svasdssvasds

ใบไม้ร่วงอย่าเพิ่งกวาดทิ้ง เก็บไว้ทำปุ๋ยหมัก ช่วยสร้างระบบนิเวศรอบบ้าน

ใบไม้ร่วงอย่าเพิ่งกวาดทิ้ง เก็บไว้ทำปุ๋ยหมัก ช่วยสร้างระบบนิเวศรอบบ้าน

เห็นใบไม้ร่วงเป็นไม่ได้ ต้องรีบหาอะไรมากวาดให้พ้นหูพ้นตา แต่รู้หรือไม่! เราสามารถเก็บใบไม้ไว้สร้างระบบนิเวศรอบบ้านได้ แถมช่วยลดกระบวนการฝังกลบ ต้นตอปล่อยก๊าซมีเทน

ใครเคยประสบปัญหานี้บ้าง? เพิ่งจะกวาดใบไม้ไปเมื่อวาน วันนี้ร่วงเต็มสนามหญ้าอีกแล้ว ช่างดูขัดตาเสียจริง แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องคอยกวาดใบไม้ทิ้งลงถังขยะอยู่บ่อย ๆ ก็ได้ เพราะใบไม้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน  

ร่วง-ทิ้ง-ฝังกลบ

รู้หรือไม่ว่า ใบไม้แห้ง เศษไม้ หรือกิ่งไม้ต่าง ๆ ที่เรากวาดและนำไปทิ้งลงถังขยะ หลังจากที่รถขยะเก็บขยะไป แล้วขยะเหล่านี้เดินทางไปไหนต่อ คำตอบก็คือ ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปเข้ากระบวนการฝังกลบ

หลังจากที่ใบไม้ร่วงลงจากต้น เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องรีบหาอะไรมาเก็บกวาดใบไม้พวกนี้ออกไปจากบริเวณบ้านให้หมด เพราะดูรกหูรกตา แถมกลัวสวนเขียวรอบ ๆ บ้านไม่สวยงาม และเมื่อใบไม้เหล่านี้ถูกนำไปทิ้งแล้ว กองขยะเหล่านี้ก็จะไปบรรจบกันที่กระบวนการฝังกลบ  

ฟังดูก็เป็นขั้นตอนที่ง่ายดี แต่รู้หรือไม่! ใบไม้แห้ง เศษไม้ หรือกิ่งไม้ต่าง ๆ ที่ถูกนำไปฝังกลบได้ปล่อยของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกมากมาย ในขั้นตอนการฝังกลบใบไม้จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรในการจัดการไม่ว่าจะเป็น รถตัก รถบดอัด ซึ่งกระบวนการตรงนี้สามารถทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นจำนวนมาก

อีกหนึ่งของเสียที่ถูกปล่อยออกมาก็คือ ก๊าซมีเทน ก๊าซมีเทนเกิดจากการย่อยสลายของขยะจำพวกกระดาษ อาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ ยิ่งในกระบวนการฝังกลบมีขยะเหล่านี้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนมากขึ้นเท่านั้น

ใบไม้ร่วงเก็บไว้สร้างระบบนิเวศรอบบ้านได้ Cr. pxhere

แล้วจะทำยังไงกับใบไม้พวกนี้ดี?

 

ปล่อยไว้แบบนั้น

หากใครก้าวข้ามความสวยงาม และความสะอาดบริเวณสวนรอบ ๆ บ้านได้แล้ว และต้องการทดลองอะไรบางอย่างกับใบไม้ร่วงเหล่านี้ สามารถเริ่มต้นลงมือได้ง่าย ๆ ด้วยการปล่อยใบไม้กองเอาไว้แบบนั้น เพราะกองใบไม้ร่วงสามารถกลายเป็นที่พักพิงสำหรับสัตว์ตัวจิ๋วได้

กองใบไม้เป็นที่อยู่ของสัตว์ตัวจิ๋ว Cr. Flickr

หากเราทิ้งใบไม้เอาไว้ในจุดบริเวณรอบ ๆ ต้นไม้ กองใบไม้เหล่านั้นจะสามาถกลายเป็นแหล่งอาศัยสำหรับสัตว์ผสมเกสรของพืชอย่างเช่น ผึ้ง หรือสัตว์อื่น ๆ เช่น ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน หรือกระแต แต่ใช่ว่าเราจะเสียประโยชน์ให้กับสัตว์เหล่านี้ฝ่ายเดียว

ในทางกลับกัน สัตว์ตัวจิ๋วพวกนี้ สามารถตอบแทนเราด้วยการช่วยผสมเกสรดอกไม้ในสวนให้งามสะพรั่งได้ ถือเป็นวิธีที่ใบไม้ร่วง สามารถช่วยเลี้ยงระบบนิเวศบริเวณรอบ ๆ บ้านให้อุดมสมบูรณ์

ผีเสื้อช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้รอบ ๆ บ้าน Cr. pxhere

ในฤดูหนาว มนุษย์อย่างเรา ๆ ยังต้องหาเสื้อหนา ๆ มาสวมใส่ แล้วสัตว์โลกที่ไม่มีของพวกนี้ล่ะ? กองใบไม้ร่วงจะมีประโยชน์ก็ตอนนี้ กองใบไม้สามารถกลายเป็นแหล่งพักพิงให้กับสัตว์เล็กจำพวกแมลงในการเข้ามาหลบภัยหนาวได้ โดยสัตว์เหล่านี้จะอาศัยอยู่ตามชั้นใบไม้ที่กองสุมกันไว้นั่นเอง

แต่เรื่องที่พึงระวังก็คือ เราต้องคอยตรวจเช็คอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า ในกองใบไม้ของเรานั้น มีสัตว์มีพิษอะไรหรือเปล่า เพราะบางที ใบไม้กองสูง ๆ อาจกลายเป็นที่หลบของสัตว์ที่อันตรายต่อเรา หรือสัตว์เลี้ยงได้

กวาดไปรอบ ๆ

ส่วนใครก็ตาม ที่ยังทนเห็นใบไม้กองสุมกันสูง ๆ ไม่ได้ เห็นแล้วขัดหูขัดตา ต้องพุ่งไปหยิบไม้กวาดไปโกยลงถังขยะเสียให้หมด การคราดกองใบไม้ร่วงให้กระจายไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการจัดการกับใบไม้ร่วง

เริ่มต้นด้วยการคราดใบไม้ออกจากกอง แล้วกระจายใบไม้เหล่านี้ไปอยู่บริเวณรอบบ้าน หรือบริเวณใกล้ ๆ โคนต้นไม้ เพราะใบไม้ร่วงเหล่านี้ สามารถปราบปรามวัชพืชให้กับต้นไม้ และรักษาความชื้นในดินเอาไว้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้เรากองใบไม้เอาไว้ที่บริรากรอบ ๆ ต้นไม้ สูงประมาณ 3 – 5 นิ้ว แล้วปล่อยไว้แบบนั้น ก็จะสามารถช่วยทำประโยชน์ได้ดังที่กล่าวไป และใครที่กังวลว่าใบไม้กองเล็ก ๆ จะถูกลมพัดเข้าตัวบ้านหรือเปล่า แนะนำให้นำน้ำไปฉีดให้ใบไม้เปียกพอประมาณ เท่านี้ก็จะพอช่วยให้ใบไม้ไม่ปลิวได้ง่ายเกิน

มีเรื่องที่ควรระวังไว้เล็กน้อยว่า ขณะที่ย้ายใบไม้ หลายคนอาจจะใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเป่าใบไม้ ให้ระมัดระวังเรื่องมลภาวะทางเสียง ที่อาจรบกวนเพื่อนบ้านได้ ถ้าเลี่ยงไปใช้คราดเองด้วยมือก็จะดีกว่า เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนกัน

 

นำไปหมักปุ๋ย

ปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่นิยมมากในแวดวงการเกษตร ในการนำวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว มาดัดแปลงทำเป็นอะไรบางอย่างเพื่อช่วยลดตุ้นทุน ใบไม้แห้งก็ถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางธรรมชาติที่คนนิยมนำไปหมักทำปุ๋ยอยู่บ่อย ๆ แต่การนำใบไม้มาทำเป็นปุ๋ย ต้องอาศัยการเอาใจใส่สักเล็กน้อย

โดยวิธีหมักปุ๋ยจากใบไม้ที่เรานำมาฝากกันมี 2 วิธีคือ ปุ๋ยหมักแบบคอกและปุ๋ยหมักในวงตาข่าย

 

ปุ๋ยหมักแบบคอก

การหมักปุ๋ยวิธีนี้เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เพราะจำเป็นต้องสร้างคอกสี่เหลี่ยม และกองใบไม้ลงไปในปริมาณมาก

ปุ๋ยหมักแบบคอก Cr. โครงการพัฒนา ทุ่งกุลาร้องไห้

ปุ๋ยหมักแบบคอก Cr. โครงการพัฒนา ทุ่งกุลาร้องไห้

วิธีทำ

  • แบ่งใบไม้ออกเป็น 3 ส่วน นำส่วนแรกใส่ลงไปในคอกเป็นชั้นแรก ให้มีความหนาประมาณ 10 – 15 ซม. จากนั้นนำปุ๋ยคอก 1 ส่วนเทลงไป และเกลี่ยให้กระจายทั่วกัน และรดน้ำลงไป
  • นำสารเร่งหมักปุ๋ย พด.1 ไปละลายน้ำ โดยมีอัตราส่วน พด.1 5 ซอง ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันและทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วนำไปรดบนชั้นใบไม้ที่ทำเอาไว้
  • เริ่มทำเหมือนขั้นตอนแรก ทำแบบนี้จนใบไม้หมด หรือปุ๋ยเต็มคอกที่เราเตรียมไว้แล้ว
  • เมื่อเสร็จสิ้นแล้วให้ใช้จอบกดลงไปให้แน่นเพื่อช่วยให้เกิดความร้อน จะได้ช่วยให้กระบวนการย่อยเร็วยิ่งขึ้น

 

ปุ๋ยหมักในวงตาข่าย 

เหมาะสำหรับพื้นที่จำกัด เคลื่อนย้ายได้ง่าย และสำหรับบ้านที่มีจำนวนใบไม้จำกัด

ปุ๋ยหมักในวงตาข่าย Cr. ศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านวิน

วิธีทำ

  • นำตาข่ายพีวีซีมาตัดเป็นคอกในขนาดที่ต้องการ แล้วยึดคอกด้วยไม้ไผ่และเส้นเอ็นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
  • ตวงใบไม้ 1 ส่วนใส่ในคอก  เกลี่ยให้ใบในชั้นแรกมีความหนาประมาณ 10 – 15 ซม. จากนั้นนำปุ๋ยคอก ¼ ส่วนใส่ลงไป กระจายให้ทั่วกัน จากนั้นรดน้ำลงไป
  • นำสารเร่งหมักปุ๋ย พด. 1 ละลายน้ำ อัตราส่วน พด. 1 5 ซอง ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันและทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วนำไปรดบนชั้นใบไม้ที่ทำเอาไว้
  • เริ่มทำเหมือนขั้นตอนแรก ทำแบบนี้จนใบไม้หมด หรือปุ๋ยเต็มคอกที่เราเตรียมไว้แล้ว
  • เมื่อเสร็จสิ้นแล้วให้ใช้จอบกดลงไปให้แน่นเพื่อช่วยให้เกิดความร้อน จะได้ช่วยให้กระบวนการย่อยเร็วยิ่งขึ้น

 

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่เรานำมาฝากกัน ในการจัดการปัญหากวนใจ หรือรบกวนสายตาอย่างใบไม้ร่วง จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายวิธี หลากหลายมุมมองให้เราได้เลือกหยิบใช้

จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลแล้วว่าจะสะดวกกับวิธีการใด เพื่อเลี่ยงต่อการที่ใบไม้เหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์และถูกส่งไปฝังกลบ ทำให้เกิดการเผาไหม้จนเกิดก๊าซมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ที่มา: washingtonpost

        sirindhornpark

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related