svasdssvasds

เผยสถานการณ์ทะเลไทยปี 65 ดีขึ้น แม้ยังเผชิญปัญหามลพิษ สัตว์ทะเลเกยตื้น

เผยสถานการณ์ทะเลไทยปี 65 ดีขึ้น แม้ยังเผชิญปัญหามลพิษ สัตว์ทะเลเกยตื้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผย สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยในปีที่ผ่านมามีแนวโน้มโดยรวมดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสำคัญจาก น้ำมันรั่ว มลพิษ และขยะทะเล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 11 ก.ค. 66 ได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พื้นที่ 24 จังหวัด ในปี 2565 ที่ผ่านไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงาน

สำหรับสภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น พบว่าแนวปะการังทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 149,182 ไร่  มีแนวโน้มดีขึ้นเทียบกับปี 63-64  โดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ที่ร้อยละ 53  สมบูรณ์ปานกลางร้อยละ 22  และเสียหาย ร้อยละ 25 ส่วนปะการังฟอกขาวพบบางพื้นที่มีความรุนแรงต่ำ ส่วนของหญ้าทะเลมีเนื้อที่รวม 103,580 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 64  โดยส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์ปานกลางร้อยละ 36 สมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 35  และสมบูรณ์ดี ร้อยละ 25

ด้านสภาพทรัพยากรป่า พบว่าชายฝั่งทะเลไทยยังมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.73 ล้านไร่ โดยพื้นที่ที่มีป่าชายเลนหนาแน่นมากที่สุดคือ ชายฝั่งอันดามันตอนล่าง รองลงมาอันดามันตอนบน และภาคตะวันออก ทางด้านป่าชายหาดมีทั้งสิ้น 47,149.30 ไร่ กระจายใน 18 จังหวัด ซึ่งในภาพรวมป่าชายหาดในไทยถูกทำลายจนเหลือผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากไม่ได้รับการอนุรักษ์และนำไปใช้ในเชิงท่องเที่ยว ในส่วนของป่าพรุ มีพื้นที่ 37,139.56 ไร่ กระจายอยู่ใน 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล

ในส่วนสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ และปลากระดูกอ่อน โดยรวมสภาพดีขึ้น โดยเต่าทะเลพบการวางไข่ 604 รัง พะยูนพบมีจำนวน 273 ตัว แต่ยังมีการเกยตื้นตายทุกปี ส่วนโลมาและวาฬมี 2,310 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโลมาหัวบาตรหลังเรียบ รองลงมาเป็นโลมาอิรวดี และโลมาหลังโหนก  ส่วนกลุ่มปลากระดูกอ่อนพบปลาฉลามวาฬ 40 ตัว และกระเบนแมนต้า 10 ตัว

วาฬบรูด้า แม่วันดี กับ เจ้าวันรุ่ง ที่หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฏร์ธานี ที่มาภาพ: ThaiWhales

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล  คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมลงเล็กน้อย มีสาเหตุจากน้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมและเกิดน้ำมันรั่ว โดยพบว่าน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมากที่ร้อยละ 7 เกณฑ์ดี ร้อยละ 57 พอใช้ร้อยละ 30 และเสื่อมโทรมร้อยละ 6  ขณะที่นำทะเลเปลี่ยนสีและการสะพรั่งของสาหร่าย เกิดขึ้น 43 ครั้ง มีความถี่มากขึ้น และเกิดในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น สูงสุดที่จ.สมุทรสาคร จากเดิมจะพบในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ที่จ.ชลบุรีมากที่สุด

ส่วนเหตุน้ำมันรั่วนั้นเกิดขึ้นทั้งหมด 22 ครั้ง โดยพื้นที่เสี่ยงสูงคือ ระยองและชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่มีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ขณะทะเล สามารถจัดเก็บขยะตกค้างจากระบบนิเวศชายฝั่งได้ 506,681.14 กิโลกกรัม(507ตัน) ส่วนใหญ่เป็นขวดเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก เศษโฟม ซึ่งจากการศึกษาสัตว์เกยตื้น 659 ตัว พบว่าเกิดผลกระทบจากขยะทะเล 168 ตัว จากทั้งการกินขยะทะเลและการถูกขยะพันรัด

ส่วนสถานการณ์การกัดเซาะของชายฝั่ง จากทั้งหมดที่ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล 3,151.13 กม.  พบว่าเกิดปัญหาการกัดเซาะระยะทางรวม 823.06 กิโลเมตร ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้ว 753.32 กิโลเมตร โดยการซ่อม เสริม ทำเขื่อนหินกั้นคลื่น ติดตั้งรั้วดักทราย เป็นต้น เหลือพื้นที่ดำเนินการแก้ไข 69.74 กิโลเมตร

โดยสรุปแล้วสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเลในภาพรวมมีแนวโน้มในทิศทางดีขึ้น  แต่สถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ให้การป้องกันและแก้ไข คือ ปัญหาการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ปัญหาน้ำมันรั่ว และก้อนน้ำมันดินที่ยังพบบ่อย ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และขยะทะเล

เผยสถานการณ์ทะเลไทยปี 65 ดีขึ้น แม้ยังเผชิญปัญหามลพิษ สัตว์ทะเลเกยตื้น

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะ มาตรการและแผนงานจัดการกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยในระยะสั้น 1-2 ปี มีทั้งการดำเนินการด้านมลพิษทางทะเลและขยะทะเล การคุ้มครองทะเลโดยวางแผนเชิงพื้นที่ การดูแลการกัดเซาะชายฝั่ง และบริการทะเลด้วยความยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

ส่วนระยะยาว 3-5 ปีนั้น ดำเนินการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้และการติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน การฟื้นฟูทรัพยากร การป้องกัน เฝ้าระวังและส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ปรับปรุงกฎระเบียบ ตลอดจนการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ

related