นักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมคนแรกของโลก ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาชี้ ผืนป่าโลกฟื้นตัว เพราะเจงกิสข่านฆ่าคนเยอะเกินไป
ในช่วงศตวรรษที่ 13-14 คือเวลาที่ชาวมองโกลขยายอาณาจักรไปทั่วโลก กองทัพของ “เจงกิสข่าน” ผู้ยิ่งใหญ่ บุกเข้าไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปกลาง ทำให้มีพื้นที่บนโลกมากถึง 22 % ที่ถูกชาวมองโกลรุกราน
สงครามระหว่างชาวมองโกล และอาณาจักรต่างๆ ทำให้มีคนเสียชีวิตมากถึง 40 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1-2 รวมกัน และคิดเป็น 10% ของประชากรโลกทั้งหมดในช่วงเวลานั้น
ทว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจคือ การรุกรานของกองทัพมองโกลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง เพราะเมื่อผู้คนจำนวนมากถูกสังหาร เมืองใหญ่ถูกทำลาย และพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ก็ถูกทิ้งร้าง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว หลังจากถูกมนุษย์รุกรานมาหลายศตวรรษ
เรื่องนี้มีที่มาจาก The Holocene โดย ดร. จูเลีย ปองกราตซ์ (Prof. Dr. Julia Pongratz) นักวิจัยปริญญาเอก จากแผนกนิเวศวิทยาโลกของสถาบัน ‘คาร์เนกี’ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเธอและเพื่อนนักวิจัยอีกหลายคนได้รวบรวมฐานข้อมูลที่ดิน แผนที่การเกษตร และสถิติประชากร ในปี 800 ถึงปี 1850 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามและภัยพิบัติที่สำคัญ 4 ครั้ง ได้แก่ การยึดครองเอเชียของมองโกลปี 1200-1380 กาฬโรคในยุโรป ปี 1347-1850 การพิชิตทวีปอเมริกาปี1519-700 และการล่มสลายของราชวงศ์หมิงปี 1600- 1650
เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ผู้มีผู้เสียชีวิตมหาศาล โดยกาฬโรคเพียงอย่างเดียวได้คร่าชีวิตผู้คนไป 25 ล้านคนทั่วยุโรป แต่ทีมวิจัยยังไม่พบการฟื้นตัวของธรรมชาติในเหตุการณ์นั้น เนื่องจากระยะเวลาที่เกิดไม่ได้นานพอให้ธรรมชาติฟื้นตัว ทว่ามีเพียงการรุกรานดินแดนของมองโกลเท่านั้นที่เห็นผลกระทบชัดเจน เพราะการสังหารคนไปมากมายในสงครามที่ยาวนานของพวกเขา ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างไม่ได้ตั้งใจ
การศึกษายังพบว่า ตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลอด จากการตัดต้นไม้เพื่อทำเกษตรกรรม ซึ่งพืชพรรณสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ต้นไม้และพุ่มไม้จึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "แหล่งกักเก็บคาร์บอน" แต่เพราะกองทัพมองโกลทำให้คนตัดต้นไม้ส่วนหนึ่งหายไปจากโลก และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าคนตัดไม้ชุดใหม่จะเกิดมาทดแทน ช่วงเวลานั้นโลกจึงมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นประมาณ 142,000 ตารางกิโลเมตร
โดยพืชพรรณที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันนี้ ได้กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลกมากเกือบ 700 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทั่วโลกในปี 2011
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกมากนัก แต่ในยุคที่จักรวรรดิมองโกลเรืองอำนาจกว่า 2 ศตวรรษ ก็ทำให้โลกมีความร่มรื่นมากขึ้น และทำให้เจงกิสข่านเป็นนักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมคนแรกของโลกโดยไม่ได้ตั้งใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง