svasdssvasds

ทำความรู้จัก Moral Hazard กับมายาคติ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ

ทำความรู้จัก Moral Hazard กับมายาคติ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ

ทฤษฎี Moral Hazard ในบริบททางการแพทย์ มีแนวคิดว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยการดูแลสุขภาพ แม้ที่ผ่านมาจะมีงานวิจัยยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่ทัศนคตินี้ก็ยังดำรงอยู่ และอาจเป็นกับดักทางความคิด ทำให้ปัญหาที่แท้จริงของระบบสาธารณสุขไม่ได้รับการแก้ไขสักที

30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยดูแลสุขภาพจริงหรือ ?” กลายเป็นประเด็นที่ที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลพ่วงมาจากดราม่า หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ที่โพสต์ข้อความถึงโตโน่ ภาคิน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจว่ายน้ำข้ามโขง โดยมีข้อความช่วงหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย ที่ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีที่มาจากระบบ “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยช่วงดังกล่าวที่หมอริทโพสต์ไว้ มีข้อความดังนี้

“...ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่าพันล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม...

สิ่งที่หมอริทระบายออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนจากความอัดอั้นตันใจของบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง และคาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังคงมีทัศนคติว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้มีคนไข้เยอะ โดยที่ผ่านมามักมีการหยิบยกทฤษฎีที่ชื่อว่า Moral Hazard เข้ามาอ้างอิงและรองรับทัศนคติดังกล่าว แล้วทฤษฎี Moral Hazard คืออะไร ? มาเกี่ยวข้องกับ 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างไร ? SPRiNG จะนำมาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้  

ทำความรู้จัก Moral Hazard และความเชื่อมโยง 30 บาทรักษาทุกโรค

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎี Moral Hazard ในบริบทสาธารณสุข

Moral Hazard คือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่นำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์และพยากรณ์พฤติกรรม โดย ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล ได้ให้ความหมายไว้ในบทความ Moral Hazard...จากเกมการเมือง / กรุงเทพธุรกิจ ไว้ว่า “Moral Hazard หรือ อันตรายบนศีลธรรม คือ สภาวการณ์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดแรงจูงใจในการสร้างภาวะเสี่ยงภัยให้กับตนเองเพิ่มขึ้น เพราะรับรู้เป็นอย่างดีว่า ตนไม่ต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมดที่เกิดจากภาวะเสี่ยงภัยนั้น”

ดังนั้นแล้วทฤษฎีนี้จึงมักถูกนำไปอ้างอิงในแวดวงประกันภัย อาทิเช่น เมื่อมีการทำประกันภัยรถยนต์แล้ว ผู้ขับขี่ก็อาจลดความระมัดระวังลง ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติมากขึ้นตามไปด้วย เป็นต้น

ส่วน Moral Hazard ในบริบทสาธารณสุข ก็ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยการดูแลสุขภาพ เพราะเมื่อมีหลักประกันในการรักษา ไม่ว่าจะเจ็บป่วยอย่างไร ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเสียเงินค่ารักษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากไม่ดูแลสุขภาพ บางคนอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงยิ่งขึ้น อาทิ สูบบุหรี่หนักขึ้น หรือดื่มเหล้าหนักขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข

ทำความรู้จัก Moral Hazard และความเชื่อมโยง 30 บาทรักษาทุกโรค

30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยดูแลสุขภาพจริงหรือ ?

เรื่องที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนละเลยดูแลสุขภาพจริงหรือ ? เคยมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้น  โดย ดร.ณัฎฐ์ หงส์ดิลกกุล ได้เคยนำผลวิจัย “The impact of Universal Health Coverage on health care consumption and risky behaviours: evidence from Thailand” มานำเสนอไว้ในบทความของตัวเองที่ชื่อว่า “โครงการ 30 บาทฯ ทำให้คนไม่รักษาสุขภาพจริงหรือ?” โดยได้ระบุว่า “งานวิจัยดังกล่าว ไม่พบว่ามี moral hazard เกิดขึ้นจากโครงการนี้ นั่นคือไม่พบว่าโครงการ 30 บาทฯ ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามากขึ้น”

ส่วนเพจ Drama-addict ในฐานะที่ผู้ทำเพจเคยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ก็ได้ระบุถึงงานวิจัยในประเด็น Moral Hazard กับ30 บาทรักษาทุกโรค ไว้ว่า “เวลาพูดถึงประเด็นพวกนี้ เราจะไม่พูดแค่ความเชื่อ แต่ต้องมีการวิจัยศึกษาว่ามันจริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า มีคนศึกษาวิจัยประเด็นนี้ในบ้านเราเรียบร้อย ผลปรากฏว่า การมีสามสิบบาทรักษาทุกโรค ไม่ทำให้เกิด moral hazard

“นั่นคือ เมื่อเทียบสถิติ พบว่า หลังมีระบบสามสิบบาท หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยก็ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และตัวเลขของเคสที่เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการกินเหล้าสูบบุหรี่ เทียบกันก่อนและหลังมีสามสิบบาท ก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญแต่ประการใด

“และงานวิจัยบางตัวก็ระบุว่า การมีสามสิบบาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น กลับทำให้คนไข้ได้รับข้อมูล และคำเตือนเรื่องการกินเหล้าสูบบุหรี่มากขึ้นก็จะส่งผลต่อการช่วยให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น

“เอาจริงๆ ถ้าเคยไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ ด้วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะรู้ว่า เหนื่อยนะครับ การมานั่งรอแลป นั่งรอหมอเรียก นั่งรอคิวกันแต่เช้า เหนื่อยมาก ไม่น่าจะมีใครอยากมาหาหมอบ่อยๆ เพราะเห็นว่าเป็นของฟรีหรอกครับ เพราะนอกจากจะเสียเวลา เหนื่อย แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝง พวกค่าเดินทางด้วย ยิ่งถ้าต่างจังหวัดนี่ยิ่งหนัก คนไข้บางคน ขาย follow up เพราะไม่มีเงินเดินทางมาหาหมอ ไม่มีรถประจำทางผ่านบ้าน จะมาทีต้องเหมารถมาที ลำบากมาก”

ก่อน เพจ Drama-addict จะทิ้งท้ายไว้ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไม่รักษาสุขภาพ เป็นมายาคติ และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำลายมายาคตินี้ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ทำความรู้จัก Moral Hazard และความเชื่อมโยง 30 บาทรักษาทุกโรค

Moral Hazard ในบริบทสาธารณสุข การก้าวข้ามเส้นจากความเห็นทางการแพทย์ ไปสู่ความเห็นเชิงนโยบายสังคม

และปฏิสธไม่ได้ว่า เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคมอีกด้วย เพราะนโยบายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทุกระดับรายได้เข้าสู่การรักษาได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดย โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการ นักเขียน และนักแปล ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กของตัวเองได้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

“ในทางเศรษฐศาสตร์การแพทย์ มีศัพท์ว่า Moral Hazard หมายถึงแนวคิดที่ว่าถ้ามีการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องสนใจ 'ราคา' ในการรักษาตัว เพราะรัฐจ่ายให้ ก็จะไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบตัวเอง

“เรื่อง Moral Hazard นี้เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า 'จริง' หรือไม่ แล้วก็พบว่าคำตอบของเรื่องนี้ซับซ้อนมากกว่าจะฟันธงได้ว่าจริง (มีงานวิจัยเรื่องนี้ไม่น้อย ลองเสิร์ชหาอ่านได้) แต่ปัญหาก็คือ พอบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งมีแนวโน้มจะเห็นว่ามัน 'จริง' แล้ว ก็จะเกิดข้อเสนอประเภทให้ยกเลิกการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย

“โดยส่วนตัวคิดว่าแนวคิดนี้มีอันตรายแฝงอยู่ เพราะมันคือการก้าวข้ามเส้นจากความเห็นทางการแพทย์ ไปสู่ความเห็นเชิงนโยบายสังคมโดยไม่รู้ตัว และโดยทั่วไปบุคลากรทางการแพทย์ก็มักมี 'อำนาจแบบแพทย์ๆ' ที่จะให้ความเห็นแล้วคนเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อคนรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันได้ข้ามเส้นมาสู่พรมแดนของนโยบายสังคมหรือนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับ 'สิทธิ' ที่สังคมจะได้รับการรักษาถ้วนหน้าหรือไม่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ นี่เป็นเรื่องของการสร้าง Social Safety Net อันเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ต่อการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน

“สมมุตินะครับ ว่าถ้าเราเชื่อว่า Moral Hazard มันเป็นเรื่องจริง คือพอมีประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วคนไม่ดูแลตัวเอง เลยเป็น 'ภาระ' ทางการแพทย์ คำถามคือเราควรจะยกเลิกประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย (ซึ่งแปลว่าจะมีคนจน คนด้อยโอกาส คนที่ไม่ได้ 'ถูกบันทึก' เอาไว้ในระบบอีกจำนวนมากตกหล่นสูญหายไป) หรือเราควรจะต้องสร้างความเข้าใจใน Preventive Medicine ให้มากขึ้นไปอีก คือแทนที่จะเห็นปัญหาแล้วเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้มากยิ่งขึ้น เราสามารถนำปัญหานั้นมา 'ส่อง' ย้อนดูว่าสังคมที่เราอยู่ มี Health Literacy คือการรับส่งความรู้ทางสุขภาพกันอย่างไร บกพร่องตรงไหน และเกี่ยวพันกับ 'สังคมโดยรวม' ตรงไหน

“โดยทั่วไป และส่วนใหญ่โดยไม่รู้ตัว 'เป้า' ของคนที่เราคิด (ไปเอง) ว่าจะต้องกระหายใคร่ได้ในการรักษาแบบเกินจำเป็น ก็คือคนจนหรือคนไร้การศึกษา (ซึ่งก็คือการ 'เหยียดคน' แบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราโดยอัตโนมัติ)

“แต่มีงานวิจัยเยอะมาก ที่บอกว่าคนที่อาจจะไป 'หาหมอ' แบบเกินจำเป็นจำนวนมาก ก็คือคนชั้นกลางหรือแม้แต่คนฐานะดีนี่แหละ เพราะคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะต้อง 'ขอ second opinion' จากหมอหลายๆ คน (เลย 'ใช้หมอ' เปลือง ซึ่งเป็นการเบียดบังบุคลากรทางการแพทย์ไปจากระบบ) หรือไม่ก็เป็นพวกที่วิตกจริต (อันนี้ยอมรับว่าตัวเองก็เป็น คือเป็น Hypercondriac หรือกลัวเป็นโน่นเป็นนี่ วิตกไปล่วงหน้าโดยที่อาจไม่ได้ป่วยจริง เลยต้องไปใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มากกว่าคนอื่น) ซึ่งพอมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนเหล่านี้อาจมีแนวโน้มจะเข้าไป 'ใช้หมอ' มากกว่าคนจนเสียอีก

“ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่าการคิดจะ 'กำจัด' ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย (ซึ่งเป็นการล้ำเข้ามาในพรมแดนนโยบายสังคมมากกว่านโยบายทางการแพทย์ แม้ว่าจะเกี่ยวกับการแพทย์ก็ตามที) เป็นเรื่องอันตรายมากกว่าช่วยแก้ปัญหา เพราะมันคือการทำลาย Social Safety Net และทำลายหลักความเสมอภาคของสังคมโดยรวม โดยใช้ Moral Hazard (ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) มาเป็นเครื่องมือในการอ้างอิง”

อ้างอิง

"The impact of Universal Health Coverage on healthcare consumption and risky behaviours: evidence from Thailand"

FB : Tomorn Sookprecha

FB : Drama-addict

โครงการ 30 บาทฯ ทำให้คนไม่รักษาสุขภาพจริงหรือ?

Moral Hazard...จากเกมการเมือง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

related