svasdssvasds

ครั้งแรก! จีนจับภาพ สนามแม่เหล็ก นอกทางช้างเผือกได้

ครั้งแรก! จีนจับภาพ สนามแม่เหล็ก นอกทางช้างเผือกได้

นักดาราศาสตร์จีน ใช้ดวงตาจักรวาลของจีน จับภาพสนามแม่เหล็กนอกกาแล็กซีทางช้างเผือกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีเท่านั้น

วานนี้ (22 ก.ย.) สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า กลุ่มนักดาราศาสตร์ของจีน ใช้ “ดวงตาจักรวาลจีน” หรือ ฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตรของจีน เพื่อบันทึกภาพสนามแม่เหล็กที่อยู่ใกล้การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลัน (FRB) จากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือกและก็ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก

กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ หรือ ดวงตาจักรวาลจีน การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันเป็นการลุกวาวสว่างที่สุดในอวกาศของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทราบแหล่งที่มาของสัญญาณนี้อย่างแน่ชัด

คณะนักดาราศาสตร์จีนและสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยนักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ตรวจพบการปะทุ 1,863 ครั้ง ใน 82 ชั่วโมง ตลอด 54 วัน จากแหล่งสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันที่เกิดซ้ำ รหัสเอฟอาร์บี 20201124เอ (FRB 20201124A)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การค้นพบและการศึกษานี้ได้เผยแพร่ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา เผยให้เห็นสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับพลันและมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นภายในหน่วยทางดาราศาสตร์ (หรือระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) ของแหล่งสัญญาณวิทยุข้างต้น

นอกจากนั้นคณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบครั้งแรกว่าการวัดการหมุนแบบฟาราเดย์ (Faraday rotation) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก สั่นสะเทือนอย่างผิดปกติในช่วง 36 วันแรก ตามด้วยการคงตัวอีก 18 วัน

การค้นพบนี้เผยว่าการปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันและลุกวาบ สิ้นสุดภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อน ต่อมาทีมวิจัยจึงใช้กล้องโทรทรรศน์เคก (Keck Telescope) ในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ สังเกตการณ์กาแล็กซีที่มีขนาดเท่าทางช้างเผือกและอุดมไปด้วยโลหะ

กาแล็กซีดังกล่าวเป็นกาแล็กซีกังหันแบบมีคาน (barred spiral) ซึ่งพบแหล่งกำเนิดการปะทุในภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของดาวฤกษ์ต่ำระหว่างแขนกาแล็กซีทั้งสองฝั่ง และมีระยะห่างปานกลางจากศูนย์กลางกาแล็กซี

การสังเกตการณ์การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันในทางช้างเผือกจำนวนหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ บ่งชี้ว่าอย่างน้อยการปะทุประเภทนี้บางส่วนมีต้นกำเนิดมาจากดาวแมกนีทาร์ (magnetar)

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินพบว่า แหล่งการปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันที่เกิดซ้ำ รหัสเอฟอาร์บี 20201124เอ ไม่น่าจะเป็นดาวแมกนีทาร์อายุน้อยที่ก่อตัวระหว่างการระเบิดรุนแรงของดาวมวลมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการปะทุของรังสีแกมมาแบบยาวหรือซูเปอร์โนวาสว่างยิ่งยวด (superluminous supernova) สร้างความซับซ้อนเกี่ยวกับที่มาของการปะทุดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

เกร็ดความรู้

กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ (FAST) ตั้งอยู่ในแอ่งคาสต์ทรงกลมลึกตามธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวของจีน ได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก และเริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2020 ก่อนเปิดให้ทั่วโลกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2021

ที่มาข้อมูล

https://www.xinhuathai.com/high/309635_20220922

https://www.nature.com/articles/s41467-022-31923-y

related