svasdssvasds

ย้อนรอย 71 ปี กรุงลอนดอนเกิด "หมอกซุปถั่ว" ที่กลืนชีวืตคนกว่า 12,000 ราย

ย้อนรอย 71 ปี กรุงลอนดอนเกิด "หมอกซุปถั่ว" ที่กลืนชีวืตคนกว่า 12,000 ราย

5 ธ.ค. 1952 คือวันที่กรุงลอนดอนถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันพิษ จากการเผาไหม้ถ่านของหินของประชาชนในช่วงฤดูหนาว เหตุใดหมอกควันดังกล่าวถึงไม่ลอยขึ้นชั้นบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนแค่ไหน แล้วท้ายที่สุดสหราชอาณาจักรได้บทเรียนอะไร? ติดตามได้ที่บทความนี้

“เข้าสู่วันที่ 3 ของฝุ่นควันพิษ: จราจรยังติดขัด โจรชุกชุม” พาดหัวของหนังสือพิมพ์ในปี 1952

ในยุคนี้เรารู้กันดีว่าฝุ่น PM 2.5 นั้นอันตรายเพียงใดต่อสุขภาพของเรา ตื่นเช้าเปิดประตูระเบียงออกไปพบกับภาพเมืองที่เลือนพร่าไปด้วยฝุ่นควัน ไม่ใช่การเริ่มต้นวันที่ดีแน่ ๆ

ทว่า เมื่อ 71 ปีก่อน ณ กรุงลอนดอนเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์ในทำนองนี้ มาก่อนแล้ว ซึ่งมีอาณุภาพทำลายล้างสุขภาพของเรามากกว่าในยุคสมัยนี้เสียอีก เหตุการณ์นี้เรียกว่า “Great Smog of London” หรือชื่อตลก ๆ ที่นักวิชาการตั้งให้ว่า “หมอกซุปถั่ว

หมอกปนควันลงลอนดอน Cr. Collections

เนื่องในวันครบรอบเหตุการ์ดังกล่าว คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการพาทุกท่านย้อนกาลไปเรียนรู้ เข้าใจบริบทของสภาพสังคมของสหราชอาณาจักรในยุคนั้น ที่สภาพอากาศเน่าเฟะ ไร้พื้นที่สะอาดให้ได้ซุกหัวหลับนอน

โดยบทความนี้จะพาทุกท่านย้อนไปถึงช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1700s การเติบโตขึ้นของเทคโนโลยี ระบบเครื่องจักร และการแห่แหนเข้ามาที่กรุงลอนดอนของคนต่างจังหวัด เชื่อมโยงมาสู่เหตุการณ์ หมอกซุปถั่วในปี 1952 ได้อย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

ผลพวงปฏิวัติอุตสาหกรรม

ก่อนอื่นขอปูพื้นสภาพสังคมของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในยุคนั้นกันก่อน ปัญหาฝุ่นควันในลอนดอนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาแต่ตั้งทศวรรษที่ 1700s ซึ่งก็คือช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุคนี้เกิดการประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมากมายอาทิ เครื่องทอผ้า หัวรถจักรพลังไอน้ำ การถลุงเหล็ก ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ระบบอุตสาหกรรมในยุคนั้นเฟื่องฟูถึงขีดสุด

โรงงานหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น Cr. Picryl

สภาพสังคมที่พลิกไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เกิดผลกระทบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ผู้คนในชนบทต้องการย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงลอนดอนเป็นจำนวนมาก ต้องเล่าก่อนว่าระบบผังเมืองของลอนดอน ณ เวลานั้น ยังไม่ได้มีระบบที่ดีเช่นทุกวันนี้

ทำให้เกิดการแออัดของประชากรขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้คือ กลุ่มทุนที่มีอำนาจมากพอในการใช้ความเฟื่องฟูนี้ ดันธุรกิจของตัวเองให้เติบโตไปเรื่อย ๆ โรงงานหลายแห่งเริ่มมีการนำเครื่องจักรเข้าไปติดตั้ง เพื่อช่วยแรงงานมนุษย์ในการผลิตอีกแรง ทว่าความรุ่งเรืองนี้ กลับแลกมาด้วยปัญหาหลาย ๆ ด้านดังนี้

  1. วิถีชีวิตของแรงงานย่ำแย่
  2. อาหารการกินไม่สะอาด
  3. เกิดภาวะเครียด
  4. เสี่ยงอันตรายในที่ทำงาน
  5. เกิดการใช้แรงงานเด็ก
  6. เกิดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเพศ
  7. ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่

โรงงานหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น Cr. Rawpixel

1 วันก่อนเกิดหมอกห่าใหญ่

วันที่ 4  ธ.ค. 1952 เริ่มมีสัญญาณบางอย่างเตือนให้ชาวลอนดอนได้รับรู้ถึงความไม่ปกติของสภาพอากาศแล้ว ในวันนั้น กรุงลอนดอนเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “แอนติไซโคลน” (Anticyclone) ให้ลองจินตนาการถึงเมืองที่ถูกปกคลุมไปด้วยสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ทั้งเมืองฟุ้งไปด้วยฝุ่นควัน หันซ้ายหันขวา เห็นปล่องไฟตามบ้านต่าง ๆ กำลังเผาไหม้ฟืนเพื่อให้ความอุ่นในช่วงอากาศหนาวเหน็บ

วันที่ 4 ธ.ค. 1952 อากาศเริ่มย่ำแย่ Cr. Wikipedia

รัฐบาลในตอนนั้น ภายใต้ปีกของ “วินสตัน เชอร์ชิล” (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่ 2 ของเจ้าตัว มีบันทึกที่บอกไว้ชัดเจนว่า การรายงานเรื่องสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในกรุงลอนดอน ไม่เคยถูกส่งถึงมือของวินสตันสักฉบับเดียว เหตุคือการเกิดล็อบบี้เรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นควันเพื่อตัดคะแนนนิยมของวิสตันนั่นเอง

วิสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ณ ขณะนั้น Cr. Wisconsin State Journal

ฉะนั้น วิสตันก็เข้าใจเอาเองว่า หมอกที่กำลังเห็นอยู่นั้นคือหมอกปกติในช่วงฤดูหนาวทั่ว ๆ ไป จึงไม่ได้เอะใจอะไร ทว่าสถานการณ์ภายนอกย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ หมอกไม่มีวี่แววว่าจะทุเลาลง ประชาชน เริ่มผ้าผ่อนมาปิดหน้าปิดตา ปิดจมูก เพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษเหล่านี้

5 ธ.ค. 1952

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า กรุงลอนดอน ณ ขณะนั้น กำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาว หิมะตกขาวโพลนทั่วทั้งเมือง ทำให้ประชาชนจำต้องเผาถ่านหินเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ทำให้ควันจำนวนมากระอุกันอยู่เหนือกรุงลอนดอน

ในสถานการ์ปกติแล้ว เมื่อควันลอยออกจากปล่องไฟ จากนั้นก็จะจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และกระจายตัวกัน แต่แอนติไซโคลน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 ยังอยู่ ทำให้ฝุ่นควันพิษที่กำลังลอยขึ้น ไม่สามารถทะลุผ่านแอนติไซโคลนออกไปได้ ทำให้ฝุ่นควันพิษเหล่านั้น ลอยขมุกขมัวอยู่ในกรุงลอนดอนอย่างนั้นไม่ไปไหน

อากาศย่ำแย่ทำจราจรติดขัด Cr. Flickr

มีข้อมูลบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 5 ธ.ค. เกิดการปล่อยมลพิษมหาศาล นอกจากควันจากการเผาไหม้ของประชาชนแล้ว ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 2,000 ตัน กรดไฮโดรลิก 140 ตัน สารประกอบฟลูออรีน 14 ตัน และสารอันตรายอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์อีก 370 ตัน สารพิษเหล่านี้คือ สิ่งที่ชาวลอนดอนสูดดมเข้าไปในร่างกาย

หมอกร้ายคร่าชีวิตคนเรือนหมื่น

หากคุณลืมตาขึ้นมาแล้วพบว่าตนเองอยู่ในวันที่ 5 ธ.ค. 1952 ณ กรุงลอนดอน สภาวะการณ์ที่คุณต้องเจอคือ ความโกลาหล ทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยความมืด ไร้วิสัยทัศน์ในการพินิจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แม้แต่ก้มลงไปมองทางของตนเอง

หมอกบดบังวิสัยทัศน์ Cr. The Historic England Blog

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้สูดดมฝุ่นควันพิษเข้าไปในร่างกายแล้ว ผลกระทบต่อสุขภาพก็เริ่มสำแดงออกมา ประชาชนจำนวนมากต่างหิ้วปีกคนใกล้ตัวรีบเข้ารักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากมีความผิดปกติในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีการรายงานว่า ช่วงเวลานั้นอัตราการเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นมากถึง 48%

แม้ผู้เขียนจะข้ามวันเวลาสำคัญแถว ๆ นี้เพื่อจำต้องเล่าเหตุการณ์ต่อไป แต่ขอให้เข้าใจไว้ว่า ทุก ๆ วินาที มีการเจ็บป่วยและล้มตายเกิดขึ้นอยู่ตลอด อันเนื่องมาจากการช่วยเหลือของรัฐบาลเชอร์ชิลที่รับมือกับปัญหานี้ได้ไม่ทันท่วงที

หมอกบดบังวิสัยทัศน์ Cr. The Historic England Blog

ทว่า ในช่วงนี้ร้านขายดอกไม้กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่คนซื้อมิใช่จับจ่ายไปบรรเทิงอารมณ์แต่อย่างใด ดอกไม้ถูกกว้านซื้อไปจนเกลี้ยงร้าน เพราะต้องการนำไปตกแต่งในงานศพของผู้เสียชีวิต

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลรายงานว่า ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3,000 ราย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ในยุคหลัง ๆ เมื่อได้พินิจถึงหลักฐาน เหตุผล บวกกับสภาพสังคม สภาพแวดล้อม การรับมือของรัฐบาล และการไร้วิธีป้องกันฝุ่นควันพิษของประชาชน มีการคาดเดาว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 12,000 ราย

ผุดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

เหตุการณ์หมอกพิษที่เกิดในปี 1952 ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของคนทุกระดับ จึงทำให้ 4 ปีให้หลังรัฐบาลอังกฤษในสมัยนายกรัฐมนตรี Robert Anthony Eden ได้คลอดกฎหมายควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1956 หรือที่คุ้นตากันในชื่อ Clean Air Act 1956

คลอดกฎหมาย Clean Air Act ในปี 1956 Cr. The England Historic Blog

กฎหมายฉบับดังกล่าวว่าด้วยเรื่องการกำกับดูแลเรื่องอากาศทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อลดและควบคุมปริมาณการปล่อยของเสียที่ไม่จำเป็นออกสู่ชั้นบรรยากาศ แทบจะเรียกได้ว่าเห็นผล “ทันควัน” เพราะอัตราการปล่อยควันทั่วประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1956 – 1966 ลดลงถึง 36% และหากนับแค่เฉพาะกรุงลอนดอน พบว่าควันที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินลดลงถึง 76%

หลังจากที่สหราชอาณาจักรได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ จากการถูกหมอกพิษปกคลุมทั่วกรุงลอนดอนในปี 1956 และคร่าชีวิตประชากรไปเรือนหมื่น จนนำมาสู่การผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมาย นับตั้งแต่นั้นมา กรุงลอนดอนก็ไม่เคยประสบปัญหากับปัญหาฝุ่นควันอีกเลย แม้ระบบอุตสาหกรรมของโลกในยุคปัจจุบัน จะขยายในระดับมหาภาคมากกว่ายุคสมัยนั้นแล้วก็ตาม

ในสมัยของวิสตัน เชอร์ชิล ที่เกิดการล็อบบี้ขึ้น เห็นได้ชัดว่าประชาชนคือหญ้าแพรก ที่เหล่าชนชั้นน้ำไม่เคยเล็งเห็นความสำคัญ เป็นเพียงมนุษย์ที่มีค่าตอนอยากได้ 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่านั้น จากวันนี้จนถึงทุกวันนี้ก็ครบ 71 ปีแล้ว ที่กรุงลอนดอน ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกร้าย

 

 

ที่มา: Met Office

        History

        BBC

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related