svasdssvasds

ไมโครพลาสติกอยู่ในอาหารของเราแล้ว! มาอยู่ในอาหารได้อย่างไร?

ไมโครพลาสติกอยู่ในอาหารของเราแล้ว! มาอยู่ในอาหารได้อย่างไร?

ภัยล่องหน ที่กำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ นั่นคือไมโครพลาสติก ผลผลิตจากพลาสติกที่มนุษย์กำลังบริโภคกันทุกวินาทีทั่วโลก และมันกำลังย้อนกลับมาหาตัวเราเองในอาหารที่เรากิน

เป็นเรื่องน่าอึ้ง แต่ไม่น่าทึ่ง เพราะในทุกวันนี้มนุษย์กำลังบริโภคพลาสติกกันอยู่อย่างไม่รู้ตัว และเป็นแบบนี้มานานสักพักใหญ่แล้ว งานวิจัยมากมายได้บ่งชี้ว่า ไมโครพลาสติกถูกพบปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ตั้งแต่ทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติก ในไส้ของสัตว์ทะเล น้ำฝน น้ำดื่ม น้ำนมของสตรีไปจนถึงพบเจือปนอยู่ในเลือดของมนุษย์ทั่วไปด้วย

ไมโครพลาสติกแทรกซึมในน้ำนมแม่แล้ว ความลื่นไหลของไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกหนแห่ง จนกระทั่งมาอยู่บนจานอาหารของเราได้แล้วในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมนุษย์เราบริโภคพลาสติกในทุกรูปแบบทุกวินาทีบนโลก วันละหลายล้านตัน ในหลากหลายอุตสากรรม เช่น การใช้พลาสติกเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีมากกว่า 40% ทั่วโลก รองลงมาคือการใช้ในงานก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุครัวเรือน ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสติกส่วนใหญ่ถูกใช้งานเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ก่อนจะถูกทิ้งลงถังขยะและกระจายไปยังสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั่วโลก

รายงานจาก FAO อัปเดทล่าสุดประจำปี 2022 ได้รวบรวมปรากฎการณ์การปรากฎตัวของไมโครพลาสติกในชีวิตประจำวันของมนุษย์และการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคไมโครพลาสติก ยกตัวอย่างเช่น

ในปี 2022 Environmental Working Group ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม ได้ทำการวิเคราะห์น้ำที่ใช้เพาะปลูกในสหรัฐอเมริกา และพบว่า น้ำเหล่านี้มีการปนเปื้อนสารเพอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มักพบในผลิตภัณฑ์พลาสติกและไม่สามารถสลายตัวได้ในสิ่งแวดล้อมหรือตามธรรมชาติ

บางงานวิจัยก็พบปริมาณไมโครพลาสติกในหัวหอมด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

และมีการคาดการณ์แนวโน้มด้วยว่า พื้นที่การเกษตรในยุโรปอาจเป็นแหล่งกักเก็บไมโครพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะการศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟท์ เผยว่า พบไมโครพลาสติก 30,000 ถึง 40,000 ตันปนเปื้อนในพื้นที่การเกษตรเหล่านี้ทุกปี

ในสหราชอาณาจักร มีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกสูงที่สุดในยุโรป โดยมีอนุภาคไมโครพลาสติกระหว่าง 500 ถึง 1,000 กระจายอยู่ตามพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละปี ตามการวิจัยของ Wilson และ Lofty

การศึกษาในปี 2020 มีการพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในผักและผลไม้ที่ขายตามซูเปอร์มาเก็ตและในผลิตผลของผู้ขายในท้องถิ่นในคาตาเนีย ซิซิลี ในประเทศอิตาลี โดยแอปเปิ้ลถูกพบว่ามีการปนเปื้อนมากที่สุด ส่วนแครอทมีระดับไมโครพลาสติกสูงที่สุดในบรรดาผักที่ถูกสุ่มตรวจ

นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในสินค้าประมงและสินค้าอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง เบียร์ และน้ำเปล่า และแน่นอน มหาสมุทรมีการปนเปื้อนของขยะพลาสติกในทะเลทุกวัน ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะได้เจอกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่อาจมีการกินพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เข้าไปและกระจายอยู่ภายในร่างกายของพวกมัน

ปลาที่ถูกชาวประมงจับขึ้นมาโอกาสของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกก็สูงเช่นกัน

พลาสติกสดใหม่ส่งตรงถึงมือคุณ

จากการค้นพบและการศึกษาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภัยไมโครพลาสติกได้มาอยู่ตรงหน้าของเราแล้ว เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีโอกาสสูงที่จะพบเจอกับสารปนเปื้อนจากไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกได้

ขยะทะเลที่ถูกรายงานว่ากว่า 90% คือพลาสติกที่ถูกพัดพามาจากบนบก และไหลลงสู่ทะเล พลาสติกแต่ละประเภทใช้เวลาการย่อยสลายนานขั้นต่ำ 10 ปี ดังนั้นมันจึงสามารปนเปื้อนอยู่ในน้ำได้นานหลายปี สัตว์ทะเลสามารถบริโภคไมโครพลาสติกที่แตกออกเป็นชิ้น ๆ ได้อย่างง่ายได้ และท้ายที่สุดก็ถูกจับขึ้นมาสด ๆ และส่งตรงถึงมือผู้บริโภค

หรือในด้านของการปนเปื้อนบนบก ค่า PFAS ดังกล่าว ได้ถูกพบในน้ำฝนบนโลกยุคปัจจุบันด้วย นั่นหมายว่า ทุกสิ่งที่ถูกฝนอาจมีการปนเปื้อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกาตรอย่างผักและผลไม้ หรือปุ๋ย พลาสติก แค่โดนความร้อนนาน ๆ ก็อาจแตกสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกได้อย่างง่ายดายและไหลลงลำน้ำที่ไปใช้สำหรับการเกษตรได้

ความสามารถของไมโครพลาสติก คือ สามารถชะล้างสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่ผิวดินได้ สามารถดูดซับสารพิษอื่น ๆ เพื่อทำให้พวกมันสามารถเกาะบนพื้นที่เกษตรกรรมและสามารถซึมลงสู่ดินได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเสริมอีกว่า ไมโครพลาสติกสามารถชะลอการเจริญเติบโตของไส้เดือน ทำให้พวกมันน้ำหนักลด ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาอย่างละเอีดยอีกครั้ง

ไมโครพลาสติกสามารถชะลอการเจริญเติบโตของไส้เดือน แต่ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ไมโครพลาสติกอาจขัดขวางทางเดินอาหารของไส้เดือน ทำให้ความสามารถในการดูดซับอาหารจำกัด และจำกัดการเจริญเติบโตของไส้เดือน ซึ่งไส้เดือนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของดิน การขุดของพวกมันช่วยเพิ่มอากาศให้กับดิน ป้องกันการพังทลาย ปรับปรุงการระบายน้ำ และนำสารอาหารกลับมาใช้ใหม่ได้ และไม่เพียงแค่กับไส้เดือนเท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อแมลงทางการเกษตรด้วย

ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่ามีการศึกษาที่ค้นพบไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่ ในเลือด ในสมองของมนุษย์ แต่การส่งผลกระทบระยะยาวนั้นยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะส่งผลกระทบด้านใด เนื่องจากปริมาณยังไม่มากพอที่จะแสดงปฏิกิริยา แต่แน่นอนว่า จำนวนของไมโครพลาสติกกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น

การวิจัยของ Peijnenburg พบว่าการดูดซับอนุภาคพลาสติก หากการสะสมของพลาสติกในอาหารของเรามีผลอย่างไรต่อสุขภาพของเรานั้นยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น เราจึงต้องเร่งทำวิจัยเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานปัญหาจะยิ่งขยายใหญ่ และเราจะช่วยแก้ไขกันให้ไม่ทัน

แม้ว่าผลกระทบของการกลืนกินพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นอันตรายได้ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารเคมีที่เติมเข้าไประหว่างการผลิตพลาสติกสามารถรบกวนระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเราได้

สารเคมีที่พบในพลาสติกเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และพัฒนาการที่ย่ำแย่ของทารกในครรภ์ ไมโครพลาสติกที่กินเข้าไปในระดับสูงอาจทำให้เซลล์เสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบและอาการแพ้ ตามการวิเคราะห์ของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮัลล์ในสหราชอาณาจักร

Peijnenburg กล่าวว่า "ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่พลาสติกจะถูกกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าความเสี่ยงในขณะนี้จะไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ควรที่จะมีสารเคมีตกค้าง [ในพื้นที่การเกษตร] พวกมันจะพอกพูนและอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้"

ที่มาข้อมูล

Food and Agriculture Organization of The United Nations (FAO) 

BBC

Medical News Today

bonappetit

related