svasdssvasds

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ฉนวนกาซาไม่ได้แค่ระทมภัยสงคราม แต่ภัยโลกร้อนด้วย

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ฉนวนกาซาไม่ได้แค่ระทมภัยสงคราม แต่ภัยโลกร้อนด้วย

การปิดล้อมฉนวนกาซากำลังทำให้ผู้คนกว่า 2.2 ล้านคน ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงภัยธรรมชาติและผลกระทบสภาวะโลกร้อนมากขึ้น นอกเหนือจากอันตรายจากภัยสงคราม

กาซาใต้เงาโลกร้อน

ฉนวนกาซา ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นจุดสนใจจากทั่วโลก ภายหลังสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส ที่ควบคุมพื้นที่อยู่ กับกองทัพอิสราเอลได้ระเบิดขึ้น ทำให้พื้นที่เล็กๆ ขนาดเพียง 365 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่า จ.สมุทรสงคราม จังหวัดที่เล็กที่สุดในไทยเสียอีก แต่กลับมีประชากรอยู่กว่า 2.2 ล้านคน ต้องกลายเป็นพื้นที่ถูกปิดล้อม ถูกระดมระเบิดใส่ ซ้ำร้ายพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยโลกร้อนเสริมเข้าไปด้วย

จากรายงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC เผยว่า ภัยสงครามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กำลังทำให้ผลกระทบสภาวะโลกร้อนในพื้นที่สู้รบ เลวร้ายยิ่งขึ้น หนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในขณะนี้คือ ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นประชากรสูงมาก แต่กำลังถูกปิดล้อม ขาดอาหารและน้ำ และกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามเต็มตัว

ซากปรังหักพังในฉนวนกาซา หลังจากถูกถล่มโจมตีโดยกองทัพอิสราเอล  ที่มาภาพ: Reuters

นอกเหนือจากภัยสงครามที่กำลังผลาญเผา ฉนวนกาซากำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่เปราะบางด้านวิกฤตมนุษยธรรม มาจากความขัดแย้งติดอาวุธจากสงคราม และความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ที่กำลังทำให้ประชากรในฉนวนกาซามีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น” Catherine-Lune Grayson หัวหน้าฝ่ายนโยบายการทำงานด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศของ ICRC กล่าว

Grayson กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2565 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในฉนวนกาซา สร้างความเสียหายแก่อาคารหลายร้อยหลัง และทำให้ระบบระบายน้ำทั้งหมดใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้ผู้คนอพยพโยกย้ายออกจากบ้านของตน แม้ในช่วงขณะนั้นยังไม่มีการสู้รบกันก็ตาม

น้ำท่วมฉนวนกาซาในปี 2014  ที่มาภาพ: UN News

“หากขณะนี้มีเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นในพื้นที่ ประชากรในพื้นที่ก็จะยิ่งไร้หนทางที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติเหล่านี้ เมื่อการเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานถูกจำกัดจากการปิดล้อมฉนวนกาซาและการสู้รบ” Grayson กล่าว

เชาชี้ว่า การสู้รบและการปิดล้อมที่ยาวนาน ทำให้ผู้คนในฉนวนกาซามีทรัพยากรและทางเลือกในการรับมือความเสี่ยงภัยจากสภาวะโลกร้อนที่จำกัดมากกว่าผู้คนในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่พวกเขาสามารถปรับตัวรับมือภัยจากสภาวะโลกร้อนได้ง่ายที่สุดคือการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนในฉนวนกาซา

สงครามทำให้ผู้คนจำนวนมากในกาซาต้องได้รับผลกระทบและไร้ที่อยู่  ที่มาภาพ: Reuters

อนึ่ง ตามดัชนีความเสี่ยง INFORM ที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ดินแดนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งใน 25 ภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

 

วิกฤตคู่ขนาน - สงครามและสภาวะโลกร้อน - มีให้เห็นทั่วโลก

นอกเหนือจากภูมิภาคปาเลสไตน์และฉนวนกาซาที่กำลังประสบกับทั้งภัยสงครามและความเสี่ยงจากสภาวะโลกร้อนแล้ว พื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังต้องเผชิญการสู้รบ ก็เป็นพื้นที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

Catriona Laing ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำโซมาเลีย บรรยายสรุปแก่เอกอัครราชทูต ณ นครนิวยอร์ก กล่าวถึงประเทศนี้ว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ หลังจากที่โซมาเลียต้องเผชิญการสู้รบยาวนานนับทศวรรษระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ ในประเทศ ขณะนี้ผู้คนในโซมาเลียกำลังเผชิญสภาวะอดอยาก เพราะผลจากน้ำท่วมรุนแรงที่ผสมโรงกับความขัดแย้งติดอาวุธในพื้นที่ จนคนทั่วโซมาเลียขาดการเข้าถึงอาหารและทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีพ

เด็กชายชาวโซมาเลียผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสงครามและภัยธรรมชาติ  ที่มาภาพ: UN News

“สถานการณ์ด้านวิกฤตมนุษยธรรมในโซมาเลียยังคงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยมีประชาชนเกือบ 4 ล้านคนเผชิญกับความหิวโหย และประชาชนราว 1.2 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น” ทูตสหประชาชาติกล่าว

สถานการณ์อาจแย่ลงเนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในแถบทวีปแอฟริกาตะวันออก ซึ่งนำไปสู่น้ำท่วมที่อาจผลักดันให้ผู้คนหลายแสนคนเข้าสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ที่มาข้อมูล: France 24 / UN News

related