svasdssvasds

เอกชนไทย เดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

เอกชนไทย เดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

ภาคธุรกิจเอกชนไทยเดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประสานกับภาครัฐในการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการ และพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

จากการเดินหน้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วโลก สู่รูปแบบธุรกิจการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

โดยในการประชุมดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 (2608) ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจในไทยก็ได้ขับเคลื่อนมาตรการการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังสามารถช่วยผู้ประกอบการในการสร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

ภาคเอกชนเดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

บทความที่น่าสนใจ

ตลาดคาร์บอนเครดิต

โดยตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ภาคบังคับ

ถูกจัดขึ้นจากผลการบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย มีกฎหมายและระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขาย กำกับอย่างชัดเจน

ภาคสมัครใจ

ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดเกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ หรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ

ราคาเฉลี่ยคาร์บอนเครดิต

ปี 2563 อยู่ที่ 25.76 บาท ต่อตัน

ปี 2564 อยู่ที่ 34.34 บาท ต่อตัน

ปี 2565 อยู่ที่ 107.23 บาท ต่อตัน

ภาคเอกชนเดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

การจัดหาพลังงานทดแทน (RE) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้า

“ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า บริษัท มิตรผล ไบโอ - เพาเวอร์ จำกัด ได้ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อแสวงหาโอกาสในการจัดหาพลังงานทดแทน (RE) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้ารวมถึงรูปแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) หรือซื้อขายการรับรองคุณลักษณะพลังงาน (EACs) รูปแบบอื่น ๆ หรือคาร์บอนเครดิต รวมถึงรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

สำหรับกลุ่มมิตรผล มีโรงงานผลิตไฟฟ้า RE ปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ประมาณ 800 เมกะวัตต์ คาดในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากโดยรอบโรงงานน้ำตาล และแหล่งผลิตจากทางภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากโซลาร์เซลล์ ชีวมวล และยังวางแผนลงทุนที่ประเทศเวียดนามเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

“เวลานี้แนวโน้มของโลกผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตสินค้าจะต้องมีคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการการันตี ดังนั้น จึงต้องใช้แหล่งพลังงานจาก RE ในการผลิต เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเราจึงมีค่อนข้างมาก โดยในลำดับต่อไปจะต้องดำเนินการพัฒนาเพื่อให้เกิดการซื้อขายจริง ซึ่งทิศทางของธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งโรงงานผลิต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เพิ่มสูงขึ้น” บรรเทิง ว่องกุศลกิจ กล่าว

ส่วน ภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการซื้อขายพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ภาคเอกชนเดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตลาดโต 3.2 แสนล้านบาท

ภาครัฐจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ยกระดับในการวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปีค.ศ. 2030 (2573) จากที่มีการปล่อยอยู่ราว 338 ล้านตันต่อปี โดยมีการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดคาร์บอนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อ การขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 รองรับไว้แล้ว

อบก.ยังได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขับเคลื่อนภาคเอกชนในการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เชื่อมต่อเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 (2608) จะมีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ (ไม้โตช้า) และปลูกป่าเศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) ในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญ

ซึ่งโครงการนี้จะสอดคล้องกับการเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเงื่อนไขการแบ่งปันคือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่า

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา คาดจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นปี 2565 หรือ ต้นปี 2566”

พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต

สมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย

โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลต ฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาด และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึง เพื่อดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ : คาร์บอนเครดิตบูมเอกชนลุยซื้อขาย รับตลาดโต3.2แสนล้าน

related