svasdssvasds

Update Timeline ปมดราม่าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

Update Timeline ปมดราม่าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

อัปเดตความคืบหน้าและปมดราม่าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดเปิดขายซองประมูลแล้ว โดยมีกำหนดยื่นซองในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้

ยังคงต้องติดตามกันต่อไป สำหรับมหากาพย์ดราม่า ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เนิ่นนานมาเกือบ 2 ปี  ล่าสุดจะมีการยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่ง SpringNews เคยติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้สรุปไทม์ไลน์ปมดราม่า ในบทความที่ชื่อว่า “ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! บีทีเอส เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี” เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 โดยในบทความล่าสุดจะขออัปเดตเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1. จุดเริ่มต้นศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม : เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล หลังขายเอกสารการประมูลแล้ว  

 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 รฟม. ได้ประกาศให้เอกชนที่สนใจ เข้าร่วมซื้อเอกสารการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีเอกชน 10 ราย ซื้อเอกสารดังกล่าว ต่อมามีเอกชนรายหนึ่ง ได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้ประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินในเดือนสิงหาคม ปี 2563

2. บีทีเอส ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

บีทีเอส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เอกชนที่ซื้อเอกสารการประมูล เห็นว่าการประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประเมินการประมูลภายหลังการขายเอกสารการประมูลนั้น ไม่เป็นธรรม จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2563

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

3. ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์การประเมินใหม่

วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง ก็มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ นั่นหมายความว่า คณะกรรมการการคัดเลือกฯ ต้องใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประเมินการประมูล  ต่อมา รฟม.กับ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด

4. เลื่อนการเปิดซองประมูล

ที่เป็นคดีความ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนการประมูลก็ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยได้มีการเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 แต่พอใกล้ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเปิดซองประมูล รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ประกาศเลื่อนการเปิดซองออกไปอย่างไม่มีกำหนด

5. ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลุกลามไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ?

ด้วยไทม์ไลน์ที่ลงตัวอย่างเหมาะเจาะ โดยเฉพาะการที่กระทรวงการคมนาคม ต้นสังกัดของ รฟม. ทักท้วงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งหนังสือยืนยันว่า เห็นชอบถึง 3 ครั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลุกลามไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือไม่ ?

ไทม์ไลน์ ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม

6. ประกาศยกเลิกการประมูล

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. กับ คณะกรรมการคัดเลือกก็ประกาศยกเลิกการประมูล โดยไม่รอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. ได้มีการยื่นอุทธรณ์ไปก่อนหน้านั้น

7. คดีความต่างๆ

ในส่วนของคดีความหลักๆ มีทั้งที่บีทีเอสยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง อาทิ เรียกค่าเสียหาย 5 แสนบาทในกรณีการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งยกฟ้อง เพราะความเสียหายยังไม่เกิด แต่ก็ระบุว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนคดีที่บีทีเอส ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง กรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลอาญาฯ ก็ได้รับฟ้องเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วจะคำตัดสินออกมาอย่างไร

8. ความเสียหายจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยเขียนบทความผ่านเฟซบุ๊ก ความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า ไว้ดังนี้

ตามแผนเดิม รฟม.ต้องการจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนมีนาคม 2567 และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนกันยายน 2569

รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 82,907 ล้านบาท ใกล้จะแล้วเสร็จ แต่แม้จะสร้างเสร็จแล้วก็ไม่สามารถเปิดให้บริการตามแผนได้

เนื่องจาก รฟม. ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งจะต้องมาทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก และเดินรถตลอดเส้นทาง

ดร.สามารถ ระบุว่า รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี  ประกอบด้วย

8.1. ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี

รฟม.จะต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นเงิน 103 ล้านบาท/ปี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี เป็นเงิน 392 ล้านบาท/ปี รวมเป็นเงิน 495 ล้านบาท/ปี

8.2. ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี

รฟม.ประเมินว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออกในปีแรกที่เปิดให้บริการได้ 1,764 ล้านบาท/ปี ซึ่งถ้าเปิดช้าจะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าโดยสารจำนวนนี้

8.3. ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะทำให้ไม่สามารถบรรเทารถติดในพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียเวลาในการเดินทาง รฟม.จึงได้ประเมินเวลาที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงิน

อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนบุคคล เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงรักษา เหล่านี้ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะมีมูลค่าสูงถึง 40,644 ล้านบาท/ปี

9. รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2

หลังจากล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. ก็ได้เปิดขายซองเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน กำหนดรับซองข้อสนอในวันที่ 27 กรกฎาคม และเปิดซองข้อเสนอ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้  โดยมีเอกชนซื้อเอกสารการประมูลจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย และบีทีเอสก็ได้ซื้อซองประมูลในครั้งนี้ด้วย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

10. เกณฑ์การประเมินประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 สามารถเผย ทั้งโลกมีบริษัท 2 รายเท่านั้นที่คุณสมบัติครบ

ดร.สามารถ ระบุไว้ในบทความ “นายแน่มาก ! ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ทั้งโลกมีผู้รับเหมาผลงานครบแค่ 2 ราย” โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้

รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท มีดังนี้

(1) งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

(2) งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

(3) งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

ดร.สามารถระบุว่า การกำหนดให้มีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งโลกที่มีผลงานครบทั้ง 3 ประเภท เพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รายก็ยากที่จะเข้ารวมกับบีทีเอส ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้  

ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 จะมีบทสรุปเช่นใด ?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

อ้างอิง

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ล้วงไส้ในคะแนนเทคนิค ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?

ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! บีทีเอส เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี

สามารถ ชี้ ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน ! เหตุเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า ?

รถไฟฟ้าสายสีส้ม 1 สาย ทำไมใช้เกณฑ์ประมูลต่างกัน มีเงื่อนงำอะไรหรือไม่ ?

ศาลฯ วินิจฉัย เปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สามารถ ตั้งข้อสงสัย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบ 2 ล็อกสเปกหรือไม่ ?

สามารถ ตั้งข้อสงสัย เกณฑ์ประมูลใหม่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดร.สามารถ เผย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทั้งโลกมีผู้รับเหมาผลงานครบแค่ 2 ราย

related