมี 12 ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญา นาโต้ (NATO) ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 2. สหราชอาณาจักร 3. แคนาดา 4. เบลเยียม 5. เดนมาร์ก 6. ฝรั่งเศส 7. ไอซ์แลนด์ 8. อิตาลี 9. ลักเซมเบิร์ก 10. เนเธอร์แลนด์ 11. นอรเวย์ และ 12. โปรตุเกส

ปัจจุบันองค์การนาโต้ มีประเทศสมาชิก 30 ประเทศ และถึงแม้จะสิ้นสุดยุคสงครามเย็น หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่หลายประเทศก็ยังต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นก็คือประเทศยูเครน

ส่วนไทย มีสถานะเป็น “พันธมิตรหลักนอกนาโต้” ซึ่งก็มีอีกหลายประเทศที่ได้รับสถานะดังกล่าว อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น บราซิล เป็นต้น

ธง NATO

3. องค์การสนธิสัญญา Warsaw

หลังจากประเทศในฝั่งประชาธิปไตย ได้มีการก่อตั้งองค์การนาโต้ (NATO) ทำให้สหภาพโซเวียต (ในเวลานั้น) ต้องมีแอ็กชั่นในฐานะบิ๊กบราเธอร์ฝั่งคอมมิวนิสต์ จึงได้มีการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญา Warsaw ในปี 2498 (ค.ศ.1955)

มีสมาชิกทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ 1.สหภาพโซเวียต (ในเวลานั้น) 2. เยอรมนีตะวันออก (ในเวลานั้น) 3. โปแลนด์  4. เชสโกสโลวะเกีย 5. ฮังการี  6. โรมาเนีย  7. บัลแกเรีย และ 8. อัลแบเนีย

โดยองค์การสนธิสัญญา Warsaw ได้สิ้นสุดลงหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 (ค.ศ.1991)

ประเทศรัสเซีย

4. โซเวียตล่มสลาย หลายประเทศประกาศเอกราช และเข้าร่วมนาโต้

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย หลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต ก็ประกาศเอกราช และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ นาโต้ (NATO) แรกๆ รัสเซียก็ได้แต่มองตามตาปริบๆ เพราะกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ แต่เมื่อรัสเซียตั้งหลักได้แล้ว ก็มีพยายามขัดขวางไม่ให้ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ นาโต้ (NATO) เพราะไม่เช่นนั้นรัสเซียจะถูกปิดล้อมด้วยประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ เสียเปรียบด้านยุทธภูมิศาสตร์อย่างเต็มๆ

5. รัสเซียพยายามแทรกแซงยูเครน สกัดแผนเข้าร่วมนาโต้

ในปี 2547 (ค.ศ.2004) รัสเซียพยายามสนับสนุนวิกเตอร์ ยานูโควิช ชิงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน และก็ชนะเลือกตั้ง แต่ก็ถูกกล่าวหาว่ามีการโกง ทำให้ชาวยูเครนไม่พอใจออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แล้ว วิกเตอร์ ยุชเชนโก คนที่รัสเซียไม่ปลื้ม ก็ได้เป็นประธานาธิบดียูเครน

โดยยุชเชนโกได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่สลัดอิทธิพลของรัสเซียในยูเครน ด้วยความพยายามเข้าร่วมองค์การนาโต้ (NATO) จนได้รับสถานะประเทศหุ้นส่วน ที่อาจได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การดังกล่าวในอนาคต

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

6. วิกเตอร์ ยานูโควิช ได้เป็นประธานาธิบดี (จนได้)

แต่ในปี 2553 (ค.ศ.2010) วิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ก็ได้เป็นประธานาธิบดียูเครน และดำเนินนโยบายตามออเดอร์รัสเซียอย่างชัดเจน สร้างความไม่พอใจให้กับชาวยูเครน จนเกิดประท้วงครั้งใหญ่และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในปี 2556 (ค.ศ.2013) และเมื่อสถานการณ์บานปลายจนยานูโควิชเอาไม่อยู่ เขาจึงตัดสินใจหลบหนีไปยังรัสเซีย

หลังจากนั้นในปี 2557 (ค.ศ.2014) เปโตร โปโรเชนโก ที่มีแนวคิดถอยห่างจากรัสเซีย ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดียูเครน โดยหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของเขาก็คือ การลดความพึ่งพารัสเซีย และเข้าร่วมเป็นสมาชิก นาโต้ (NATO) ให้จงได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรรวม 30 ประเทศ จะให้ความช่วยเหลือ หากยูเครนถูกรัสเซียข่มเหงรังแก

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานธิบดีรัสเซีย กับ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน

7. ยึดไครเมีย หนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ประชิดชายแดนยูเครน  

เมื่อใช้วิถีทางการเมืองเพื่อเข้าไปแทรกแซงยูเครนไม่ได้ผล รัสเซียจึงเปลี่ยนไปใช้วิถีทางการทหารกึ่งการเมืองนิดๆ  จนยึดไครเมียจากยูเครนได้สำเร็จ และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์และลูฮานสก์ เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 (ค.ศ.2019) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่มีแนวคิดไม่เอารัสเซียเช่นกัน ก็ได้เป็นประธานาธิบดียูเครน ที่เสมือนเป็นการประกาศก้องให้รู้ว่า ถึงแม้จะถูกกดดันอย่างหนัก แต่ชาวยูเครนก็ไม่เอารัสเซีย และโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ก็ได้สืบสานความพยายามขอให้ นาโต้ (NATO) รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียพยายามขัดขวางมาโดยตลอด กระทั่งนำมาสู่การบุกประชิดชายแดนยูเครนในเวลาต่อมา

ในวันนี้ อีกสิ่งที่ต้องจับตาก็คือท่าทีของนาโต้ (NATO) เพราะได้กลายเป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญไปแล้ว ที่ทุกการเคลื่อนไหว การขยับ การรับหรือไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ก็จะส่งผลต่อสถานการณ์ ทั้งที่อาจสามารถยุติความขัดแย้งลงชั่วคราว แต่ยังไม่จบ หรืออาจกลายเป็นชนวนสงครามใหญ่... อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อ้างอิง

หรือจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ? ความขัดแย้ง รัสเซีย VS ยูเครน

วิเคราะห์ยูเครน - รัสเซีย

พันธมิตรหลักนอก NATO

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)

Member states of NATO

วิเคราะห์สงครามตัวแทน...ในยูเครน | เจาะลึกทั่วไทย | 22 ก.พ. 65

องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)

รัสเซีย - ยูเครน กับเงื่อนไขที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม

 

related