svasdssvasds

3 มิ.ย. วันจักรยานโลก รู้จัก "อัมสเตอร์ดัม" ทำไมกลายเป็นเมืองหลวงของจักรยาน

3 มิ.ย. วันจักรยานโลก รู้จัก "อัมสเตอร์ดัม" ทำไมกลายเป็นเมืองหลวงของจักรยาน

วันจักรยานโลก ตรงกับวันที่ 3 มิ.ย.ของทุกปี ชวนรู้จัก อัมสเตอร์ดัม เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของจักรยาน เพราะอุบัติเหตุรถยนต์เพิ่มขึ้นและวิกฤตน้ำมันจากสงคราม

บางครั้ง เราก็อยากให้มีเลนสำหรับปั่นจักรยานในประเทศไทยเยอะ ๆ เหมือนกัน แต่มันก็ช่างยากเหลือเกิน เนื่องในวันที่ 3 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันจักรยานโลก (World Bicycle Day) ดังนั้น Keep The World จึงขอชวนไปดูความสำเร็จของอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ที่ก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของจักรยานด้วย พวกเขาทำได้ยังไง?

จักรยานในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ย้อนกลับไปยังต้นศตวรรษที่ 20 จักรยานเป็นยานพาหนะหลักที่กำลังแพร่หลายอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของเนเธอร์แลนด์ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ผู้ชายวัยทำงาน เด็กเล็ก ก็สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกสบาย ทุกอย่างเป็นไปอย่างปกติสุข

แต่เมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงปี ค.ศ. 1950 เนเธอร์แลนด์ได้รู้จักกับนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อว่า “รถยนต์” เครื่องจักรที่แล่นบนท้องถนนได้โดยไม่ต้องใช้แรงปั่นของมนุษย์ และในช่วงปี 1960 เมืองต่าง ๆ ของเนเธอร์แลนด์ก็เริ่มเต็มไปด้วยผู้ขับขี่รถยนต์มากขึ้น ซึ่งในยุคนั้นผู้คนมองว่า รถยนต์คือยานพาหนะแห่งอนาคตที่พวกเขาจับต้องได้

การประท้วงของกลุ่ม Stop de Kindermoord ลดการใช้รถยนต์เพื่อเด็ก Cr. ANP เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เฟื่องฟู ผู้คนหันไปหารถยนต์มากขึ้น จนทำให้เส้นทางของจักรยานหลายแห่งเริ่มถูกทุบทิ้ง กลายเป็นพื้นที่ของสัญจรของรถยนต์ ทำให้เวลาต่อมา จำนวนการใช้จักรยานลดลงทุกปีประมาณ 6% จนมีแนวคิดที่ว่า จักรยานกำลังจะหายไปจากเมืองในท้ายที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การจราจรของรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่ามันทำให้ผู้คนชื่นชอบสำหรับการเดินทางอันรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน มันกลับสร้างจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นด้วย โดยอัตราของผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 รายในปี 1971 ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 400 รายในปีนั้น

การสูญเสียที่เพิ่มขึ้นทุกปี นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่มที่ยังชื่นชอบการขี่จักรยาน ซึ่งกลุ่มที่โด่งดังที่สุดในเรื่องนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Stop de Kindermoord (หยุดการฆาตกรรมเด็ก) ซึ่งในขณะนั้นมี Maartie van Putten ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่

Stop de Kindermoord Cr. APN ในปี 1970 การเคลื่อนไหวเรื่องขอคืนพื้นที่สำหรับจักรยานทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลุ่มผู้ประท้วงก็เริ่มขยายใหญ่มากขึ้น มีการจัดวันพิเศษสำหรับจักรยานด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ ออกมาเที่ยวเล่นอย่างสบายใจ

แนวโน้มของการรับฟังเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนดีขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดียอมรับคำขอของพวกเขา ในการไปปั่นจักรยานกับกลุ่มนักเคลื่อนไหว ร้องเพลงด้วยกัน ทานอาหารด้วยกัน และรับฟังข้อเสนอของพวกเขา

หลังจากนั้น Stop de Kindermoord ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพื่อก่อตั้งสำนักงานใหญ่ และเริ่มแผนการวางผังเมืองใหม่ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีถนน Woonert ถนนแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อผู้คน ที่ได้ออกกฎว่ารถทุกคันต้องขับช้ามากกว่าเดิมเป็นพิเศษ และถนนแบบนี้เริ่มขยายกว้างไปยังหลายเมือง

2 ปีให้หลัง มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น โดยสมาคมนักปั่นที่เรียกร้องให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ เพราะจักรยานที่ขี่บนถนนยังเสี่ยงอันตรายจากรถยนต์อยู่ ซึ่งพวกเขาได้รวบรวมข้อร้องเรียนมาจากกลุ่มนักปั่นของพวกเขาเองที่ได้เผชิญปัญหามา

การประท้วงในปี 1970 พ่นสีใส่รถเพื่อนบ้านว่า Car Free Cr. bicycledutch

และต่อมาก็มีการประท้วง ปลุกระดมด้วยโทรโข่ง มีกิจกรรมผิดกฎหมายอย่างการเดินทางสีถนนเพื่อทำเป็นเลนจักรยานย่อม ๆ ซึ่งหลายคนมองว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีเอาเสียเลย แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายด้วย แม้ตอนแรกพวกเขาจะถูกตำรวจจับ แต่ก็ได้รับการยอมรับฟังความคิดเห็นจากประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน ทำให้ในที่สุด พวกเขาได้เลนสำหรับจักรยานมา

และเมื่อปี 1973 เนอเธอร์แลนด์เผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำมัน เนื่องจากถูกซาอุดิอาระเบียและผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่น ๆ ของอาหรับคว่ำบาตร เพราะ เนเธอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์ ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้นักการเมืองและชาวเมืองเริ่มเห็นด้วย ว่าชาวเนเธอร์แลนด์ควรเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่และเอาจริงกับการประหยัดพลังงานมากขึ้น อีกทั้งพวกเขาก็เริ่มที่จะตระหนักถึงมลพิษจากการปล่อยมลพิษของยานพาหนะด้วย

ต่อมา รัฐบาลจึงประกาศให้วันอาทิตย์เป็นวันปลอดรถยนต์ จึงทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์เงียบสงบ เด็ก ๆ ออกมาวิ่งเล่นได้สบายใจบนท้องถนนที่ว่างเปล่า และนั่นทำให้เมืองอัมสเตอร์ดัมดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งอุบัติเหตุลดลง มลพิษลดลง พวกเขากลับมามองเห็นข้อดีของการขี่จักรยาน จึงทำให้นโยบายการขับขี่เริ่มเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา

ปี 1980 เมืองต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์เริ่มกลับมามีมาตรการด้านการขับขี่อย่างไรให้เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนทำให้ทุกวันนี้เส้นทางส่วนใหญ่จึงเป็นมิตรต่อจักรยานและผู้คนมากขึ้นนั่นเอง

เมืองอัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์มีเส้นทางจักรยานยาวกว่า 22,000 ไมล์ ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสี่ของการเดินทางทั้งหมดใช้จักรยานเทียบกับ 2% ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ แนวโน้มของความนิยมจักรยานยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการมีขึ้นของจักรยานไฟฟ้าด้วย

สหภาพนักปั่นจักรยานเลิกเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวแบบสุ่มมานานแล้ว ปัจจุบันเป็นองค์กรที่น่านับถือโดยมีสมาชิกแบบชำระเงิน 34,000 รายซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ต้องการทั่วโลก

เนเธอร์แลนด์กลายเป็นโมเดลเมืองที่น่าอยู่สำหรับนักปั่นและผู้ที่ชื่นชอบความสงบและปลอดภัยจากการจราจร อัมสเตอร์ดัมยังคงเดินหน้าพัฒนาเส้นทางต่อไป เพื่อให้เมืองเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ที่มาข้อมูล

The Guardian

NOS 

Bicycle Dutch

related