svasdssvasds

กรุงเทพฯเมืองสีเขียว? แต่ "พื้นที่สีเขียวสาธารณะ" ใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก

กรุงเทพฯเมืองสีเขียว? แต่ "พื้นที่สีเขียวสาธารณะ" ใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก

ส่องสถิติ "พื้นที่สีเขียว" ทั่วโลก 5 อันดับแรก พร้อมแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างไร และเมื่อหันกลับมามองที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย พบว่าอยู่เกือบท้ายตาราง ถึงเวลาชวนให้เราทุกคนต้องหันมาสนใจ “สวน” ใกล้บ้านมากขึ้น

“สวน 15 นาที”  ถึงเวลา กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว? 

สวน 15 นาที” เป็นหนึ่งในนโยบายของกทม. ที่เป็นที่จับตามองของชาวกรุงเทพฯ มากที่สุดข้อหนึ่ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ พื้นที่สาธารณะที่เรียกว่า “สวน” ยังไม่ใช่หนึ่งในวิถีชีวิตของคนกรุงกว่า 6 ล้านคน ที่เฉลี่ยแล้ว เข้าถึงพื้นที่สีเขียว “สาธารณะ” ได้ไม่ถึงคนละ 1 ตร.ม.

เทียบสัดส่วนพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ 48% เป็นอาคาร ในขณะที่พื้นที่สวนสีเขียว มีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น การเพิ่มพื้นที่สวน เพื่อเป็นจุดพักผ่อนของคนเมือง ให้ได้วางความเหนื่อยล้า วางความห่อเหี่ยว มาเก็บเกี่ยวเอาความสดชื่น เบ่งบาน จากสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ และสีสันของดอกไม้นานาชนิด จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราทุกคนต้องจับตามองและให้ความสนใจ

“สวน 15 นาที”  ถึงเวลา กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว? 

ข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม และ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) ระบุพื้นที่สีเขียวสาธารณะในกรุงเทพมหานครมี 9,089 แห่ง รวมพื้นที่ 42,868,972.48 ตารางเมตร (ราว 42 ตารางกิโลเมตร) แบ่งออกเป็น 7 ประเภท

1. สวนเฉพาะทาง 29 แห่ง

2. สวนชุมชน 103 แห่ง

3. สวนถนน 2,921

4. สวนระดับเมือง 2 แห่ง

5. สวนระดับย่าน 20 แห่ง

6. สวนหมู่บ้าน 1,120

7. สวนหย่อมขนาดเล็ก 4,812 แห่ง

8. ไม่ได้ทำการระบุประเภท 82 แห่ง

พื้นที่สีเขียวสาธารณะในกรุงเทพมหานครมี 9,089 แห่ง

พื้นที่สีเขียว ที่น้อยนิด อากาศบริสุทธิ์ของคนกรุง

ที่น่าสนใจคือ "พื้นที่สีเขียว" ของกรุงเทพฯ เป็นสวนสาธารณะหลักเพียง 41 แห่ง ที่เหลือเป็นสวนตามหมู่บ้าน หน้าบ้าน บางที่เป็นสวนไหล่ทาง สวนเกาะกลาง ที่ใช้ประโยชน์แทบไม่ได้ หรือเข้าใช้ได้น้อย แต่มีพื้นที่รวมกันมากถึง 18,602,682.9 ตารางเมตร (ราว 18 ตารางกิโลเมตร) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด

และเมื่อพิจารณาจากขนาดต่อประชากรกรุงเทพฯราว 5.5 ล้านคน พบว่ามีพื้นที่สีเขียวราว 7.7 ตารางเมตรต่อคน เข้าถึงได้ในระยะทางเฉลี่ย 4.5 กิโลเมตร หรือต้องใช้เวลาเดินราว 1 ชั่วโมง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐาน "พื้นที่สีเขียว" ในเมืองต้องอยู่ที่อย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน และเข้าถึงได้ด้วยการเดินประมาณ 15 นาที

เมื่อกรุงเทพฯ ยืนอยู่ในชาร์ตพื้นที่สีเขียวทั่วโลก ด้วยตัวเลข 2% คงไม่แปลกที่จะอยู่เป็นอันดับท้ายๆ ตาราง แต่ลองสำรวจดูว่า เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อยู่หัวตาราง มีพื้นที่สีเขียวเป็นสัดส่วนแค่ไหนกันบ้าง และแต่ละที่มีแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างไร ลองไปดู 5 อันดับแรกกัน

สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เข้าถึงได้

5 เมืองที่มี "พื้นที่สีเขียว" มากสุดของโลก

  • กรุงออสโล นอร์เวย์ 68%

ออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก ชาวออสโลสามารถเดินทางถึงสวนที่ใกล้ที่สุดได้ภายในเวลา 10 นาที ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและความหลายหลายทางชีวภาพของเมือง  หนึ่งในนโยบายนั้น คือ "การห้ามใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในพื้นที่กลางเมือง" ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ว่างจากลานจอดรถกว่า 700 แห่ง ถูกพัฒนาเป็นสวน ทางเดินเท้า และทางจักรยาน ซึ่งป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง 

  • กรุงเวียนนา ออสเตรีย 50%

ด้วยพื้นที่สีเขียวที่ครอบคลุมกว่า 50% ของเมือง เวียนนามีสวนชุมชนมากกว่า 990 แห่ง ซึ่งได้รับการดูแลและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง ทั้งด้านพืชและสัตว์ นอกจากนี้ สถิติตัวเลขจำนวนต้นไม้ในเมืองก็มีการบันทึกไว้อย่างละเอียด อาทิ อยู่ริมถนน 95,000 ต้น อยู่บนพื้นที่เอกชน 190,000 ต้น อยู่บนพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1,900 ต้น ซึ่งยังไม่นับรวมในสวนป่าทั้งกลางเมืองและรอบนอกเมืองอีกกว่า 200,000 ต้น 

  • สิงคโปร์ 46.5%

ฉายา “Garden City” หรือเมืองในสวน ที่สืบเนื่องจากนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ยังคงมีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่สีเขียวทั้งหมด กว่า 30% เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ ซึ่งให้ร่มเงาและมีประโยชน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ 

The Park Connector Network (PCN) หรือเครือข่ายสวนเชื่อมต่อ เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อประชากร เริ่มตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา มีการพัฒนาให้แต่ละพื้นที่สีเขียวที่กระจายอยู่ทั่วเกาะเชื่อมต่อกันด้วยสวนทางยาวที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ระเบียงสีเขียว” ประสานพื้นที่สวนทั้งเกาะเข้าด้วยกัน สมฉายาเมืองในสวนอย่างแท้จริง

กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว? ถึงเวลาเพิ่ม "พื้นที่สีเขียวสาธารณะ" จริงจัง

  • นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย 46%

"ต้นไม้ และพื้นที่สวนสาธารณะเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อเองไม่แพ้ถนนหนทาง หรืออินเทอร์เน็ต ต้นไม้ใหญ่สามารถลดอุณหภูมิเหนือพื้นดินได้ถึง 10 องศา" นี่คือวิสัยทัศน์ของนายกเทศมนตรีนครซิดนีย์ ที่ตั้งเป้าจะเพิ่มการปลูกต้นไม้ รวมไปถึงอนุรักษ์พันธุ์พืชที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่งปัจจุบัน มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 1 คนสูงถึง 155.4 ตารางเมตร

  • นครเฉิงตู จีน 41%

เฉิงตูเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีประชากรมากถึง 20 ล้านคน แต่ถึงกระนั้น การพัฒนาพื้นที่สีเขียวก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเมืองเล็กๆ เฉิงตูตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสวนให้ครอบคลุม ให้คนในเมืองเข้าถึงสวนได้ภายในระยะทาง 300 เมตรจากที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย

WHO กำหนดมาตรฐาน "พื้นที่สีเขียว" ในเมืองต้องอยู่ที่อย่างน้อย 9 ตร.ม./คน และเข้าถึงได้ด้วยการเดิน 15 นาที

จากสถิติ 5 อันดับเมืองพื้นที่สีเขียวที่มากที่สุด ก็คงเห็นได้ว่า กรุงเทพฯ ยังมีความหวัง ที่จะเพิ่มพื้นที่สวนให้เราทุกคนได้เข้าถึงอย่างทั่วถึง “สวน 15 นาที” จะเป็นหนึ่งในฮีโร่เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่เพียงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งอากาศ ฝุ่น ความร้อน แต่ชีวิตของคนกรุงก็จะดีขึ้น และเบ่งบานไปพร้อม ๆ กับดอกไม้ใบหญ้าในสวนที่จะอยู่เคียงข้างการเติบโตของทุกคน

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ข้อมูลอ้างอิง

related